ผู้เขียน หัวข้อ: สตีเฟน ฮอว์คิง นักวิทย์อัมพาต ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการวิทยาศาสตร์  (อ่าน 5353 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923

ประวัติ

สตีเฟน ฮอว์คิงเกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2485 ที่เมืองอ๊อกซฟอร์ดไชร์ ประเทศอังกฤษ ในวัยเด็กเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์แอลแบน จากนั้นเข้าศึกษาต่อสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และรับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2505 ต่อมาได้เข้าศึกษาที่ทรินิตีคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสาขาจักรวาลวิทยา และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ. 2509 หลังจากนั้นก็ได้รับการคัดเลือกเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด

ในต้นทศวรรษที่ 1960 (ประมาณ พ.ศ. 2503-2508) สตีเฟน ฮอว์คิงก็มีอาการที่เรียกว่า amyotrophic lateral sclerosis (ALS) อันเป็นอาการผิดปกติของระบบประสาทโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยมีผลกับประสาทสั่งการ (motor neurons) นั่นคือ เส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของ กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อส่วนนั้นจะอ่อนแอลงจนเกือบเป็นอัมพาต แต่เขายังคงทำงานวิชาการต่อไป

การทำงาน

ฮอว์คิงเริ่มทำงานในสาขาสัมพัทธภาพทั่วไป และเน้นที่ฟิสิกส์ของหลุมดำ เมื่อปี พ.ศ. 2508 ขณะที่กำลังทำงานวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต ฮอว์คิงได้อ่านรายงานของนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ ชื่อ โรเจอร์ เพนโรส (Roger Penrose) ซึ่งเพนโรสเสนอทฤษฎีที่ว่าดวงดาวที่ระเบิดอยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงของตัวเอง จะมีปริมาตรเป็นศูนย์ และมีความหนาแน่นเป็นอนันต์ อันเป็นสภาพที่นักฟิสิกส์เรียกว่า ซิงกูลาริตี้(singularity) ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือหลุมดำ ซึ่งไม่ว่าแสงหรือวัตถุใดๆ ก็หนีออกมาไม่ได้

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2513 ฮอว์คิงและเพนโรสก็ได้ร่วมกันเขียนรายงานสรุปว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ นั้นกำหนดให้เอกภพต้องเริ่มต้นในซิงกูลาริตี้ ซึ่งปัจจุบันนี้รู้จักกันว่า บิ๊กแบง และจะสิ้นสุดลงที่ หลุมดำ

ฮอว์คิงเสนอว่า หลุมดำไม่ควรจะเป็นหลุมดำเสียทีเดียว แต่ควรจะแผ่รังสีอะไรออกมาบ้าง โดยเริ่มที่วัตถุจำนวนมหาศาลนับพันล้านตัน แต่มีความหนาแน่นสูง คือกินเนื้อที่ขนาดเท่าโปรตอน เขาเรียกวัตถุเหล่านี้ว่าหลุมดำจิ๋ว (mini black hole) ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงและมวลมหาศาล แต่สุดท้ายหลุมดำนี้ก็จะระเหิดหายไป การค้นพบนี้ถือเป็นงานชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งของฮอว์คิง

เมื่อ ปี พ.ศ. 2517 เขาได้เป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดของราชบัณฑิตยสถานของอังกฤษ และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์แรงโน้มถ่วง ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี พ.ศ. 2520 และเมื่อในปี พ.ศ. 2522 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น ?เมธีคณิตศาสตร์ลูเคเชียน? (Lucasian Chair of Mathematics - เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2206 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) บุคคลที่ 2 ที่ได้รับตำแหน่งนี้ก็คือ เซอร์ไอแซก นิวตัน คนทั่วไปจึงเปรียบเทียบสตีเฟน ฮอว์คิง กับนิวตันและไอนสไตน์)

สตีเฟน ฮอว์คิงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่นักฟิสิกส์จะพัฒนาทฤษฎีที่จะรวมเอาแรงทั้ง 4 ของธรรมชาติเข้าด้วยกัน นั่นคือ แรงโน้มถ่วง, แรงแม่เหล็กไฟฟ้า, แรงนิวเคลียร์แบบอ่อน และแรงนิวเคลียร์แบบเข้ม อันจะนำไปสู่ ทฤษฎีสรรพสิ่ง (Theory of Everything) ที่เคยกล่าวกันมา ส่วนเรื่องการขยายตัวของเอกภพนั้น ฮอว์คิงเชื่อว่า เอกภพขยายตัวออกไปโดยมีความเร่ง

