เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
ประวัติบุคคลสำคัญของไทย
ป๋วย อึ้งภากรณ์ ตำนานเสรีไทยผู้กล้าหาญ ข้าราชการผู้ชื่อสัตย์ของแผ่นดิน
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: ป๋วย อึ้งภากรณ์ ตำนานเสรีไทยผู้กล้าหาญ ข้าราชการผู้ชื่อสัตย์ของแผ่นดิน (อ่าน 4098 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
ป๋วย อึ้งภากรณ์ ตำนานเสรีไทยผู้กล้าหาญ ข้าราชการผู้ชื่อสัตย์ของแผ่นดิน
เมื่อ:
เมษายน 24, 2016, 07:03:51 PM
ป๋วย อึ้งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2459 ที่บ้านตรอกโรงสูบน้ำ ตลาดน้อย เป็นบุตรของนางเซาะเซ็ง แซ่เตียวและนายซา แซ่อึ้ง ชื่อของ "ป๋วย" นั้น เตี่ยของป๋วยตั้งให้เป็น ชื่อตัว (ซึ่งต่างจากชื่อสกุลและชื่อรุ่นคือ generation ตามธรรมเนียมจีน-ชื่อสกุลของป๋วย คือ "อึ้ง" ชื่อรุ่นคือ "เคียม" อ่านทั้งสามตัวตามลำดับ ประเพณีจีน สำเนียงแต้จิ๋วจะเป็น "อึ้ง ป้วย เคียม" แต่ถ้าอ่านโดดๆวรรณยุกต์จะเปลี่ยนไป ชื่อสกุลเป็น "อึ้ง" และชื่อตัวเป็น "ป๋วย" ) คำว่า "ป๋วย" แปลตรงตัวได้ว่า "พูนดินที่โคนต้นไม้" เพราะตัวประกอบในอักษรระบุไว้เช่นนั้น แต่มีความหมายกว้างออกไปอีกคือ "บำรุง" "หล่อเลี้ยง" "เพาะเลี้ยง"และ"เสริมกำลัง"
มารดาของป๋วยเป็นบุตรสาวคนแรกของเจ้าของร้านขายผ้าที่สำเพ็งอยู่ใกล้ตรอก โรงโคม ส่วนบิดาเป็นคนจีน ทำงานช่วยพี่ชายที่แพปลาแถวปากคลองวัดปทุมคงคา ทั้งสองสามีภรรยาไม่ค่อยมีรายได้มากนัก แต่ก็มีตั้งใจส่ง ลูกชายเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก แผนกภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนแพง (ปีละ 70 บาท) เมื่อเด็กชายป๋วยอายุได้เก้าขวบ บิดาของป๋วยก็เสียชีวิตโดยไม่มีทรัพย์สินเงินทองทิ้งไว้ให้ ลุงเป็นคนรับอุปการะ ส่งเสียเงินให้เป็นรายเดือน แม้ว่าจะมีปัญหาด้านการเงิน มารดาของป๋วยก็สนับสนุนให้เรียนหนังสือที่เดิมจนสำเร็จ การศึกษา ขณะอายุได้ 18 ปี ป๋วยได้มาเป็นมาสเตอร์หรือครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สอนวิชาคำนวณและภาษาฝรั่งเศส มีรายได้เดือนละ 40 บาท แบ่งให้แม่ 30 บาท
ต่อมาในปี พ.ศ.2477 ป๋วยได้สมัครเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักศึกษารุ่นแรก ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการบังคับให้เข้าชั้นเรียน ทางมหาวิทยาลัยได้จัดพิมพ์คำบรรยายออกจำหน่ายในราคาถูก วิชาละประมาณ 2 บาท เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนที่กำลังทำงานอยู่สามารถศึกษาเองได้ ป๋วยใช้เวลาในตอนค่ำและ วันหยุด ป๋วยใช้เวลาเรียนอยู่ 4 ปีก็สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางกฎหมายและการเมืองในปี พ.ศ.2480 หลังจากนั้น ป๋วยก็ลาออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญ มาทำงานเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส ให้แก่อาจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และการเมือง
ในเดือนเมษายน พ.ศ.2481 ป๋วยได้รับทุนรัฐบาลที่สอบชิงทุนได้ ไปเรียนระดับ ปริญญาตรี สาขาวิชา เศรษฐศาสตร์และการคลังที่ London School of Enconomic & Political Science มหาวิทยาลัยลอนดอน แต่หลังจากนั้นอีก 6 เดือนมารดาของ ป๋วยก็ เสียชีวิตลง
