เมื่อ: เมษายน 24, 2016, 07:15:37 PM
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นผู้ได้รับการกล่าวขานในฐานะที่มีบทบาทสำคัญที่สุดผู้หนึ่งใน การปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขไทย สู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2544 จนเป็นที่ร่ำลือทั้งในและต่างประเทศ น่าเสียดายที่ นพ.สงวนต้องจบชีวิตลงด้วยมะเร็งปอดในวัย 56 ปี เมื่อ 18 มกราคม พ.ศ.2551
ประวัติส่วนตัว
ชื่อ-นามสกุล นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
วันเดือนปีเกิด 18 มีนาคม 2495
ตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (คนแรก ปัจจุบันเสียชีวิต)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฎ (มวม.)
ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2514 - 2520 แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
พ.ศ. 2526 - 2527 Master of Public Health สถาบัน Tropical Medicine, Antwerp ประเทศเบลเยี่ยม
พ.ศ. 2528 ประกาศนียบัตร เรื่อง เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สถาบัน London School of Hygiene and Tropical Medicine ประเทศสหราชอาณาจักร
พ.ศ. 2532 หลักสูตรนักบริหารระดับสูง คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
พ.ศ. 2543 หลักสูตรนักบริหารระดับสูง ็การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย" สถาบันพระปกเกล้า
รางวัลและเกียรติยศดีเด่น
-แพทย์ดีเด่นในชนบท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2528
-Fellow of Royal College of Physician (F.R.C.P) ราชวิทยาลัยแพทย์แห่งกรุง Edinburgh ประเทศสหราชอาณาจักรพ.ศ.2539
-องค์ปาฐกในปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2530
-รางวัล "ทุนสมเด็จพระวันรัต" สำหรับแพทย์ผู้ทำประโยชน์ให้สังคม จากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2544
แม้จะได้รับการกล่าวขานยกย่องคุณงามความดีไว้ในหลายวาระโอกาส ในหลายมิติ ในฐานะนายแพทย์นักปฏิรูป นักคิด นักพัฒนา ฯลฯ
แต่ในที่นี้ จะขอกล่าวถึง นพ.สงวน ในฐานะนักประชาธิปไตยผู้ยึดมั่นและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสร้างเสริมสุขภาพประชาชนไทย
ผู้นำความคิดนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516
นพ.สงวน ได้แสดงความคิด อุดมคติเชิงรับใช้ ประชาชน รับใช้สังคมมากกว่า 30 ปี โดยเข้าร่วมกิจกรรมแนวดังกล่าวตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษาแพทย์ เมื่อปี พ.ศ.2516 สมัยเรียนเป็นนักศึกษาปีที่ 3 ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นักศึกษา "มหิดลสาร" ซึ่งเป็นหนังสือที่สื่อความคิด ที่รวบรวมบทเขียน บทวิเคราะห์ วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นของนักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการสังคมของมหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นการจุดประกายความคิดประชาธิปไตย วิจารณ์สังคม เสนอแนวอุดมคติต่างๆ ในหมู่นักศึกษาและอาจารย์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้บรรยากาศการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารในขณะนั้น ที่หนังสือแนวดังกล่าวมีเผยแพร่อยู่เพียงไม่กี่ฉบับ จวบจนเกิดเหตุการณ์การลุกฮือขึ้นของนักศึกษา ปัญญาชน และประชาชน โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารในสมัยนั้นจนสำเร็จในวันที่ 14 ตุลาคม 2516
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บรรยากาศ ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมก็เกิดขึ้นในเกือบทุก วงการของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมนัดหยุดงาน การเรียกร้องสวัสดิการให้ดีขึ้น การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ขอปรับแก้กฎหมายต่างๆ
นพ.สงวนก็ได้รับความไว้วางใจจากนักศึกษา ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้นำนักศึกษาในฐานะ "นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์" ตามวิถีทางประชาธิปไตย
ผู้นำการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ยุค 6 ตุลาคม 2519