ชีวิตส่วนตัว

สตีเฟน ฮอว์คิงแต่งงานครั้งแรกกับเจน ฮอว์คิง ภายหลังได้หย่าร้าง และแต่งงานใหม่กับพยาบาล ชื่อ เอเลน เมสัน ปัจจุบัน สตีเฟน ฮอว์คิงต้องนั่งรถไฟฟ้าที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเขาพูดและขยับตัวไม่ได้ ทำได้เพียงขยับนิ้วและกะพริบตา แต่ก็ยังสามารถสื่อสารกับโลกภายนอกได้ด้วยอุปกรณ์พิเศษที่สังเคราะห์เสียงพูดได้จากตัวอักษร

ผลงาน

    A Large Scale Structure of Space-Time (1973) , แต่งร่วมกับ G.F.R. Ellis)
    Superspace and Supergravity (1981)
    The Very Early Universe (1983)
    A Brief History of Time : from the Big Bang to Black Holes (1988)
    Black Holes and Baby Universe and Other Essays (1994)
    The Universe In A Nutshell (2001)
    The Grand Design แต่งร่วมกับ Leonard Mlodinow (2010)


กำลังใจชีวิตจากนักวิทย์อัมพาต สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง



ศาสตราจารย์สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ นักวิทยาศาสตร์ด้านจักรวาลวิทยาชื่อก้องโลกวัย 69 ปี ที่ต้องเผชิญกับสภาพร่างกายพิการเป็นอัมพาตจากภาวะกลไกประสาทเสื่อม (Motor Neurone Disease) ตั้งแต่อายุ 21 ปี และจากวันนั้นถึงวันนี้ ก็นับเป็นเวลาเกือบ 50 ปีแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า นับตั้งแต่เขาเป็นอัมพาต มันก็ได้สร้างความท้อแท้ให้ตัวเขาเองมาไม่น้อย เพราะผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่ มักมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 10 ปี แต่ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น เขาก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และสามารถทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมกับพยายามเริ่มต้นสิ่งดี ๆ ในวันใหม่ได้ด้วยกำลังใจเต็มเปี่ยมที่สร้างขึ้นมาจากตัวเขาเอง และพยายามใช้ชีวิตเฉกเช่นคนปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ เพิ่มเติม การเดินหน้าปฏิวัติวิชาจักรวาลวิทยา หรือ Cosmology และเขียนหนังสือเพื่อเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ให้กับคนทั่วโลก โดยผลงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก คือหนังสือ A Brief History Of Time ซึ่งเป็นหนังสือที่ขายดีระดับ Best Seller ในหลายประเทศ เรียกได้ว่า แม้เขาจะพิการเป็นอัมพาต แต่เขาก็สามารถทำอะไรได้ดีเท่ากับตอนที่ยังแข็งแรงปกติ และดูเหมือนจะสร้างสรรค์อะไรได้มากกว่าคนปกติทั่วไปด้วยซ้ำ

โดยศาสตราจารย์สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง ได้เปิดเผยว่า เขาไม่มีอะไรจะพูดเกี่ยวกับอาการป่วยของเขาในแง่ดีมากนัก แต่มันก็ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า อย่าได้สงสารตัวเอง เพราะถึงแม้เราจะเป็นอัมพาต แต่ก็ยังมีคนที่แย่กว่าเรา ชีวิตเผชิญกับเรื่องเลวร้ายกว่าเราอีกมากมาย และเราต้องเดินต่อไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง

ทุกวันนี้ เกือบ 50 ปี ให้หลังนับตั้งแต่เขาป่วย เขารู้สึกมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิมมาก และรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานในด้านฟิสิกส์เชิงทฤษฎี หนึ่งในไม่กี่งานที่ผู้ป่วยที่มีภาวะพิการร้ายแรงอย่างเขาสามารถทำได้ และเขาก็ทำมันได้อย่างดีเลยทีเดียว

และด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจและกำลังใจในการต่อสู้ชีวิต ของผู้พิการอีกหลาย ๆ คนทั่วโลกไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะเขาได้ทำให้โลกเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ภาวะพิการไม่อาจคุกคามความคิด และหัวใจที่เข้มแข็งของเขาได้เลย ดังนั้น คนพิการหรือคนที่ต้องเผชิญกับเรื่องเลวร้ายต่าง ๆ ก็อย่าจมปลักอยู่กับสภาพความเลวร้ายนั้นไปตลอดกาล เพราะหากเรามีจิตใจที่เข้มแข็ง และคิดว่ายังมีอีกหลายคนที่แย่กว่าเรา เราก็คงจะมีกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไปมากขึ้นและสามารถสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ได้ เฉกเช่นเดียวกับ ศาสตราจารย์สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง นักวิทยาศาสตร์อัมพาตผู้เข้มแข็งคนนี้นั่นเอง


ที่มา  :  วีกีพีเดีย และ www.thenewluck.co.cc
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 19, 2016, 02:04:13 PM โดย เลิศชาย ปานมุข »