ป๋วยใช้เวลาสามปีก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ป๋วยเป็นนักเรียนดีเด่นและเป็น ศิษย์เอกของ ศาสตราจารย์เฟรเดอริก ฮาเย็ก(ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี พ.ศ.2517) ป๋วยเป็น คนไทยคนเดียว ในมหาวิทยาลัยนี้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาเกียรตินิยม อันดับหนึ่งด้วยกันในปี พ.ศ.2485 ได้เกรดเอแปดวิชา และเกรดบีหนึ่งวิชา จากผลการเรียนอันดีเด่นของป๋วย ทำให้ได้รับทุนลีเวอร์ฮูล์ม สามารถ ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้ทันที แต่ในระหว่างนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทำให้ป๋วยตัดสินใจ ทำงาน เพื่อชาติ
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทย รัฐบาลไทยในสมัยนั้น มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีประกาศสงครามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และ ต่อมาก็ประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและ สหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทยเรียกตัวคนไทย ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาให้เดินทางกลับ โดยขู่ว่าผู้ที่ไม่เดินทางกลับจะถูกถอดสัญชาติ ไทย ปรากฏว่าคนไทยจำนวนหนึ่งได้จัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นทั้งในและนอก ประเทศในนามของขบวนการ "เสรีไทย" ภายในประเทศมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จ ราชการ เป็นหัวหน้า ส่วนในสหรัฐอเมริกามี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัคราชทูตไทยในเป็น หัวหน้า เสรีไทยปฏิเสธการประกาศสงครามของรัฐบาลไทย ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกา ประกาศรับรองฐานะของเสรีไทย
ส่วนทางด้านประเทศอังกฤษ ปรากฏว่าอัครราชทูตไทยยอมเดินทางกลับประเทศตามคำสั่งของรัฐบาล แต่ป๋วย และคนไทยจำนวนหนึ่งไม่ยอมกลับประเทศ ได้ร่วมกันก่อตั้งคณะเสรีไทยขึ้นในประเทศอังกฤษเพื่อประกาศ ไม่ยอม อยู่ใต้อาณัติรัฐบาลไทยที่ยอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เสรีไทยจำนวน 36 คนสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพบก อังกฤษ เสรีไทยกลุ่มนี้มีฉายาว่า "ช้างเผือก"(White Elephants) ในช่วงแรกป๋วยได้รับยศเป็นร้อยเอกแห่งกองทัพบก อังกฤษ มีชื่อจัดตั้งว่า "นายเข้ม เย็นยิ่ง"
นายเข้ม เย็นยิ่งต่อมาได้รับคำสั่งให้ลงเรือบรรทุกทหารจากลิเวอร์พูล เล่นเรืออ้อมทวีปแอฟริกามาขึ้นฝั่ง ที่ประเทศอินเดีย ได้มาฝึกหลักสูตรนักรบแบบกองโจรและการจารกรรมที่เมืองปูนา มีการฝึกการใช้อาวุธและวิธีการ ต่อสู้ต่างๆเป็นเวลาครึ่งปี ในเดือนกันยายน พ.ศ.2486 นายเข้มเป็นทหารฝ่ายสัมพันธมิตรชุดแรกที่ได้รับคำสั่งให้ เข้ามาติดต่อกับขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย ที่มี "รูธ" หรือนายปรีดี พนมยงค์เป็นหัวหน้า เพื่อหาทางตั้งสถานี วิทยุติดต่อระหว่างกองทัพอังกฤษในอินเดียกับคณะเสรีไทย
พฤศจิกายน พ.ศ.2486 ร้อยตรีเข้มได้เดินทางด้วยเรือดำน้ำของราชนาวีอังกฤษพร้อมสหายอีกสองคนจาก ลังกา โดยมีเป้าหมายจะขึ้นฝั่งที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงาเมื่อมาถึงที่หมายเรือดำน้ำจอดซุ่มรอนอกฝั่งหนึ่งสัปดาห์ แต่ไม่มีคนมารับจึงยกเลิกภาระกิจ จึงกลับสู่ศรีลังกา ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์ร้อยตรีเข้มได้รับมอบภาระกิจอีกครั้ง ให้ลักลอบเข้าแผ่นดินไทย โดยการกระโดดร่มพร้อมอุปกรณ์เครื่องรับส่งวิทยุ จึงได้เดินทางไปฝึกซ้อมกระโดดร่ม ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2487 ที่แคว้นปัญจาบ พอวันที่ 6 มีนาคม ร.ต.