ด้วยความสามารถฐานะผู้นำที่ดีในบรรยากาศของการพัฒนาประชาธิปไตย ในปีการศึกษา 2519 นพ.สงวน ในฐานะนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ก็ได้รับความไว้วางใจจากนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ด้วยการชนะเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล
คือ เป็นผู้นำการบริหารกิจกรรมนักศึกษาตามวิถีและกระแสการพัฒนาประชาธิปไตย และแน่นอนที่สุด การต่อสู้ดังกล่าว ของกระบวนการนักศึกษา ปัญญาชน ได้ผนึกอย่างแน่นแฟ้นกับการเคลื่อนไหวของกรรมกร ชาวนา ดังนั้น การต่อสู้จึงดำเนินไปอย่างดุเดือดเข้มข้น
ผู้นำการเคลื่อนไหวจะถูกข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกาย จับกุมคุมขัง ตลอดจนลอบสังหาร มีกว่า 50-60 ราย ในจำนวนนั้น สำหรับทางด้านนักศึกษา ได้แก่ นายแสง รุ่งนิรันดรกุล จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง นายอมเรศ ไชยสะอาด และนายปรีดา จินดานนท์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ต้องเสียชีวิตลงในเวลาไล่เลี่ยกัน
แต่ นพ.สงวนก็ดำรงความเป็นผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ในแนวหน้าของกระบวน การเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ในฐานะนายกองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล (สมม.) และกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
จนเกิดการล้อมปราบการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน อย่างโหดเหี้ยมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนต้องมีผู้เสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บล้มตายอีกจำนวนมาก และจับกุมคุมขังอีก 3,000 คน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเช้าตรู่วันที่ 6 ตุลาคม 2519
นพ.สงวนเป็นหนึ่งในผู้นำที่ถูกหมายประกาศจับจากคณะรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2519 ในข้อหาทำลายความมั่นคงของชาติ แต่ก็รอดพ้นจากการจับกุมโดยอาจารย์แพทย์ชั้นผู้ใหญ่ได้ให้การรับรองว่าไม่เป็นไปตามข้อกล่าวหา
รอดพ้นข้อกล่าวหา แพทย์ชนบทผู้ทำลายความมั่นคง
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะรับใช้ประชาชนอย่างแรงกล้า หลังจบการศึกษาสำเร็จเป็นแพทย์ในปีการศึกษา 2519 นพ.สงวน ก็รับราชการเป็นแพทย์ชนบทอยู่ในโรงพยาบาลจังหวัดศรีสะเกษและโรงพยาบาลราษี ไศลจังหวัดเดียวกัน โดยปฏิบัติตามตัวอย่างแพทย์ชนบทรุ่นพี่ๆ แต่ความปรารถนาดีก็ถูกแปรเป็นเจตนาร้ายในสายตาผู้มีอำนาจที่ไม่เคยเข้าใจคำ ว่า "รับใช้ประชาชน"
จึงเป็นอีกครั้งที่ นพ.สงวนถูกกล่าวหาเพ่งเล็งและติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ในข้อหาผู้บ่อนทำลายความมั่นคงอีกครั้ง (ความมั่นคงของผู้มีอำนาจรัฐในสมัยนั้น)
แต่ด้วยคุณงามความดีอันเป็นที่ประจักษ์ในสายตาประชาชน แพทย์รุ่นพี่ อาจารย์ ข้าราชการผู้ใหญ่ที่รู้จักและทำงานด้วย นพ.สงวนก็รอดพ้นจากขวากหนามข้อกล่าวหาของผู้มีอำนาจได้อีกครั้ง
ประสบการณ์ ดังกล่าวครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อความมุ่งมั่นยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ยึดมั่นในอุดมการณ์ของการรับใช้ประชาชนผู้ยากไร้
ในทางตรงกันข้าม ยิ่งเป็นการหล่อหลอมกระตุ้นให้ นพ.สงวน ยิ่งทำงานหนักยิ่งขึ้น เป็นแบบอย่างให้กับแพทย์ผู้ร่วมงาน แพทย์รุ่นน้อง เพื่อนผู้ร่วมงานอื่นๆ ในการดำเนินตามอุดมการณ์การรับใช้ประชาชน
ร่วมพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน
ในยุคที่ผู้ใหญ่ในวงการสาธารณสุขไทยมุ่งมั่นดำเนินการตามอุดมการณ์และเจตนารมณ์ "สุขภาพดีถ้วนหน้า ก่อน 2543" หรือ "Health for all by the year 2000" ของ WHO (องค์การ อนามัยโลก) นพ.สงวนก็เป็นหนึ่งในกลุ่มแพทย์ชนบท ที่มีบทบาทสำคัญในการริเริ่ม คิดค้น แปรอุดมการณ์ไปสู่การปฏิบัติตามแนวทางสาธารณสุขมูลฐาน ที่ให้ความสำคัญของประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง และเลือกผู้นำที่เป็นตัวแทนของตนในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ร่วมกับบริการของรัฐ โดย นพ.สงวนอยู่ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และต่อมาย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
