ผู้เขียน หัวข้อ: ส่องการเรียน "ต่างประเทศ" ย้อนมองปฏิรูปการศึกษาไทย  (อ่าน 3038 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3910
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาสาธารณะ ครั้งที่ 5 เรื่อง "เจาะลึกผลสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาในต่างประเทศ หันมองการปฏิรูปการศึกษาไทย" โดยสะท้อนผ่านงานวิจัยของ "พรพิไล เลิศวิชา" เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา ทั้งเรื่องวิธีการ การดำเนินการ นโยบาย อีกทั้งยังใช้คะแนนสอบ PISA เป็นเกณฑ์มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกมาเป็นตัววัดความสำเร็จดังกล่าว

ทั้งนี้มีการนำเสนอประเทศที่ถือว่ามีความโดดเด่นในการปฏิรูปการศึกษา จำนวน 3 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ประเทศสิงคโปร์ และประเทศฟินแลนด์ โดยการปฏิรูปการศึกษาของทั้ง 3 ประเทศเริ่มต้นจากปัญหา และภัยคุกคาม การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด จนพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศในระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งใช้ระยะเวลาราว 50 ปี

"พรพิไล" เริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เลือกเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนว่าเมืองเซี่ยงไฮ้ได้คะแนนสอบ PISA รวมสูงที่สุดในปี 2012 และเพื่อที่จะทำให้เห็นพัฒนาการทางด้านการศึกษา จึงขอย้อนไปยังยุคเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาของจีนที่เริ่มต้นในปี 1960 ซึ่งอยู่ในช่วงของการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่มีปัญหา และวิกฤตต่าง ๆ ทั้งความไร้ระเบียบ ความยากจน และโรงเรียนในสมัยนั้นหยุดการเรียนการสอนไปถึง 10 ปีเต็ม

ต่อมาปี 1980 มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ยังมีการออกแบบหนังสือเรียนแบบใหม่ มีการจัดระเบียบโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน (School Renovation) โดยแบ่งแนวทางการพัฒนาการศึกษาออกเป็น 6 ทาง รวมระยะเวลา 20 ปี ประกอบด้วย การแบ่งโรงเรียนเป็นเกรด A-D ส่งผลทำให้ต้องปิดโรงเรียนไปถึง 1,596 โรงเรียน เพื่อให้มีการพัฒนาศักยภาพโรงเรียน อัพเกรดโรงเรียนทั้งโครงสร้าง ระบบสาธารณูปโภค มีการคัดเลือกครูคุณภาพสูง รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน มีการจับคู่โรงเรียนที่พัฒนาแล้ว และจับคู่โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จกับอีก 5 โรงเรียนพัฒนาร่วมกันไป

การย้ายโอนครูจากเมืองสู่ชนบท ชนบทสู่เมือง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการยกระดับคุณภาพครู และโรงเรียน การเปลี่ยนแปลงระบบบริหารใหม่ โดยนำโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเข้ามาบริหาร สุดท้ายคือการเพิ่มงบประมาณให้กับโรงเรียนที่ด้อยโอกาส โดยไม่ใช่อัตราเดียวกันทั่วทั้งประเทศ

จนกระทั่งในปี 2008 มีการเปิดศักราชใหม่ของการศึกษา ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ทางด้านการศึกษาของจีน โดยมีการกำหนด Blueprint 2010 ที่จะพัฒนาเซี่ยงไฮ้ให้เป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของประเทศจีน มีการขับเคลื่อนโรงเรียนไปสู่สมัยใหม่ คืนเวลาเรียน ห้องเรียนให้กับนักเรียน การสร้างความรู้ให้กับนักเรียนที่ทุกคำถามต้องมีคำตอบมากกว่าหนึ่ง รวมถึงการสร้าง Web Based Platform ให้กับครูเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสอน ซึ่งเว็บนี้ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือการบังคับใช้ เพื่อเป็นประกันคุณภาพการศึกษาที่มีวิธีการเหมือนกัน ตลอดจนการลดการเรียนการสอนลง