เข้มและเสรีไทยอีกสองคนมาขึ้นเครื่อง บินบี 24 ที่กัลตัตตา ประเทศอินเดีย มุ่งมาสู่แผ่นดินไทย เป็นการกระโดดร่มแบบสุ่ม ไม่มีคนมารับที่ภาคพื้นดิน แต่สภาพอากาศไม่อำนวยเครื่องบินจึงเดินทางกลับไปกัลกัตตา อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมาเสรีไทยทั้งสามคนก็ขึ้น เครื่องบินอีก เพื่อปฏิบัติภาระกิจเดิม โดยเข้ามาทางจังหวัดชัยนาท เสรีไทยทั้งสามคนกระโดดร่มลง แต่ร.ต.เข้มถูก เจ้าหน้าที่ไทยและชาวบ้านช่วยกันล้อมจับกุมตัวไว้ได้ ถูกตั้งข้อหาว่าทรยศต่อชาติและทำจารกรรม ถูกซ้อม และผลักเข้าสู่กอหนามโดยมีเจ้าหน้าที่เอาปืนจ่อข้างหลัง และถูกนำมาขังล่ามโซ่ไว้บนศาลาวัดวังน้ำขาว อำเภอ วัดสิงห์เป็นเวลาหลายวันจึงถูกส่งตัวมาลงเรือยนต์ล่องลำน้ำเจ้าพระยาเข้ามาที่ตึกสันติบาลในกรุงเทพฯ
ด้วยความช่วยเหลือของตำรวจที่เป็นเสรีไทย ร.ต.เข้มจึงมีโอกาสเข้าพบกับนายปรีดี พนมยงค์ ทำให้ฝ่าย เสรีไทยเริ่มเริ่มส่งวิทยุไปยังกองทัพอังกฤษที่อินเดียได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ทำให้หน่วยทหารจากอังกฤษและสหรัฐฯ สามารถเล็ดลอดเข้ามาปฏิบัติงานในแผ่นดินไทยได้สะดวกขึ้น ในการทิ้งระเบิดของอังกฤษนายป๋วยได้ประสานติดต่อ กับอังกฤษแจ้งพิกัดไม่ให้เครื่องบินมาทิ้งระเบิดรพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนวังต่างๆ ทางอังกฤษก็ได้ตอบรับ ทำให้สถานที่สำคัญเหล่านี้สามารถอยู่รอดปลอดภัยมาจนทุกวันนี้
ปลายสงครามโลกครั้งที่สองนายปรีดีส่งนายป๋วยกลับไปอังกฤษอีกครั้งหนึ่งเพื่อไปเจรจาให้รัฐบาลอังกฤษ ยอมรับว่าขบวนการเสรีไทยเป็นรัฐบาลอันชอบธรรมของไทย ทำนองเดียวกับที่สหรัฐได้รับรองมาก่อนแล้ว และ เจรจาให้อังกฤษยอมปล่อยเงินตราสำรองที่รัฐบาลไทยฝากไว้ที่ธนาคารกลางอังกฤษ
เมื่อสงครามโลกยุติ นายป๋วยได้รับยศพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ ได้เป็นหนึ่งในผู้แทนไทยเดินทางไป เจรจาทางการทหารและการเมืองกับ ฝ่ายอังกฤษที่นครแคนดี ประเทศศรีลังกา ได้ร่วมกับเสรีไทยจากอเมริกาอารักขา แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระอนุชาที่กัลกัตตา จากนั้น นายป๋วยก็คืนยศทหารแก่กองทัพ อังกฤษ แล้วกลับไปแต่งงานกับมาร์กาเร็ต สมิทในปี พ.ศ.2489 และเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลอนดอน
ปี พ.ศ.2491 ป๋วยได้เรียนสำเร็จปริญญาเอกโดยใช้เวลาสามปีทำวิทยานิพนธ์ "เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการ ควบคุมดีบุก" แต่เนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศไทย นายปรีดี พนมยงค์ถูกทหารทำรัฐประหาร ทำให้ สถานการณ์ไม่ปลอดภัย ทางญาติของให้ป๋วยยังไม่ต้องรีบกลับมา
ปี พ.ศ.2492 ดร.ป๋วยก็เดินทางกลับประเทศไทย บริษัทห้างร้านต่างๆจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศ ต้องการตัวดร.ป๋วยไปทำงานโดยเสนอให้เงินเดือนสูงๆ แต่ในที่สุด ด.ร.ป๋วยก็เลือกที่จะรับราชการ เนื่องจากถือว่า ตนเองนอกจากจะเกิดเมืองไทย กินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือเงินของชาวนาชาวเมืองไทย ไปเมืองนอกแล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย
ดร.ป๋วยเข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งเศรษฐกร กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้รับเงินเดือน ประมาณ 1,600 บาท สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังอยู่ในสภาพฟื้นตัว ต่อมาในปี พ.ศ.2495 ดร.ป๋วยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยฝ่ายวิชาการของปลัดกระทรวงการคลัง และกรรมการธนาคารแห่ง ประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ.2496 ดร.ป๋วยก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรง ตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีส่วนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ต่างประเทศซึ่งมีปัญหามากในสมัยนั้น กลับมีเสถียรภาพมากขึ้น นักธุรกิจ มั่นใจค่าของ เงินบาทเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ ทำให้ราคาสินค้าลดลงและเงินสำรอง ระหว่างประเทศก็ขยาย ตัวเพิ่มมากขึ้น
