เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
ประวัติบุคคลสำคัญของไทย
เทียนวรรณ นักประชาธิปไตย แห่งยุคราชาธิปไตย
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: เทียนวรรณ นักประชาธิปไตย แห่งยุคราชาธิปไตย (อ่าน 4705 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
เทียนวรรณ นักประชาธิปไตย แห่งยุคราชาธิปไตย
เมื่อ:
เมษายน 24, 2016, 07:19:28 PM
เทียนวรรณ (2385 - 2458) หรือ ต.ว.ส. วัณณาโภ ปัญญาชนคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นผู้เรียกร้องระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและการปฏิรูปทางด้านสังคมอีกหลายข้อ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลราชาธิปไตยจับเขาเข้าคุกถึง ๑๗ ปี
เทียนวรรณ มีนามเดิมว่า เทียน นามสกุล วัณณาโภ เกิดปี พ.ศ. ๒๓๘๕ ปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่ตำบลบางขุนเทียน จังหวัดพระนคร พื้นฐานครอบครัวมาจากทหารและพลเรือน
เริ่มเรียนหนังสือที่บ้าน เมื่ออายุได้ ๘ ขวบจึงไปเรียนหนังสือไทยและหนังสือขอมกับพระที่วัดโพธิ์ พร้อมทั้งได้วิชามวยและเวทมนตร์คาถาป้องกันตัวมาด้วย ตอนเด็กออกจะเป็นนักเลง แต่ก็ไม่ข่มเหงใครก่อน ครั้นบิดาเสียอายุเมื่อเขาอายุได้ ๑๓ ปี มารดาได้แต่งงานใหม่ บิดาเลี้ยงเป็นคนดีมีศีลธรรม จึงได้ค่อยกล่อมเกลาให้เขามีนิสัยอ่อนโยนขึ้น
ครั้นเป็นหนุ่มอายุได้ ๑๘ ปีก็ได้ทำงานล่องเรือค้าขายไปถึงสวรรคโลกและกำแพงเพชร ทำงานได้สักปีก็ได้งานในเรือกำปั่น ได้แล่นเรือไปถึงซัวเถา ฮ่องกง เอ้หมึง และเซี่ยงไฮ้ ถือได้ว่าเป็นช่วงสั่งสมประสบการณ์อันดียิ่ง
จากนั้นจึงได้เข้าบวชเรียนที่วัดบวรนิเวศนานถึง ๔ พรรษา ได้มีโอกาสใกล้ชิดนักปราชญ์ของยุคอย่าง สมเด็จพระสังฆราช(สา) และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยที่ยังผนวช ก็เสด็จมาประทับที่วัดนี้บ่อยครั้ง
เขาลาสิกขาบทเมื่ออายุเบญจเพศ แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบศึกษาหาความรู้จึงยังซื้อและเช่าหนังสือมาอ่าน และติดตามรับฟังข่าวสารบ้านเมืองอย่างสม่ำเสมอ ช่วงนี้เขาทำอาชีพค้าขาย เดินทางไปมาระหว่างหัวเมืองต่าง ๆ และได้คบหาสมาคมกับผู้คนมากมาย โดยเฉพาะเหล่าเจ้านายและผู้ดีหัวก้าวหน้า
เทียนวรรณถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สิริรวมอายุได้ ๗๓ ปี
ชีวิตส่วนตัว
เทียนวรรณเริ่มเห็นปัญหาว่า การที่พวกเจ้านายและผู้ดีมีเมียมาก เป็นบ่อเกิดแห่งความทุจริต เพราะต้องจับจ่ายใช้สอยมาก รวมทั้งคนแก่ที่มีเมียมาก ก็ไม่สามารถให้ความสุขภรรยาได้อย่างทั่วถึง เทียนวรรณ มีภรรยาทั้งหมด ๓ คน แต่ก็มีครั้งละคน คือ หย่าหรือเลิกกับคนหนึ่งแล้วจึงมีคนถัดมา
งานเขียน
เริ่มเขียนบทความชิ้นแรกเมื่ออายุได้ ๓๐ ปี โดยนำเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงราชการบ้านเมือง เสนอให้เลิกทาส เลิกการพนัน ปราบปรามทุจริตคอรัปชัน และเสนอให้มีสภาผู้แทน บทความเหล่านี้เขาส่งไปลงตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ หากหนังสือพิมพ์ไม่กล้าลงให้ เขาก็แจกให้คนมีฐานะไว้ตีพิมพ์เป็นหนังสืองานศพบ้าง ตีพิมพ์เองบ้าง