สำหรับประเทศสิงคโปร์ "พรพิไล" บอกว่าการปฏิรูปการศึกษาของสิงคโปร์มีเป้าหมายที่ชัดเจนคือการพัฒนาประเทศจากโลกที่ 3 สู่ประเทศโลกที่ 1 โดยจุดเริ่มต้นสำคัญเริ่มภายหลังจากรับเอกราชจากมาเลเซีย และด้วยสภาพพื้นที่ของประเทศที่มีขนาดเล็ก มีประชากรและทรัพยากรน้อย ขณะเดียวกันคนอังกฤษที่อยู่ในประเทศเป็นผู้ที่มีความรู้ ได้รับการศึกษาจากตะวันตก

สิงคโปร์จึงเริ่มพัฒนาสถาบันฝึกหัดครู โดยนำนักเรียนที่เก่ง จำนวน 30% เข้ามาเรียนในสถาบันนี้ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่นำเอาคนเก่งมาเป็นครูเพื่อพัฒนาบุคลากรต่อไป ที่สำคัญสถาบันฝึกหัดครูมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการตั้งองค์กรผลิตตำราเรียนทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยเปิดรับเอาแนวคิดจากทั่วโลก

ต่อมาในปี 1997 ถือเป็นศักราชใหม่ของการศึกษาสู่ศตวรรษที่ 21 ของสิงคโปร์ โดยนอกจากการอ่านออกเขียนได้ ต้องมีทักษะ และกระบวนการคิดที่มากขึ้น โดยมีนโยบายที่ให้ครูสอนน้อยลง หาวิธีการให้นักเรียนได้เรียนรู้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากนำครูไปเข้าฝึกอบรมจำนวน 100 ชั่วโมงเพื่อให้รู้ถึงวิธีการหรือแนวทางการสอนให้นักเรียนคิดเป็น รวมถึงการปรับหลักสูตรสถาบันฝึกหัดครูที่เน้นกระบวนการคิดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสร้างโรงเรียนคลัสเตอร์เพื่อช่วยกันพัฒนา ซึ่งวิธีการนี้เป็นการสร้างโลกอนาคต Next Generation สร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ของการเรียนรู้

จนในปี 1999 มีการทุ่มงบประมาณกว่า 3 พันล้านเหรียญดอลลาร์สิงคโปร์ ในการปรับปรุงโครงสร้างของโรงเรียนทั้งหมด ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้แบบสมัยใหม่ อีกทั้งให้งบประมาณแต่ละโรงเรียนเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน

และสำหรับประเทศฟินแลนด์ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีคุณภาพทางด้านการเรียนสูงมากซึ่ง "พรพิไล" บอกว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษามาจากการที่ประเทศมีภาวะยากจน เกิดภาวะภัยคุกคามจากประเทศขนาดใหญ่ ทำให้ต้องหาวิธีการที่จะอยู่รอดจากการคุกคาม จึงทำให้ฟินแลนด์ต้องวางรากฐานทางด้านศึกษา โดยได้มีการจัดทำหลักสูตรทางด้านศึกษาขึ้น ซึ่งมีเนื้อหากว่า 700 หน้า โดยใช้สอนนักเรียนใน 3 ระดับที่แตกต่างกัน

ซึ่งสิ่งที่ฟินแลนด์ทำนั้นเป็นการสร้างเครื่องมือการเรียนรู้ให้กับทุกโรงเรียนพร้อมกันนี้ยังสร้างครูคุณภาพสูงโดยนำเอานักเรียนที่เก่งจำนวน 15% มาเป็นครู อีกทั้งยังให้สวัสดิการในการเรียนฟรี ทั้งอุปกรณ์การเรียน เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงไปอาหาร ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางด้านสมองของเด็ก อีกทั้งทุกโรงเรียนจะมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็ก

นอกจากนี้โรงเรียนยังได้มีการปรับปรุงและพัฒนาให้มีความสวยงาม มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีบรรยากาศของการกระตุ้นการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิรูปสิ่งแวดล้อมและ Human Being ทั้งหมดให้กับโรงเรียนทั้งประเทศ

และในยุคต่อมาที่ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาฟินแลนด์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกโดยการผลิตครูให้เน้นเรื่องของการคิด(Thinking Curriculum) ที่ทำให้มีครูคุณภาพสูง สามารถสร้างนวัตกรรมและหลักสูตรของตัวเอง นอกจากนี้ยังสร้างโรงเรียนตัวอย่าง มีโรงเรียนสาธิตให้ครูได้ทดลองฝึกงาน และที่สำคัญกระตุ้นให้ครูเป็นผู้นำทางด้านการศึกษา อีกทั้งยังกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้สามารถจัดการและออกแบบศึกษาได้เอง และในตารางการเรียนการสอนจะมีชั่วโมงพักเบรกระหว่างการสอนในวิชาต่อไป