วันที่ 25 ธันวาคม ปี พ.ศ.2496 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดร.ป๋วยพ้นจากตำแหน่ง รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทยไปรับราชการเป็นผู้เชียวชาญการคลัง กระทรวง การคลังเนื่องจากดร.ป๋วยปฏิเสธการที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องการซื้อสหธนาคาร กรุงเทพจำกัด แต่เนื่องจากธนาคารแห่งนั้นกระทำผิดระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย และกำลังถูกปรับเป็นเงินหลายล้านบาท จอมพลสฤษดิ์ขอให้ดร.ป๋วยยกเลิกการปรับ แต่ดร.ป๋วยปฏิเสธและยืนกราน ให้คณะรัฐมนตรีปรับธนาคารแห่งนั้น ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ปฏิบัติตามข้อเสนอของดร.ป๋วย
ต่อมาพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็พยายาม เสนอให้บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งตนเองมีผลประโยชน์อยู่ด้วย เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรไทยแทนบริษัทโทมัส เดอลารู คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ดร.ป๋วยเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ ดร.ป๋วยตรวจพบว่าา บริษัทดังกล่าวฝีมือไม่ดี ปลอมง่ายและมีชื่อเสียงในการวิ่งเต้น จึงไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอให้เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตร จึงทำรายงานเสนอ ให้ใช้บริษัทโทมัส เดอลารูตามเดิม แต่ถ้าหากจะตัดสินใจให้บริษัทอเมริกันเป็นผู้พิมพ์ธนบัตรก็จะออกจากราชการ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของดร.ป๋วย เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์เป็นอย่างมาก ผู้มีอำนาจในประเทศขณะนั้นต่างไม่พอใจดร.ป๋วย เพื่อความปลอดภัยพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้ให้ดร.ป๋วยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลังประจำสถานเอกอัคร ราชทูตไทยในอังกฤษ ในปี พ.ศ.2499 และยังได้เป็นผู้แทนไทยประจำคณะมนตรีดีบุกระหว่างประเทศ มีผลทำให้ ไทยสามารถขายแร่ดีบุกเป็นสินค้าออกสำคัญของประเทศได้มากขึ้น
ปี พ.ศ.2502 จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง จอมพลสฤษดิ์มีชื่อเสียไม่ดีหลายด้านแต่ ข้อเด่นคือ การเลือกใช้คน จอมพลสฤษดิ์ได้ให้ดร.ป๋วยกลับเมืองไทยเข้ามาช่วยงาน ต่อมาเมื่อนายโชติ คุณะเกษม ลาอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จอมพลสฤษดิ์ได้โทรเลขไปถึง ดร.ป๋วยซึ่งกำลัง ประชุมคณะรัฐมนตรีดีบุก โลกที่กรุงลอนดอน เสนอให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง แต่ดร.ป๋วยปฏิเสธไปว่า ไม่ขอรับตำแหน่งนี้ เพราะเมื่อตอนเข้าเป็นเสรีไทย ได้สาบานไว้ว่า จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ เพื่อ พิสูจน์ว่าไม่ได้หวังแสวงหาผลประโยชน์จากการเป็นเสรีไทย เมื่อดร.ป๋วยกลับจากอังกฤษ จอมพลสฤษดิ์ก็แต่งตั้ง ให้ดร.ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาได้รับ แต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่ง ดร.ป๋วยจึง ควบคุมทั้งนโยบายด้านการเงิน การคลังและงบประมาณของประเทศ ในขณะที่อายุได้ เพียง 43 ปี นอกจากนั้นดร.ป๋วยยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการสภาพัฒน์ เป็นกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ
แม้ว่าดร.ป๋วยจะมีตำแหน่งที่สูง แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ชอบนุ่งกางเกงเวสต์ปอยต์มาทำงาน ไม่มีชุดดินเนอร์แจ็กเกตเป็นของตนเอง ชอบกินก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้มกุ๊ย และเต้าฮวย
ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ดำรงตำแหน่งงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 12 ปี นับเป็นผู้ว่าการที่อยู่ใน ตำแหน่งนานที่สุด ตลอดสมัยที่ดร.ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นสมัยที่ธนาคารแห่ง ประเทศไทยปลอดจากการเมืองมากที่สุด และเป็นยุคที่สามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง เงินบาท ได้รับได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งในและนอกประเทศ ทำให้มีการค้าขายและการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นเงินทุน สำรองระหว่างประเทศก็เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มขยายสาขาออกไปสู่ภูมิภาค สามารถจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรได้สำเร็จ ไม่จำเป็นต้องไปพิมพ์ธนบัตรในต่างประเทศ มีการอออกพระราชบัญญัติ ธนาคารพาณิชย์ปี พ.ศ.2505 ซึงถือเป็นแม่บทของธนาคารพาณิชย์ตลอดจนนำเทคนิคนโยบายทางการเงินที่ สำคัญๆ เช่น อัตราเงินสดสำรองอัตราส่วนลดมาใช้ และชักจูงให้ธนาคารปฏิบัติตามกฎระเบียบ อันจำเป็นต่อการ เสริมสร้างความมั่นคงในระบบการธนาคาร และอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขามากขึ้นและขยายไปทั่ว ราชอาณาจักร ทำให้กิจการธนาคารพาณิชย์ต่างๆเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว
ปี พ.ศ.2507 ดร.ป๋วยเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ถูกนายกรัฐมนตรียับยั้งไว้ ขณะนั้นคณะเศรษฐศาสตร์ มีอาจารย์ประจำเพียงสี่คน อาจารย์ป๋วยจึงเร่งผลิตอาจารย์โดยประกาศรับสมัครคนรุ่นใหม่ แล้วหาทุนส่งไปเรียน ต่างประเทศ ทำให้คณะเศรษฐศาสตร์เติบโตขึ้น ภายในเวลาเพียงสิบปี มีอาจารย์เพิ่มนับร้อยคน ส่วนใหญ่จบ การศึกษาระดับปริญญาโทและเอก
สิงหาคม พ.ศ.2508 ดร.ป๋วยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในคำประกาศเกียรติประวัติ มีข้อความตอนหนึ่งว่า "บุคคลสำคัญผู้แสดงบทบาทอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธนาคารแห่งประเทศไทยในการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีเสถียรภาพการเงินควบคู่กันไป นายธนาคารระหว่างประเทศยกย่องว่านายป๋วยเป็น ผู้ว่าการธนาคารกลางที่มีความสามารถดีเด่นคนหนึ่งของโลก ... การกระทำของนายป๋วยยังเป็นแรงบันดาลใจ สำหรับข้าราชการผู้ขยันขันแข็ง นายป๋วยผู้ถือได้ว่า ความเรียบง่ายคือความงามและความชื่อสัตย์สุจริต คือคุณความดีสูงสุดของชีวิตข้าราชการ เป็นหลักรประจำในซึ่งยึดถือมาช้านาน และได้เผยแพร่กับเพื่อนร่วมงาน ด้วยว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้แสวงหาความจริงและผู้ใช้วิชาชีพ จะต้องไม่เป็นเพียงผู้ที่คอยเรียนรู้อยู่เสมอและ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น หากยังต้องมีความชื่อสัตย์สุจริต และต้องแสดงให้ปรากฏออกมาถึง ความชื่อสัตย์สุจริตนั้นอย่างเพียงพอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นมีความชื่อสัตย์สุจริตด้วย
