ผู้เขียน หัวข้อ: ขุนพันธรักษ์ราชเดช มือปราบจอมขมังเวทย์  (อ่าน 4629 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3910


พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร เขต 8 เป็นนายตำรวจชาวเมืองนครศรีธรรมราช ที่ได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไปในภาคใต้ และในจังหวัดอื่นๆ ที่ท่านไปดำรงตำแหน่งอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝีมือในการปราบปรามโจรผู้ร้าย นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้สนใจวิชาการทั่วไป โดยสนใจทางด้านประวัติศาสตร์คติชนวิทยาและไสยศาสตร์เป็นพิเศษ มีข้อเขียนปรากฏอยู่ในหนังสือ และวารสารต่างๆ หลายเรื่อง ปัจจุบันคนทั่วไปนิยมเรียกท่านสั้นๆ ว่า " ท่านขุน "

เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า "วีรบุรุษพริกขี้หนู" มือปราบเสือที่เลื่องชื่อในอดีต บั้นปลายชีวิตกลายเป็นฆราวาสจอมขมังเวทย์ ที่มีผู้ให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก วัตถุมงคลหลายรุ่นต้องเชิญให้ท่านไปเป็นเจ้าพิธีกรรม หรือเป็นประธานการจัดสร้าง ล่าสุดวัตถุมงคล "รุ่น 9 รอบ 9 พิธี 108 ปี ขุนพันธ์" ซึ่งกำลังเป็นที่แสวงหาของนักสะสม

ประวัติขุนพันธรักษ์ราชเดช

พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช มีชื่อเดิมว่า บุตร พันธรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2446 ที่บ้านอ้ายเขียว หมู่ที่ 5 ตำบลดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอ้วน นางทองจันทร์ พันธรักษ์ เริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกกับบิดา ตั้งแต่ ก ข ก กา ไปจนจบ พออ่านสมุดข่อยได้บ้างจึงได้เข้าเรียนที่วัดอ้ายเขียวกับอาจารย์ปานซึ่งเป็นสมภาร และอาจารย์นาม สมภารรูปต่อมา และที่วัดอ้ายเขียวนี้เองท่านได้เรียนกับครูฆราวาสคนหนึ่งด้วย ชื่อนายหีด เป็นชาวอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งอาจารย์ปานได้พามาอยู่ที่วัดนี้ เป็นผู้ที่มีความรู้ ใครๆ เรียกกันว่าหลวงหีด นายหีดได้สอนหนังสือไทยแบบใหม่ให้ คือ ใช้แบบเรียนเร็ว เล่ม 1-2-3 จนท่านขุนมีความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่ในเกณฑ์ดี หลังจากนั้นท่านจึงเข้าสู่การศึกษาระบบโรงเรียน โดยเริ่มเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดสวนป่าน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากท่านมีความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่แล้วก่อนที่จะเข้าโรงเรียน ดังนั้นเมื่อเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ได้ 1 วัน ทางโรงเรียนก็เลื่อนชั้นให้เรียนในชั้นประถมปีที่ 2 และวันรุ่งขึ้นก็เลื่อนชั้นให้เรียนชั้นประถมปีที่ 3 เป็นอันว่าท่านเข้าโรงเรียนได้เพียง 3 วัน ได้เลื่อนชั้นถึง 3 ครั้ง

เมื่อครั้งเรียนชั้นประถมปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสวนป่าน มีพระภิกษุอินทร์ รัตนวิจิตร เป็นผู้สอน เรียนอยู่ประมาณ 2 เดือน โรงเรียนนั้นก็ถูกยุบ ท่านจึงเข้าเรียนในชั้นเดิม ที่โรงเรียนวัดพระนคร ตำบลพระเสื้อเมือง (ปัจจุบันคือตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีครูเพิ่ม ณ นคร เป็นครูประจำชั้น เรียนจบชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน

ในปี พ.ศ.2456 ได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (โรงเรียนเบจมราชูทิศในปัจจุบัน) พอเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 ได้ไม่กี่เดือนก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราด ต้องพักรักษาตัวปีกว่า เมื่อหายจึงคิดจะกลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเดิมแต่ปรากฏว่าเพื่อนๆ ที่เคยเรียนด้วยกันเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 และปีที่ 3 แล้ว จึงเปลี่ยนใจเดินทางเข้าไปศึกษาที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2459 โดยไปอยู่กับพระปลัดพลับ บุณยเกียรติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า ที่วัดส้มเกลี้ยง (วัดราชผาติการาม) ได้เรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ขณะเรียนที่โรงเรียนนี้ได้เรียนวิชามวย ยูโด และยิมนาสติก จนมีความชำนาญพอสมควร ท่านสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ 8 ในปี พ.ศ.2467 ต่อมาในปี 2468 จึงได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม ขณะที่เรียนได้เป็นครูมวยไทยด้วย เรียนอยู่ 5 ปี สำเร็จหลักสูตรในปี พ.ศ.2472

พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 5 ก.ค.2549 ด้วยโรคชรา สิริอายุ 108 ปี ขณะนี้ศพตั้งสวดพระอภิธรรมอยู่ที่วัดพระมหาธาตุฯ จ.นครศรีธรรมราช สร้างความอาลัยให้แก่ญาติมิตรและลูกศิษย์ลูกหา ปิดฉากชีวิตวีรบุรุษพริกขี้หนู ฆราวาสจอมขมังเวทที่เลื่องชื่อ

บทบาทการเป็นตำรวจ

หลังจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ จ.นครปฐมในปี 2472 ทางการได้ย้ายให้ไปประจำตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยในปี 2474 ย้ายไปอยู่ จ.พัทลุง สร้างผลงานปราบปรามเสือสังกับเสือพุ่มนักโทษแหกคุก และยังวิสามัญคนร้ายคดีสำคัญอีก 16 ราย ต่อมาในปี 2476 มีหัวหน้าโจรชื่อ "อะแวสะดอตาเละ" ตั้งแก๊งออกปล้นฆ่าผู้คนในพื้นที่ จ.นราธิวาส ทางการได้ส่งขุนพันธรักษ์ราชเดชลงไปปราบปรามจนราบคาบ สามารถจับหัวหน้าโจรเอาไว้ได้ กระทั่งได้รับการยกย่องจากชาวไทยมุสลิมกันอย่างกว้างขวาง

หลังจากนั้นในปี 2482 ย้ายกลับมาอยู่ จ.พัทลุง อีกครั้ง ปราบปรามคนร้ายสำคัญ คือเสือสายและเสือเอิบ ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้กำกับตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตรปี 2486 ปราบเสื้อโน้ม ถัดมาปี 2489 ถูกย้ายไปเป็นผู้กำกับตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท พร้อมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้อำนวยการกองปราบพิเศษของกรมตำรวจขณะนั้น ลุยปราบชุมโจรสุพรรณบุรี อาทิ เสือฝ้าย เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือไหว เสือมเหศวร รวมทั้งเสือไกร และเสือวัน แห่งชุมโจรอำเภอพรานกระต่าย จนได้รับฉายาจากชุมเสือว่า "ขุนพันดาบแดง" ต่อมาย้ายไปอยู่พัทลุงอีกครั้ง เพื่อปราบปรามชุมโจรเกิดใหม่ กระทั่ง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 เวลาต่อมา ก่อนจะเกษียณราชการ

ด้วยความดีความชอบในหน้าที่ราชการ ท่านจึงได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพันตำรวจโทในปี พ.ศ.2493 ท่านอยู่พัทลุงได้ 2 ปีเศษ จนถึง พ.ศ.2494 จึงได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2503 จึงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ.2507

ขุนพันธรักษ์ราชเดช นอกจากจะเป็นนายตำรวจมือปราบแล้วยังเป็นนักประวัติศาสตร์ ตลอดชีวิตรับราชการได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่มากมาย แม้จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ก็ยังสร้างคุณประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง ในปี 2512 ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้หนึ่งที่สนใจในเรื่องไสยศาสตร์เป็นพิเศษ รวมทั้งมักจะได้รับเชิญให้ไปเป็นประธานในพิธีกรรมปลุกเสกพระเครื่อง เป็นประจำ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย อาทิ พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล อดีต ผบช.ประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.สามชาย อ่วมถนอม รอง ผบก.ภ.จ. นครศรีธรรมราช

บทบาทอื่นๆ

นอกจากงานด้านปราบปรามซึ่งเป็นงานที่ท่านถนัดและสร้างชื่อเสียงให้ท่านเป็นพิเศษแล้ว ท่านยังได้พัฒนาเมืองพัทลุงให้เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยปรับปรุงชายทะเลตำบลลำปำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และให้มีตำรวจคอยตรวจตรารักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารรถไฟที่เข้าออกเมืองพัทลุง ทำให้เมืองพัทลุงในสมัยที่ท่านเป็นผู้กำกับการตำรวจ มีความสงบสุขน่าอยู่ขึ้นมาก ตำรวจที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เลิกไปเมื่อกรมตำรวจจัดตั้งกองตำรวจรถไฟขึ้น

ขุนพันธรักษ์ราชเดช ยังมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สำคัญซึ่งควรกล่าวถึงคือ เป็นนักวิชาการที่สำคัญคนหนึ่ง ท่านเป็นทั้งนักอ่านและนักเขียน ได้เขียนเรื่องราวต่างๆ ลงพิมพ์ในหนังสือและวารสารต่างๆ หลายเรื่อง ขุนพันธ์เป็นคนหนึ่งที่มีความสนใจในเรื่องไสยศาสตร์อยู่มาก เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ นอกจากนั้นก็มีเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั้งประวัติบุคคลและสถานที่ ตำนานท้องถิ่น มวย และเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง



ข้อมูลจาก http://khwunchai.is.in.th/?md=content&ma=show&id=6
ภาพจาก www.matichon.co.th