และที่สำคัญในเวลาต่อมา นพ.สงวนได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้บริหารในสำนักงานการสาธารณสุขมูลฐาน ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อผลักดันนโยบายในระดับประเทศต่อไป
ผู้อำนวยการกองแผนงานสาธารณสุข ในฐานะผู้นำคลังสมอง
จากความสำเร็จอย่างโดดเด่นจากสำนักงานสาธารณสุขมูลฐาน นพ.สงวนได้รับความไว้วางใจ ยกระดับเป็นผู้อำนวยการกองแผนงานสาธารณสุขที่ต้องถือว่าอายุน้อยที่สุด ในขณะนั้น
และด้วยความมุ่งมั่น ความสามารถ ความเป็นนักอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ใจกว้าง เปิดใจรับความรู้ความเห็นใหม่ๆ นพ.สงวนประสบความสำเร็จสูงยิ่งในการดึงดูดแพทย์นักกิจกรรมรุ่นหนุ่มสาวที่มี ศักยภาพมาร่วมงานอย่างหลากหลาย
และด้วยความเป็นนักประนีประนอม อ่อนน้อมถ่อมตน มนุษย์สัมพันธ์ดี นพ.สงวนยังประสบความสำเร็จ ในการประสานความร่วมมือจากเพื่อนรุ่นเดียวกัน แพทย์รุ่นพี่ที่มีความสามารถ
และที่สำคัญ นพ.สงวนยังเป็นที่ไว้วางใจของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ได้เป็นอย่างดี จึงเป็นจุดเชื่อมประสานผลักดันพัฒนางาน ได้เป็นผลสำเร็จเสมอ
ตลอดจนสามารถพัฒนาแนวคิดเชิงนโยบายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงินการคลังสาธารณสุข เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การวิจัยให้ได้มาซึ่งข้อมูลความรู้ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจด้านนโยบายระบบ ประกันสุขภาพในเวลาต่อมา
นอกจากนั้นแล้ว ได้มีการจัดทำแผนบุคลากรทางการแพทย์ การผลิตแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ไว้ล่วงหน้าเป็นแผนสิบปี
ริเริ่มการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ เช่น การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ส่งเสริมการแพทย์แผนไทย โดยอาศัยความรู้ความเข้าใจในศาสตร์อื่นๆ ด้วย เช่น มานุษยวิทยา สังคมวิทยา ร่วมในการแก้ปัญหาสุขภาพอีกด้วย
นอกจากนี้ ด้วยความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยของประชาชน นพ.สงวนยังได้ริเริ่มผลักดันให้มีการสนับสนุน การปฏิบัติงานขององค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ (NGO) ที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในบทบาทที่แยกจากรัฐ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน 49.2 ล้านบาท สำเร็จในปีงบประมาณ 2535 ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน
ทำให้ NGO กว่า 30 องค์กรได้รับงบประมาณจากรัฐบาลไปดำเนินกิจกรรมด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ เป็นครั้งแรก
ความห้าวหาญในฐานะ หัวหน้าคณะแพทย์สนามในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
ด้วยจิตใจยึดมั่นในประชาธิปไตย ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พฤษภาคม 2535 นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้อำนวยการกองแผนสาธารณสุขในขณะนั้น ได้อาสาเป็นหัวหน้าคณะแพทย์อาสาสมัครจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยปฐมพยาบาลภาคสนาม ให้แก่ผู้บาดเจ็บจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ในวัน ที่ 17-18 พฤษภาคม อย่างห้าวหาญ ได้ช่วยชีวิตและปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บได้จำนวนหนึ่ง ท่ามกลางการปะทะ และปราบปรามอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ยังอาสาเข้าร่วมปฏิบัติงานร่วมกับคณะกรรมการองค์กรกลางในการร่วมสังเกตการณ์ เลือกตั้ง ตั้งแต่เมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งที่สำนักงานบ้านมนังคศิลา
และยังเคยคิดที่จะสมัครเป็นกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 คณะที่ 2 ต่อจากคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มี นายสวัสดิ์ โชติพาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งหมดวาระลง
แต่ในที่สุด นพ.สงวน ก็สามารถเลิกล้มความตั้งใจกลับมาสานต่ออุดมการณ์รับใช้ประชาชน ผลักดันการปฏิรูปทางด้านสาธารณสุขต่อไป