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ประเทศได้ปฏิรูปใน 2 เฟส โดยในช่วงแรกจะเป็นการวางรากฐานให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ผลิตครูที่เก่ง สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ผลิตตำราและเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอนที่ดี ส่วนในช่วงต่อมาจะเป็นช่วงเวลาที่จะขับเคลื่อนสู่ความเป็นเลิศ โดยการปฏิรูปหลักสูตรที่เน้นการคิด สร้างการเรียนรู้อย่างอิสระ ผลิตครูที่เน้นการคิด รู้วิธีการสอนใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลให้ครูออกแบบการสอน หลักสูตรได้เอง และที่สำคัญมีการปรับปรุงโรงเรียนอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับการเรียนรู้สมัยใหม่ และให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในทุกระดับ

เมื่อมองการปฏิรูปการศึกษาของต่างประเทศ และย้อนกลับมามองการปฏิรูปการศึกษาไทย "พรพิไล" บอกว่าสิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการคือการปฏิรูปโรงเรียน โดยต้องมีการแบ่งโรงเรียนเป็นโซนตามลักษณะของปัญหาความรุนแรง บริบทพื้นที่ รวมถึงการประกาศนโยบายที่มีความชัดเจนสำหรับแต่ละเขต เพื่อเป็นโมเดลที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

"สำหรับโมเดลประกอบด้วย Foundation Model ซึ่งจะเป็นการอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน เปลี่ยนสนาม ห้องเรียน หนังสือเรียน สื่อการสอน จัดหาครูให้ครบถ้วน เพื่อขับเคลื่อนให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ โดยมีการกำหนด Blueprint และ Timeline ให้เลย ตัวอย่างเช่น พลิกโฉมให้เสร็จใน 2 ปี ถ้าไม่เสร็จจะต้องมีมาตรการต่อไป"

ในระดับถัดไปคือ Step up Model คือ การยกระดับการสอนไปสู่ขั้นที่เป็นทักษะการคิด สำหรับโรงเรียนที่พร้อมแล้ว และให้ทุนรวมถึงแนวคิดในการปรับโครงสร้างโรงเรียนให้ยืดหยุ่น ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมครูให้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เลือกวิธีการสอนที่หลากหลาย และกระตุ้นให้นักเรียนคิด

อีกประเด็นเรื่องของการปฏิรูปหนังสือเรียนถือว่ามีความสำคัญ โดยต้องให้องค์กรที่มีอำนาจเต็มในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหนังสือเรียนของไทย ซึ่งอาจจะต้องศึกษาจากหนังสือเรียนในประเทศที่ก้าวหน้ากว่า และกลับมาพัฒนาแบบเรียนไทยว่าควรมีลักษณะอย่างไร รวมถึงการประกาศข้อกำหนดเหล่านี้ให้กับสำนักพิมพ์และโรงเรียนได้ทราบ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กนักเรียนจะได้ใช้หนังสือเรียนที่มีคุณภาพ

"อีกประเด็นหนึ่งที่ควรเร่งดำเนินการคือการปฏิรูประบบฝึกหักครูโดยที่การฝึกหัดครูจะต้องสะท้อนถึงนโยบายของรัฐซึ่งหากต้องการครูให้สอนคิด ให้ครูได้ออกแบบการสอนเองได้ จำเป็นที่จะต้องบรรจุเป้าหมายเหล่านี้เข้าไปในระบบฝึกหัดครู รวมถึงการศึกษาความสำเร็จจากสถาบันฝึกหัดครูในประเทศที่ก้าวหน้าว่ามีกระบวนการและปัจจัยอะไรบ้าง ตลอดจนสร้างให้เกิด Next Gen Teachers" Movement ในหมู่ครูรุ่นใหม่ โดยให้รู้ถึงปัญหาของการศึกษา และเข้าใจว่าบทบาทของตนเองคืออะไร"

ตรงนี้ถือเป็นการมองปฏิรูปการศึกษาในต่างประเทศ ที่สะท้อนถึงการปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างชัดเจน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 25 มีนาคม 2559