ปี พ.ศ.2510 ดร.ป๋วยได้ร่วมกับเพื่อนนักธุรกิจ นักการเงิน นักการเมืองและเชื้อพระวงศ์ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นโครงการ พัฒนาชนบทแห่งแรกขององค์กรพัฒนาเอกชน โดยได้แนวคิดจาก ดร.วาย เยน ที่มีแนวคิดว่า การพัฒนาชนบทและการพัฒนาคุณภาพของคน จะเป็นรากฐานสำคัญ ของการพัฒนาประเทศ โดยการส่งเสริมการพึ่งตนเอง การร่วมมือกันของชาวบ้าน การศึกษา การอนามัย การอาชีพ แนวทางของ มูลนิธิบูรณะชนบทฯ ในการทำงานกับชาวบ้านคือ " ไปหาชาวบ้าน อยู่กับเขา เรียนรู้จากเขา วางแผนกับเขา ทำงานกับเขา เริ่มจากสิ่งที่เขารู้ สร้างจากสิ่งที่เขามี สอนโดยชี้ให้เห็น เรียนจากการทำ... " โครงการของมูลนิธิบูรณะชนบทดำเนินการอยู่ในเขตจังหวัดชัยนาทเป็นหลัก ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากชาวบ้านที่นั้น เคยช่วยชีวิตดร.ป๋วยเมื่อครั้งเป็นเสรีไทย
ปี พ.ศ.2513 อาจารย์ป๋วยได้ลาพักไปสอนที่มหาวิทยาลัยปริ๊นซตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อเรียนรู้เรื่อง มหาวิทยาลัยใหม่ๆ ให้ทันการณ์ โดยรับเงินเดือนจากธนาคารชาติดังเดิม แต่ขอให้มหาวิทยาลัยปริ๊นซตันจ่าย เงินเดือนอันท่านพึงจะได้ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย นับว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำไร
ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2514 ดร.ป๋วยได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมเวลาที่ ดำรงตำแหน่ง 12 ปี 2 เดือน 4 วัน จึงมารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์อย่างเต็มตัว เพื่อต้องการทุ่มเทให้ กับการศึกษาอย่างจริงจัง และได้ลาไปสอนพิเศษแลทำวิจัยอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 จอมพลถนอม กิติขจรทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจตัวเอง อาจารย์ป๋วยได้ เขียนจดหมายฉบับประวัติศาสตร์จากอังกฤษ โดยใช้ชื่อ นายเข้ม เย็นยิ่ง - ชื่อรหัสสมัยเป็นเสรีไทย จนหมายฉบับนี้ เขียนถึงผู้ใหญ่บ้านชื่อทำนุ เกียรติก้อง ซึ่งหมายถึงจอมพลถนอม เรียกร้องให้จอมพลถนอมซึ่งยึดอำนาจ การปกครองคือเสรีภาพประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ข้อความในจดหมายตอนหนึ่งว่า "ได้โปรดเร่งรัดให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 นี้หรืออย่างช้าก็อย่างให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญมีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธรรม สามารถเลือกตั้งสมัชชาขึ้นโดยเร็ว" จดหมายฉบับนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับผู้มีอำนาจเป็นอย่างยิ่ง อาจารย์ป๋วยถือว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนแรก ที่กล้าลุกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารอย่างตรงไปตรงมา ทำให้อาจารย์ป๋วยต้องลาออกจากตำแหน่งคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ในระหว่างที่สอนหนังสือที่เคมบริดจ์
ปี พ.ศ.2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังครบวาระ และยืนยันว่าจะไม่ รับตำแหน่งต่อ อาจารย์และนักศึกษาได้มีประชามติให้อาจารย์ป๋วยเป็นอธิการบดีคนต่อไป ในระหว่างวันที่ 9-18 กุมภาพันธ์ อาจารย์ป๋วยได้เดินทางกลับมาเมืองไทย ได้เข้าพบจอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร อาจารย์ป๋วยได้ถามผู้มีอำนาจทั้งสองว่า จะขัดข้องไหมถ้าหากท่านจะเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่ต้องการให้รับตำแหน่ง เพราะกลัวว่าอาจารย์ป๋วยจะใช้พลังนักศึกษาเป็นพลัง ต่อต้านรัฐบาล