ผลักดันความฝัน "ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ให้เป็นความจริง
แนวคิดเรื่องประกันสุขภาพได้รับการกล่าวขานถึงในหมู่นักคิดนักวิชาการสาธารณสุข ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 โดยศึกษาแบบอย่างของประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีน
แม้ความหวังที่จะได้รับการยอมรับที่เลือนลาง แต่ นพ.สงวน และคณะยังมุ่งมั่นพัฒนาความคิดเชิงนโยบาย เสนอให้กับพรรคการเมืองหลายพรรคในหลายๆ โอกาส แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
จนในที่สุดเมื่อปี 2543 พรรคไทยรักไทยได้รับมาศึกษาถึงความเป็นไปได้และใช้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียง แม้จะดูถูกหมิ่น สบประมาท และเหยียดหยามจากพรรคอื่นในตอนแรก
แต่ในที่สุด ในปี 2544 รัฐบาล ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ประสบความสำเร็จในการนำไปสู่การปฏิบัติ ความสำเร็จดังกล่าวต้องถือเป็นผลของการผลักดันอย่างต่อเนื่องของ นพ.สงวน จากความคิดอุดมการณ์ข้อมูลวิชาการที่เป็นวิทยาศาสตร์ประกอบการตัดสินใจเชิง นโยบายของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และเพื่อเป็นหลักประกันในการนำไปสู่ภาคปฏิบัติให้สำเร็จ ฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ ทางรัฐบาลได้คัดเลือกให้ นพ.สงวนเป็นผู้รับผิดชอบขั้นปฏิบัติงานต่อไป
ซึ่งต้องถือว่าเป็นก้าวสำคัญต่อการปฏิรูปสาธารณสุขไทยอีกก้าวหนึ่ง
ความมุ่งมั่นในประชาธิปไตยและการรับใช้ประชาชน คือปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ
ความสำเร็จในการปฏิรูปสาธารณสุขด้วยการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ นพ.สงวน เกิดขึ้นจากพัฒนาการของแนวคิดที่ยึดมั่นในระบบประชาธิปไตย อุดมการณ์แห่งการรับใช้ประชาชน เคารพในประชาชน จิตใจ และคุณธรรมที่ต้องการรับใช้ประชาชนอันสูงส่ง ความเป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง รับฟังความคิดเห็น จากเพื่อน ผู้ร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาด้วยความอ่อนน้อม ยึดมั่นในความถูกต้อง ใช้ข้อมูลหลักวิชาการอย่างเป็นวิทยา ศาสตร์ กล้าในสิ่งที่ควรกล้า ตัดสินใจในโอกาสที่เหมาะสม
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ จึงเป็นบุคคลที่น่าจะได้รับการจดจำยกย่องถึงความสำเร็จ และถือเป็นแบบอย่างของนักปฏิรูป นักพัฒนา นักวิชาการ นักประสานงาน ที่ยึดหลักของประชาธิปไตย ความเสมอภาคของประชาชนควรแก่การศึกษาของคนรุ่นหลังสืบต่อไป
หมายเหตุ : เขียนไว้ในโอกาสรำลึกครบรอบ 100 วัน ของการถึงแก่กรรมของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
ที่มา: มติชนรายวัน วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11002 หน้า 7
ข้อความประทับใจ
คุณหมอสงวนเขียนหนังสือ "บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ของสำนักพิมพ์มติชน ความตอนหนึ่งเล่าเรื่องที่ท่านรับแม่ลูกคู่หนึ่งขึ้นรถพยาบาลไปส่งที่โรง พยาบาล ท่านเขียนว่า
"เมื่อรถแล่นไปถึงโรงพยาบาลผมก็พบกับสิ่งที่คาดไม่ถึง คือแทนที่จะได้เห็นเธออุ้มลูกมาให้หมอตรวจ เธอกลับอุ้มลูกเดินออกจากโรงพยาบาลโดยไม่ยอมเข้ามารับบริการ ผมจึงเดินตามไปถามว่ามาถึงโรงพยาบาลแล้วทำไมไม่พาลูกไปให้หมอตรวจ เธออ้ำอึ้งไม่ตอบอยู่พักใหญ่ สุดท้ายคนขับรถของผมซึ่งเป็นคนท้องถิ่นได้สอบถามแทน จึงได้ความว่าเธอมีเงินพกติดตัวมาเพียง 30 บาท ตั้งใจจะนำเด็กไปฉีดยากับหมอเสนารักษ์ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลเท่าใดนัก ซึ่งโดยปกติเขาจะคิดค่ารักษาเพียง 20 บาท อีก 10 บาทที่เหลือนั้นจะเก็บไว้เป็นค่าโดยสารกลับบ้าน"
คุณหมอสงวนและทีมทำงานที่ยากยิ่ง ท่านพูดเสมอว่าการจะทำงานยากๆ ให้สำเร็จนั้นต้อง "กัดไม่ปล่อยอย่างอุเบกขา" ท่านได้พิสูจน์ด้วยชีวิตตนเองว่าท่านมีอุเบกขามากเพียงใดกับการจัดการอุปสรรคของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ที่มาเว็บไซต์ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 14, 2016, 12:02:22 AM โดย เลิศชาย ปานมุข »