ผู้เขียน หัวข้อ: โจวเอินไหล ผู้เปิดม่านไม่ไผ่ สุภาพบุรุษนักการทูต  (อ่าน 4286 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923


ประวัติ

           โจวเอินไหลถือกำเนิดมาในครอบครัวขุนนางตกอับในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1897  ณ อำเภอไหวอัน มณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นรกรากของฝ่ายมารดา  ก่อนช่วงกลางศตวรรษที่ 19 บรรพบุรุษของเขาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่อำเภอส้าวซิง มณฑลเจ๋อเจียง บรรพบุรุษหลายชั่วอายุคนของตระกูลโจวที่เมืองส้าวซิงนี้ ล้วนเป็นที่ปรึกษาให้กับข้าราชการในเมือง ซึ่งอาชีพดังกล่าวได้รับความนิยมสูงสุดจนรับรู้กันว่ามีชาวส้าวซิงมากมายที่ประจำอยู่ตามหน่วยงานราชการทั่วประเทศของจีน นอกเหนือไปจากการเป็นพ่อค้า

           โจวพานหลง ปู่ของโจวเอินไหลอยพยครอบครัวจากส้าวซิงมาตั้งภูมิลำเนาประกอบอาชีพหมอความ และนายอำเภอที่ไหวอันริมฝั่งคลองขุดต้ายุ่นเหอ ในอำเภอซึ่งมีประวัติมา 1,600 ปีแห่งนี้ ยายของเขาเป็นหญิงชาวนาในชนบทของไหวอัน โจวเอินไหลได้ใช้ชีวิตตลอดวัยเด็กของเขาที่นี่

           บิดาของโจวเอินไหลชื่อ โจวส้าวกัง เป็นขุนนางชั้นผู้น้อยที่ออกไปแสวงการครองชีพต่างถิ่น มารดานั้นเป็นผู้หญิงที่มีหน้าตางดงาม และจิตใจอ่อนโยน แต่น่าเสียดายที่ต้องเสียชีวิตตั้งแต่ยังสาวเมื่อมีอายุได้เพียง 35 ปี เนื่องจากป่วยเป็นวัณโรค อันมีสาเหตุมาจากการทำงานหนักเกินไปหลังจากที่ปู่เสียชีวิตลงโดยไม่เหลือมรดกไว้ให้ครอบครัวเลย   ส่วนโจวอี๋กั้นผู้เป็นอา เป็นคนเล็กสุดใน 4 พี่น้อง เป็นวัณโรคเมื่อมีอายุได้ 20 ปี จึงไม่มีผู้สืบสกุล เพื่อแก้เคล็ด ตระกูลโจวจึงส่งหลานชายซึ่งเพิ่งจะมีอายุได้ขวบเดียวไปเป็นบุตรบุญธรรม ในที่สุดอาผู้ชายก็ถึงแก่กรรมไป โจวเอินไหลจึงกลายเป็นชีวิตจิตใจของอาสะใภ้ มารดาบุญธรรมมีความรู้สูง ชอบอ่านหนังสือโบราณ นวนิยายสมัยเก่าและบทกวีสมัยราชวงศ์ถัง จึงเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมให้กลายเป็นผู้คงแก่เรียน เมื่ออายุ 4 ขวบ โจวเรียนอ่านบทกวีถัง สามารถท่องได้ 10 กว่าบท พออายุ 9 ขวบ โจวได้อ่านนวนิยายคลาสสิก เช่น ไซอิ๋ว, ความรักในหอแดง, พรมลิขิต, วีรบุรุษเขาเหลียงซัน

           ปู่ของโจวเอินไหลเสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ 50 ปี ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่ได้สร้างทรัพย์สมบัติใดๆ ไว้ มีเพียงบ้านที่อาศัยเท่านั้น เมื่อมาถึงรุ่นพ่อ ครอบครัวจึงถึงคราวลำบาก ซึ่งทั้งบิดาและอาของเขาต่างรับราชการ โดยบิดาของโจวมีตำแหน่งเป็นผู้ดูแลด้านเอกสาร ส่วนอาดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา ซึ่งรวมกันแล้วรายได้ก็ยังไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว

           จนเมื่อค.ศ. 1910 โจวเอินไหลอายุ 12 ขวบเขาออกจากไหวอัน ติดตามโจวอี๋เกิงผู้เป็นลุงไปเข้าโรงเรียนชั้นประถมที่เมืองเสิ่นหยางทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน การออกจากบ้านครั้งนี้ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับเขา เป็นจุดเปลี่ยนจากสิ่งแวดล้อมในครอบครัวศักดินามาสู่การได้รับการศึกษาแบบตะวันตก
มารดาบุญธรรมสอนโจวเอินไหลให้เขียนหนังสือ เขียนบทความ ให้อ่านหนังสือและนวนิยายโบราณอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย โจวเอินไหลมิได้ทำให้หล่อนผิดหวัง ในปีที่ 2 ของการเรียน บทความเรื่อง ?ความรู้สึกในวันระลึกครบรอบ 2 ปี ของโรงเรียนตัวอย่างตงกวน? ได้รับคำชมเชยจากครูและเพื่อนนักเรียนเป็นอันมาก บทความบทนี้ มิใช่แต่จะมีสำนวนโวหารสละสลวย มิหนำซ้ำยังเปี่ยมล้นไปด้วยอารมณ์แห่งลัทธิรักชาติอีกด้วย สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในเมืองเสิ่นหยางเมื่อ ค.ศ. 1913 และสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้เมื่อ ค.ศ. 1915 ในขณะที่รวบรวมบทความดีเด่นของนักเรียนชั้นประถมและมัธยม ล้วนบรรจุบทความของโจวเอินไหลเข้าไปด้วย

            ในระหว่างที่โจวเอินไหลเรียนหนังสืออยู่ที่เสิ่นหยางนั้น ความคิดประชาธิปไตยของ ดร.ซุนยัดเซ็นซึ่งเสนอให้คัดค้านการปกครองของราชวงศ์ชิงกำลังเผยแพร่ไปทางภาคเหนือ ในขณะนั้น คนที่อ่าน หรือคนที่เผยแพร่หนังสือปฏิวัติ ล้วนแต่จะถูกถือว่ามีความผิดฐานก่อนการจลาจล มีโทษสถานเดียวคือ ถูกตัดหัว แต่มีครูประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์คนหนึ่งชื่อ เกาเหย่อู๋ ไม่กลัวถูกตัดหัว เขาตัดผมเปียของเขาออก เผยแพร่ความคิดก้าวหน้าในห้องเรียนอย่างปราศจากความเกรงกลัว ครูเกาชอบเด็กวัยรุ่นที่มาจากไหวอันคนนี้มาก ยืมหนังสือ ?ทหารปฏิวัติ? ของโจวหยงให้เขาอ่าน ชี้แจงให้เขาฟังว่าเหตุใดจึงต้องโค่นราชวงศ์ชิงสร้างรัฐบาลสาธารณรัฐขึ้น การให้การศึกษาของครูเกามีบทบาทอย่างสูงแก่การนำตัวเข้าสู่ภารกิจการปฏิวัติประชาธิปไตยของโจวเอินไหลเป็นอย่างมากในภายหลัง การปฏิวัติซินไฮ่ได้โค่นการปกครองของราชวงศ์ชิงลงไปในที่สุด และได้สร้างประเทศสาธารณรัฐขึ้นตามพิมพ์เขียวของ ดร.ซุนยัดเซ็น การเคลื่อนไหวนอกโรงเรียนครั้งหนึ่ง ได้ผลักดันให้ความคิดรักชาติของเด็กวัยรุ่นผู้นี้รุดหน้า

            ค.ศ. 1913 โจวเอินไหล อายุได้ 15 ปี ได้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมหนานไค เมืองเทียนสิน ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนและให้อิสระด้านความคิดแก่นักเรียน ที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้โจวเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เขาได้รับกำลังใจอย่างใหญ่หลวงจากวารสารซึ่งจัดพิมพ์ออกเผยแพร่ด้วยการสนับสนุนของ ดร. ซุนยัดเซ็น ปีที่ 2 ในโรงเรียนหนานไค โจวเอินไหลกลายเป็นผู้นำคนหนึ่งของบรรดานักเรียน เขากับเพื่อนนักเรียน 3 คน ได้จัดก่อตั้ง สมาคมจิ้งเย่เล่อฉินฮุ่ย (สมาคมให้ความเคารพต่องานและสร้างความผาสุกแก่สังคม) พร้อมกับได้จัดทำนิตยสารชื่อ ?จิ้งเย่? ขึ้น องค์การนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางที่มีชีวิตชีวา ซึ่งพวกเพื่อนนักเรียนมักจะมาขอยืมหนังสือก้าวหน้าไปดู อภิปรายปัญหาที่น่าสนใจ ร้องเพลงและทำการเคลื่อนไหวอื่นๆ เขา เขียนบทความลงในนั้น และยังมักจะเสนอทัศนะต่อสถานการณ์ในวารสาร ?เซี่ยวฟง? (บรรยากาศของโรงเรียน) ซึ่งเป็นวารสารของทางโรงเรียนอยู่เสมอๆ ข้อวิจารณ์ของเขาได้โจมตีแผนการร้ายของพวกจักรวรรดินิยมที่มุ่งหมายจะเฉือนแบ่งดินแดนของประเทศจีน เสียดสีและประณาม หยวนซีไข ที่คิดจะยกเลิกระบอบสาธารณรัฐ ฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ และใฝ่ฝันที่จะขึ้นไปนั่งอยู่บนบัลลังก์กษัตริย์