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ภายหลังรัฐบาลทหารถูกขับไล่ออกไป อาจารย์ป๋วยได้รับแต่งตั้งให้ เป็นประธานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ มีการเรียกร้องให้อาจารย์ป๋วยเข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี แต่อาจารย์ป๋วยไม่รับ เนื่องจากความ ปรารถนาของอาจารย์ป๋วยไม่ได้อยู่ที่การเมือง แต่เป็นเรื่อง การศึกษาและการพัฒนาชนบท เมื่อมีการเสนอชื่อ อาจารย์ป๋วยให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ท่านไม่ปฏิเสธ อาจารย์ป๋วยเป็นศิษย์ ธรรมศาสตร์คนแรกที่ได้รับเลือกตั้งจากชาวธรรมศาสตร์ ให้เป็น อธิการบดีคนที่ 10 เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2518 อาจารย์ป๋วยได้ให้แนวทางแก่ธรรมศาสตร์ ในการขยาย ไปยังรังสิต ให้ขยายตัวไปในสาขา วิทยาศาสตร์เพื่อเกื้อหนุนกัน การรับนักเรียนเรียนดี จากชนบทเข้ามาศึกษา หรือ โครงการช้างเผือก การให้คณะต่างๆจัดทำโครงการบริการสังคม
ในขณะนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง ฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดทางสังคมนิยม กับฝ่ายขวาคือผู้สูญเสียอำนาจไป มีขบวนการขวาพิฆาตซ้ายออกอาละวาด ผู้นำนักศึกษา ชาวนา กรรมการถูกลอบสังหารจำนวนมาก โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เคยจับกุมฆาตกรได้ ธรรมศาสตร์กลายเป็นเวทีและศูนย์กลางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม มีการชุมนุมการบ่อยครั้ง อาจารย์ป๋วย กลายเป็นหนังหน้าไฟ ถูกบีบอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย ฝ่ายขาวก็กล่าวหาว่า อาจารย์ป๋วยเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง นักศึกษา เป็นคอมมิวนิสต์ที่คิดจะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตั้งตัวเองขึ้นเป็นประธานาธิบดี ในขณะที่ ฝ่ายซ้ายก็ โจมตีว่าอาจารย์ป๋วยเป็นเผด็จการ ขัดขวางการทำงานของขบวนการนักศึกษา หลายครั้งอาจารย์ป๋วยก็ ทะเลาะกับนักศึกษา ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะเห็นว่า บางครั้งนำไปสู่อันตราย
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 กลุ่มบุคคลในเครื่องแบบและกลุ่มกระทิงแดงได้ทำการปิดล้อมและใช้อาวุธยิง ถล่มเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยไม่สนใจต่อขอร้องของผู้ชุมนุมภายในที่ต้องการเจอรจาโดยสันติ มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก นักศึกษาบางคนถูกจับแขวนคอ บางคนถูกเผาทั้งเป็นและผู้หญิง บางคนถูกข่มขืนจนถึงแก่ความตาย เวลา 10.00 น. อาจารย์ป๋วยออกแถลงการณ์ลาออกในที่ประชุมสภา มหาวิทยาลัยเพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่มีคนจำนวนมากบาดเจ็บและล้มตายภายในมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของท่าน สภามหาวิทยาลัยได้ให้อาจารย์ป๋วยเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากฝ่ายขวากำลังล่าตัวอาจารย์ป๋วย ในเวลาเย็นวันนั้นเกิดรัฐประหารขึ้นโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ เวลา 20.00 น. อาจารย์ป๋วยได้เดินทางออกนอกประเทศไปยุโรป
เมื่ออาจารย์ป๋วยอยู่นอกประเทศก็ได้เดินทางไปพบคนไทยในต่างประเทศ และบุคคลสำคัญในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ เหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยเวลานั้น เพื่อเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตย ในเมืองไทยอย่างสันติวิธี ปี พ.ศ.2520 อาจารย์ป๋วยเดินทางไปให้การต่อ คณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสืบพยาน เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา
เดือนกันยายน พ.ศ.2520 อาจารย์ป๋วยได้ล้มป่วยด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก ต้องรักษาตัวอยู่ใน โรงพยาบาลนานนับสามเดือน อาการเส้นโลหิตในสมองแตก ได้ส่งผลกระเทือนสมองส่วนที่แปลความคิดเป็นคำพูด ทำให้อาจารย์ป๋วยไม่สามารถ พูดได้อย่างคนปกติ ท่านพูดออกเสียงได้เล็กน้อยเท่านั้น นับเลขได้ 1-2-3 ถึง 10 แต่ต้องเริ่มต้นที่เลข 1 เสมอ ในช่วงบั้นปลายชีวิตอาจารย์ป๋วยใช้ชีวิตอย่าง เรียบง่ายในบ้านเก่าแก่ ที่ประเทศอังกฤษ สามารถเดินไปไหนได้ แม้ว่ามือขวา จะยังใช้การได้ไม่ค่อยดี พูดได้น้อยแต่ก็สามารถสือสารกับคนรอบข้างให้เข้าใจ ได้
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2530 อาจารย์ป๋วยเดินทางกลับมาเมืองไทยหลังจากที่ต้องออกจากบ้านเกิดไป เมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นครั้งแรก พร้อมด้วยภรรยา ลูกชาย ลูกสะใภ้และหลานอีกสองคน มีบรรดาเพื่อนๆ ลูกศิษดิ์และคนรู้จักมากมายมาพบปะ เยี่ยมเยือนที่บ้านเก่าซอยอารีย์ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2530 ที่ธนาคาร แห่งประเทศไทย พนักงานประมาณ 2,000 คนมายืนต้อนรับการกลับมาของอาจารย์ป๋วย คนธรรมดาคนหนึ่งซึ่งเป็น แบบอย่างดีที่สุดของข้าราชการเมืองไทย ในตอนบ่ายขณะรถอาจารย์ป๋วยกำลังจะแล่นออกไป หลายคนพยายาม เข้าไปใกล้ชิดอาจารย์มากที่สุด จนอาจารย์ป๋วยไขกระจกรถลงแล้วยื่นมือออกมาให้พนักงานได้สัมผัส หลายคนร่ำไห้ ออกมาอย่างไม่อายใครที่บุคคลซึ่งตนให้ความนับถือและเคารพรักกำลังจะจากไป
วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2530 อาจารย์ป๋วยได้มาร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ และเดินไปบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดทางมีนักศึกษายืนต้อนรับ มีนักศึกษายืนถือป้ายข้อความว่า "ปลื้มใจนักเตี่ยกลับบ้าน" "ลูกโดมมิลืมอาจารย์ป๋วย" "ยังข้นและยังเข้ม ดุจเกลือเค็มในแผ่นดิน ดีกว่าน้ำปลาริน อันปรุงรสละลายหอม" วันที่ 20 เมษายนเดินทางเยื่อมมูลนิธิโกมลคีมทอง วันที่ 21 เมษายนเดินทางไปเยี่ยมคณะ เศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเยี่ยมโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม(คอส.) และวันที่ 25 เมษายน อาจารย์ป๋วยก็เดินทางออกจากเมืองไทย จากนั้นก็ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดอีกครั้งในปี พ.ศ.2536 พ.ศ.2538 และครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2540
วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2542 อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ได้ถึงแก่กรรมที่บ้าน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้องโป่งแตก (aortic aneurysm) อายุได้ 83 ปี "ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป" จากข้อเขียน"คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2542 ทางครอบครัวได้ทำการเผาศพและบรรจุอัฐินำกลับมาเมืองไทย วันที่ 16 สิงหาคม และวันที่ 28 สิงหาคม บริเวณท่าเรือสัตหีบ เรือหลวงกระบุรี แห่งราชนาวีไทยได้นำครอบครัวอึ้งภากรณ์และแขกประมาณ 200 คน มุ่งหน้าสู่เกาะครามนำอังคารของอาจารย์ป๋วยไปลอยทะเล
ที่มา : วีกีพีเดีย
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
ประวัติบุคคลสำคัญของไทย
ป๋วย อึ้งภากรณ์ ตำนานเสรีไทยผู้กล้าหาญ ข้าราชการผู้ชื่อสัตย์ของแผ่นดิน
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?