ตอนที่อยู่เมืองตราด อายุได้ ๓๓ ปี จึงได้ศึกษาวิชากฎหมายด้วยตนเองอย่างจริงจัง โดยอ่านจากหนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และได้ประกอบอาชีพทนายความ เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย รับว่าความให้แก่คนยากคนจน เขายังได้เสนอเรื่องความเสมอภาคในสิทธิของสตรีอีกด้วย โดยเสนอรัฐบาลในการให้การศึกษาสตรีทัดเทียมกับชาย
เมื่อเทียนวรรณอายุได้ ๔๐ ปี ก็ถูกกลั่นแกล้ง โดยมีผู้กล่าวหาว่าเขาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และหมิ่นประมาทเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตร จึงถูกเฆี่ยน ๔๐ ที และจำคุกไว้อย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้ในช่วงแรก เขาถูกจับใส่ตรวนและขื่อคาทั้งที่ศรีษะ มือ และเท้า จนกระทั่งได้เขียนหนังสือร้องเรียนไปยังกรมหลวงราชบุรีฯ จึงได้มีคำสั่งให้ปลดโซ่ที่คอออกจากนักโทษทุกคน
ช่วงที่ถูกจำคุกนี้ เขายังคงเขียนงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารต่าง ๆ รวมแล้วเป็นจำนวน ๒๘ เรื่องด้วยกัน
ขุนหลวงพระยาไกรสรี(เปล่ง) ได้ช่วยเหลือวิ่งเต้นขอพระราชทานอภัยโทษให้ได้สำเร็จ หลังจากเทียนวรรณถูกจำคุกเป็นเวลาถึง ๑๗ ปี แม้จะได้รับอิสรภาพเมื่ออายุมากแล้ว เขายังไม่หยุดการทำงาน ยังคงเปิดสำนักงานทนายความ และทำหนังสือพิมพ์ "ตุลวิภาคพจนกิจ" ซึ่งหมายใจว่าจะนำเสนอข่าวสารที่ตรงไปตรงมาดุจตราชั่ง กิจการหนังสือพิมพ์ดำเนินอยู่ได้เพียงหกปีก็ต้องปิดตัวลงเพราะขาดทุน
อย่างไรก็ตามเขาก็ยังมิย่อท้อในการนำเสนอความคิดต่อสังคม ยังคงจัดพิมพ์หนังสือชุด ศิริพจนภาค จำนวน ๓๒ เล่ม ซึ่งเป็นการรวบรวมงานเขียนของเขาทั้งหมด ซึ่งมีอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นด้านการเมือง วิจารณ์สังคม และวิจารณ์วรรณกรรม
แนวคิดด้านนโยบายของประเทศ
- ด้านนโยบายต่างประเทศ เขาแนะนำให้รัฐบาลไทยผูกมิตรไมตรีกับจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมัน เพื่อต้านทานจักรพรรดินิยมฝรั่งเศส ในด้านการเมืองเขาเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตย
- ด้านเศรษฐกิจ เขาเรียกร้องให้ยกเลิกบ่อนการพนัน ซึ่งเขาเห็นว่าทำให้พลเมืองโง่เขลา ถูกมอมเมา เกียจคร้าน และเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้ายอื่นๆ ตามมา และเสนอให้ เอาเงินหลวงออกให้ราษฎรกู้ไปทำทุน ส่งเสริมการตั้งโรงงาน การค้นคว้าทรัพยากร ธรรมชาติ
- ด้านการศึกษา เขาเสนอให้รัฐจัดการศึกษาให้ไพร่ และสตรีอย่างเท่าเทียมกับผู้ดีและ บุรุษชักชวนให้ผู้มีเงินหันมาสร้างโรงเรียนแทนวัด ต้านโครงสร้างสังคมที่เขาเห็นว่า ต้องปฏิรูประบบราชการเพื่อปราบการทุจริตฉ้อฉล การเล่นพรรคเล่นพวก และ ความไม่ยุติธรรม
ข้อมูลอ้างอิง
ชีวประวัติเทียนวรรณ
เทียนวรรณ โดย สงบ สุริยินทร์ ๒๔๙๕
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
ประวัติบุคคลสำคัญของไทย
เทียนวรรณ นักประชาธิปไตย แห่งยุคราชาธิปไตย
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?