            หลังจากที่เขาเรียนจบที่โรงเรียนหนานไค เขาได้มีโอกาสไปเรียนที่ญี่ปุ่น ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1917 เขาใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นเวลานานถึง 9 เดือนจากนั้นจึงกลับมาที่เมืองจีน และได้เปิดหนังสือพิมพ์ชื่อ ?หนังสือพิมพ์สหพันธ์นักเรียนนักศึกษาเทียนสิน? ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1919 หนังสือพิมพ์ที่โจวเอินไหลเป็นบรรณาธิการนี้ออกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ได้รับการต้อนรับเป็นอันมาก ต่อมาไม่นานก็เปลี่ยนเป็นรายวัน มีจำนวนจำหน่ายมากถึง 2 หมื่นกว่า นับเป็นเรื่องที่หาได้ยากในขณะนั้น การที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีผู้อ่านอย่างกว้างขวาง มิใช่แต่เพราะได้รายงานข่าวใหญ่ทั้งในและต่างประเทศเท่านั้น แต่เพราะมีบทความที่โจวเอินไหลในฐานะที่เป็นบรรณาธิการ ได้เขียนบทบรรณาธิการเป็นส่วนใหญ่ เขาเขียนได้อย่างเผ็ดร้อน เฉียบแหลม เขายังได้ใช้นามปากกาว่า ?เฟยเฟย? (โบยบิน) เขียนบทความพิเศษด้วย

           เดือนมกราคม ค.ศ. 1920 ทางการตำรวจเทียนสินปราบปรามการเคลื่อนไหวกลุ่มรักชาติที่บอยคอตสินค้าญี่ปุ่น โจวเอินไหลในตอนนั้นสังกัดอยู่ที่สมาคมเจี้ยอู้ และได้ร่วมเดินขบวนต่อต้าน แต่เขาและกลุ่มนักศึกษา 20 คน  ถูกทางการจับตัวเข้าคุก คุมขังอยู่นาน 6 เดือน

           หลังจากที่ออกมาจากคุก โจวเอินไหลได้เดินทางไปศึกษาในยุโรป ตามโครงการกึ่งเรียนกึ่งทำงานระหว่างจีนและฝรั่งเศส เขาไปถึงฝรั่งเศสเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1920 เขามีอายุ 22 ปีในขณะนั้น แต่ก็ได้กลายเป็นเยาวชนที่ความคิดการเมืองค่อนข้างจะสุกงอม โดยผ่านการหล่อหลอมจากการเคลื่อนไหวปฏิวัติ ?4 พฤษภาคม? มาแล้ว เมื่อเขาไปถึงปารีส ก็ได้รับความสนใจจากเหล่าเยาวชนจีนที่เดินทางไปถึงปารีสในโครงการกึ่งเรียนกึ่งทำงานก่อนหน้าเขาอย่างใหญ่หลวง เพราะเมื่อตอนที่เขาอยู่ในญี่ปุ่นนั้น ค่อนข้างจะมีชื่อเสียงในเรื่องการค้นคว้าลัทธิมาร์กซ์และรัฐโซเวียตใหม่ ทั้งมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นผู้นำเยาวชนซึ่งกล้าหาญไม่ยอมจำนนอยู่ภายในประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง

           จุดประสงค์หลักของการเดินทางสู่ฝรั่งเศสนั้นเพื่อเร่งค้นคว้าลัทธิมาร์กซ์ แสวงหาตำรายาที่รักษาโรคร้ายของประเทศจีน และนับวันเขายิ่งตระหนักว่าลัทธิมาร์กซ์เป็นลูกกุญแจในการแก้ปัญหาของประเทศจีน เขาจึงได้กลายเป็นนักลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแน่วแน่และซื่อสัตย์แต่นั้นมา

           ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1921 เกิดเหตุการณ์ที่ใหญ่โตขึ้นเรื่องหนึ่งในประเทศจีน  พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ก่อกำเนิดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ และเหมาเจ๋อตุงเป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมงานการก่อตั้งพรรค และในเวลาต่อจากนั้นไม่นาน โจวเอินไหลกับนักลิทธิมาร์กซ์จีนอื่นๆ ที่อยู่ในยุโรป ก็ได้จัดตั้งองค์การของตนขึ้นในเดือนมีนาคมปีเดียวกันแขยายกลุ่มอย่างรวดเร็วจน มีสมาชิกถึง 300 คน ซึ่งก็มีทั้งนักศึกษาจีนที่อยู่ในฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และเบลเยี่ยมด้วย

           ขณะเดียวกันเข้าได้ลักลอบเผยแพร่ข่าวสารผ่านนิตยสารรายเดือน ?ซ่าวเหนียน? ในฐานะที่เป็นปากเสียงของพรรคในยุโรป นิตยสารฉบับนี้ได้เกิดผลสะเทือนอย่างกว้างขวางในหมู่เยาวชนจีนในยุโรป พร้อมทั้งเป็นที่สนใจแก่ผู้อ่านในประเทศเป็นอย่างยิ่ง โจวเอินไหลเขียนบทความให้แก่นิตยสารฉบับนี้เป็นประจำ บทความชื่อ ?ลัทธิคอมมิวนิสต์กับประเทศจีน? ซึ่งลงอยู่ในฉบับที่ 2 ของนิตยสารเล่มนี้ ใช้นามปากกาว่า ?อู่หาว? อันเป็นนามแฝงของโจวเอินไหล

           ในปารีส, โจวเอินไหลสนิทกับเติ้งเสี่ยวผิงซึ่งเป็นคนที่มีอายุน้อยที่สุดในหมู่นักศึกษากึ่งเรียนกึ่งทำงาน ถือเขาเป็นน้องชาย คนทั้งสองมักจะเขียนกระดาษไขอยู่ด้วยกันเสมอๆ เติ้งเสี่ยวผิงมีความชำนาญในการเขียนกระดาษไขมาก จึงได้รับการยกย่องให้เป็น ?ดอกเตอร์โรเนียว?

           ค.ศ. 1924 เขาได้เข้าร่วมพรรคก๊กมินตั๋งของดร.ซุนยัดเซ็น ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการแผนกการเมืองโรงเรียนการทหารหวงผู่ และเจียงไคเช็คเป็นผู้อำนวยการใหญ่

           ด้านชีวิตส่วนตัวเขาเข้าพิธีแต่งงานกับสหายเติ้งอิ่งเชาในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1925 หลังจากรู้จักกันมาก่อนหน้านั้นถึง 7 ปี ด้วยความใกล้ชิดประกอบกับความที่มีอุดมคติตรงกัน ทั้งโจวเอินไหลและเติ้งผิงเชา จึงได้เกิดเห็นใจกันขึ้นมาจนกระทั่งกลายเป็นความรักที่แยกจากกันไม่ได้ และเป็นคู่ทุกข์คู่ยากจนจวบสิ้นอายุขัย

           ต่อมาชื่อของเขาและภรรยาก็ปรากฏอยู่ในสารบบบัญชีรายชื่อ ?ผู้ถูกกวาดล้าง? ของเจียงไคเชค ทำให้เขาและภรรยาต้องหลบมาพึ่งบารมีของมาดามซุนยัดเซ็น และเป็นที่รู้กันว่ามาดามซุนยัดเซ็นนี้มักจะผลักดันคนที่มีความคิดก้าวหน้าและบุคคลสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อตั้งกลุ่มขึ้นมาอีกครั้ง

           วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1927 งานปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เมืองอานชาง ภายใต้การบัญชาของ โจว เอิน ไหล ก็ปะทุขึ้น อันเป็นแรงผลักดันที่เกิดจากการสนับสนุนของ มาดามซุนยัดเซน เขามีกำลังทหารของนายพลเยเถงและนายพลโฟหลุงเป็นทัพหนุนหลัง แต่ด้วยกำลังทหารที่ตกเป็นรองรัฐบาลจีนพรรคก๊กมินตั๋งอยูมาก ทำให้เขาต้องพบกับความพ่ายแพ้ แต่อย่างไรก็ตาม วันที่ 1 สิงหาคม นี้ก็เป็นวันที่ต้องจารึกลงในประวัติศาสตร์ของจีนคอมมิวนิสต์ด้วยเหมือนกัน เพราะวันสำคัญวันนี้ได้ถือเอาเป็น ?วันกองทัพ? ประจำปีของจีนผืนแผ่นดินใหญ่จนถึงปัจจุบันนี้ด้วย

           ค.ศ. 1946 เจียงไคเช็คมุ่งหมายจะทำลายพรรคคอมมิวนิสต์เป็นครั้งสุดท้ายและควบคุมประเทศจีนไว้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง การอยู่ร่วมกันอย่างสันติกลายเป็นหมอกควันไปอีก ผลแห่งการประลองกำลังกันระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ก็เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ทุกคนรู้กันโดยทั่วไป การประจัญบานกันโดยตรงระหว่างโจวเอินไหลกับเจียงไคเช็ค หนักบ้างเบาบ้าง ในกระบวนการอันนี้ โจวเอินไหลก็ได้กลายเป็นวีรชนแห่งตำนานในการปฏิวัติของประเทศจีน

           เมื่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ. 1949 โจวเอินไหลก็ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปี ค.ศ. 1978 ทำให้คำว่า ?นายกโจว? กลายเป็นคำพูดติดปากของทุกคนเมื่อกล่าวถึงชายผู้นี้ นอกจากนั้น ในช่วงปี ค.ศ. 1949 - 1958 โจวเอินไหลยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นรองประธานพรรค รองประธานคณะกรรมาธิการทหาร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาทางการเมือง

           งานสำคัญชิ้นหนึ่งของนายกรัฐมนตรีโจว ก็คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปี ค.ศ. 1949 - 1952 ซึ่งในปลายปี ค.ศ. 1952 มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของจีนเพิ่มสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 (ปี ค.ศ. 1953 - 1957 ) โจวรับผิดชอบแผนงาน 156 โครงการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม อันส่งผลต่อการเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับประเทศจีนในกาลต่อมา

           นายกโจวยืนยันมาโดยตลอดว่า การจะทำให้จีนเป็นประเทศสังคมนิยมที่เข้มแข็ง ปัจจัยสำคัญคือความทันสมัยด้านวิทยาศาสตร์ และการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องเริ่มจากสภาพที่แท้จริงของจีนเอง พร้อมกับแสวงหาความสงบและสมดุล

           โจวเอินไหลทำงานหนักตลอดชั่วชีวิตของเขาแม้ว่าเขาจะประสบกับโรคมะเร็งร้ายต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลและผ่าตัดหลายครั้งแต่เขาก็ไม่เคยท้อแท้ เขากล่าวกับคนใกล้ชิดว่า ? คนตายแล้วทำไมต้องเก็บรักษาเถ้ากระดูกไว้อีก เอาไปทิ้งไว้ในดินให้เป็นปุ๋ยก็ได้ ทิ้งไว้ตามลำน้ำก็เป็นอาหารของปลา..? นอกจากนี้เขายังสั่งเสียไว้อีกว่า ?งานศพของฉันต้องทำให้เรียบง่ายที่สุด อย่าให้ใหญ่โตเอิกเกริกว่าใครในศูนย์การนำ อย่าทำให้เป็นการพิเศษเฉพาะ ตายแล้วให้เอากระดูกที่เผาแล้วไปโปรยไว้ตามภูเขาและลำน้ำ?

           โจวเอินไหลต่อสู้กับโรคร้ายโดยมีภรรยาสุดที่รักอยู่เคียงข้างพร้อมกับมิตรสหายที่รักท่านมากมายจนเมื่อวันที่ 8 มกราคม  ค.ศ. 1976 เขาก็ได้ลาจากโลกนี้ไปด้วยอายุ 78 ปี โดยที่งานศพของเขาได้รับการจัดการพิธีอย่างสมเกียรติและทำตามคำสั่งที่เขาได้สั่งเสียไว้ทุกประการ มีประชาชนมาร่วมไว้อาลัยมากมาย

ที่มา  :  http://www.manager.co.th