เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
การผลิต กับการศึกษาประเทศสิงคโปร์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: การผลิต กับการศึกษาประเทศสิงคโปร์ (อ่าน 3147 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3925
การผลิต กับการศึกษาประเทศสิงคโปร์
เมื่อ:
กุมภาพันธ์ 24, 2016, 09:27:41 AM
คอลัมน์สิงคโปร์หลากมิติ โดย นันทนุช อุดมละมุล
หากจะพูดถึงความสำเร็จในการจัดการด้านการศึกษาและระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แน่นอนว่าชื่อประเทศสิงคโปร์จะต้องขึ้นแท่นเป็นอันดับแรก ๆ ที่ถูกกล่าวถึงเพราะหลักฐานความสำเร็จของระบบการศึกษาสิงคโปร์นั้นมีให้เห็นได้ในระดับสากล เช่น สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Top 50 ของโลก และ Top 10 ของทวีปเอเชีย จากสถาบันการจัดอันดับหลายแห่ง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สิงคโปร์ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแบบอย่างในด้านการจัดระบบการศึกษา ในงานวิจัยไทยหรือสื่อสิ่งพิมพ์ไทยอยู่บ่อยครั้ง
แต่กว่าที่สิงคโปร์จะผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศจากภูมิภาคเอเชีย ที่เข้าจับจองพื้นที่ในตารางการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาระดับโลกได้อย่างในปัจจุบันนั้น ระบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ต้องผ่านกระบวนการวางกลยุทธ์นโยบายของรัฐบาล เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่การประกาศเอกราชและแยกตัวจากมาเลเซียในปี ค.ศ. 1965
เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านพื้นที่และทรัพยากรของสิงคโปร์ รวมไปถึงความยากลำบากในอดีตของประเทศที่ต้องล้มลุกคลุกคลานในการ "ตั้งไข่" ทำให้ไอเดียเรื่องการเผชิญหน้ากับวิกฤตและการเอาตัวรอดกลายเป็นมายาคติของคนสิงคโปร์ และนำไปสู่บทบาทของรัฐในการจัดสรรนโยบาย ทรัพยากร และสร้างเครื่องมือกลไกในการสร้างอุดมการณ์ของรัฐ เช่น โรงเรียน และหน่วยงานรัฐบาล เพื่อพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ในบทบรรณาธิการของวารสาร Discourse : Studies in the Cultural Politics of Education ฉบับพิเศษ ว่าด้วยระบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2557 ผู้เขียนคือ แอรอน โก๊ะ และเทอเรนซ์ ชอง ได้พูดถึงแนวคิดเรื่อง "การผลิต" ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการศึกษาสิงคโปร์ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาและการพัฒนาประเทศโดยองค์รวมที่มีพื้นฐานร่วมกันบนแนวคิดเรื่อง "การผลิต"หรือเรียกได้ว่าแนวคิดเรื่องการผลิตนั้นเป็นอุดมการณ์หลักของชาติเลยทีเดียว
หลังจากแยกตัวจากมาเลเซีย สิงคโปร์ในยุค "แรกเริ่ม" เดิมทีมีสถานะเป็นรัฐเปราะบาง กระบวนการสร้างชาติจึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำเป็นลำดับแรก รัฐบาลของพรรค PAP (People"s Action Party) จึงมุ่งเน้นการสร้างความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ รวมไปถึงการผลิตประชากร หรือการผลิต "ทุนมนุษย์" เพื่อตอบสนองการขยายตัวของการผลิตในเชิงเศรษฐกิจ เห็นได้จากนโยบายการให้โบนัสตอบแทนสำหรับการมีบุตร และนโยบายเปิดรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการผลิตภายในประเทศ เป็นต้น
ในด้านการศึกษาสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ บทบาทของการศึกษาในฐานะเครื่องมือกลไกในการสร้างชาติของสิงคโปร์ นอกจากการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเป็นชาตินิยมเพื่อตอบสนองต่ออุดมการณ์ของรัฐแล้ว การศึกษายังเป็นการผลิตทุนมนุษย์เพื่อตอบสนองในด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วย เห็นได้จากการสนับสนุนสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะสำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และต่อมาคือการสนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลสิงคโปร์จึงทุ่มเม็ดเงินลงทุนด้านการศึกษาเป็นหลัก โดยเห็นได้จากงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้นถึง 40% ในปี 2012 เมื่อเทียบกับงบประมาณในหมวดเดียวกันในปี 2007 โดยรัฐบาลมีเป้าหมายทั้งเพิ่มความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจ และการผลักดันให้สิงคโปร์มีสถานะเป็นเมืองหลักของโลก (Global City) และประชากรสิงคโปร์มีความเป็นพลเมืองโลก (Cosmopolitanism)
เรียกได้ว่า "การผลิต" ในทางเศรษฐกิจ และ "การผลิต" ในด้านการศึกษาของสิงคโปร์นั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันชนิดที่แยกออกจากกันไม่ได้ และแม้ว่านักเรียนสิงคโปร์นั้นจะสามารถเลือกเส้นทางการศึกษาของตนเองได้ตามความถนัดและระดับความสามารถ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของสิงคโปร์ในเรื่องระบบการพัฒนาบุคคลตามความสามารถ (Meritocracy) แต่ในท้ายที่สุดแล้วทุกคนก็ล้วนถูก "ผลิต" ในฐานะ "ทุนมนุษย์" ที่มีความรู้และทักษะที่เหมาะสมสำหรับการเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ระบบการศึกษาและโรงเรียนจึงทำหน้าที่เหมือนเครื่องจักรหล่อหลอมความคิดและสร้างทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการส่งต่อทุนมนุษย์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์นั่นเอง
แต่อย่างไรก็ดี กระบวนการผลิตทุนมนุษย์เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์นั้น ไม่ใช่เส้นทางที่ปลอดโปร่งโล่งสบายเหมือนถนนวิภาวดีรังสิตในช่วงวันหยุดยาว หากแต่ยังต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคความท้าทาย ทั้งในด้านความขัดแย้งในเชิงนโยบายที่สะท้อนอุดมการณ์ของรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงตามสภาวการณ์ หรือปัญหาที่เกิดจากระบบการพัฒนาบุคคลตามความสามารถและอุดมการณ์ของชนชั้นกลาง ที่ไปกันได้ไม่ดีนักกับนโยบายในการสร้างแรงงานเพื่อการพัฒนาประเทศ เป็นต้น ซึ่งประเด็นปัญหาเหล่านี้จะได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันในตอนต่อ ๆ ไปของ "สิงคโปร์หลากมิติ"
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
การผลิต กับการศึกษาประเทศสิงคโปร์
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?