ผู้เขียน หัวข้อ: ปัจจัยแห่งความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษาไทยคืออะไร  (อ่าน 3895 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3928
ปัจจัยแห่งความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษาไทยคืออะไร
เพชร  เหมือนพันธุ์


          จำเลยของความล้มเหลวทางการศึกษาไทยที่ถูกกล่าวหามาโดยตลอด คือ การไม่กระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปให้ท้องถิ่น การกระจายอำนาจจึงเป็นปัจจัยทางความเชื่ออย่างหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุให้เกิดความล้มเหลว การไม่กระจายอำนาจจึงตกเป็นจำเลยทุกครั้ง การจะปฏิรูปการศึกษาจึงต้องกลับไปรื้อโครงสร้างของกระทรวงฯ แล้วก็ออกแบบการกระจาย อำนาจตามแบบของบางประเทศ ส่วนปัจจัยที่เป็นจำเลย อื่นๆ คือ คุณภาพของครู วิธีสอนของครู หลักสูตร การวัดประเมินผล

          การกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะคำว่าท้องถิ่น (Local) ของไทยกับท้องถิ่นในต่างประเทศนั้นไม่เหมือนกัน ในต่างประเทศท้องถิ่นหมายถึงรัฐบาลของท้องถิ่น (State Government หรือ Province Government)  ส่วนท้องถิ่นของไทยเป็นแบบ "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" (Local Administrative Organization) สังกัดที่กระทรวงมหาดไทย การเกิดหรือที่มาของท้องถิ่นของต่างประเทศกับของไทยก็ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะองค์การปกครองส่วนตำบล และองค์การปกครองส่วนจังหวัดของเรา เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2540 มีอายุได้ไม่ถึง 20 ปี วัฒนธรรมองค์กรยังไม่เข้มแข็ง ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นของต่างประเทศ (State Government) เขาสามารถดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง สามารถกำหนดอนาคตของคนในชุมชนของท้องถิ่นตนเองได้โดยคณะผู้บริหารรัฐบาลท้องถิ่น ที่คนในท้องถิ่นที่คนในชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้เลือกเข้ามา เพื่อมาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลของท้องถิ่น (Local Government หรือ Province Government)

          ประเทศที่พอมองเห็นความเป็นองค์กรบริหารของท้องถิ่นที่ชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น เขากระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปให้ท้องถิ่นดูแลรับผิดชอบได้ถูกต้องเพราะท้องถิ่นเขามีวัฒนธรรมองค์กรมานาน  ท้องถิ่นของประเทศไทย ถูกปกครองโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ของกระทรวงมหาดไทย บริหารงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผู้ดูแลสูงสุดคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ดังนั้นการกระจายอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการของไทยไปให้ท้องถิ่นจึงไปไม่ถึงท้องถิ่น เพราะสุดท้ายแล้วกลับคืนมาอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนจากกระทรวงศึกษาธิการ ไปอยู่กระทรวงมหาดไทย เป็นการพายเรือในอ่าง

          นักวางแผนทางการศึกษาใน คสช.บอกว่า จะกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปให้กับ กรรมการการศึกษาจังหวัด (กศจ.) ซึ่งเป็นองค์กรท้องถิ่นของจังหวัดจริงๆ ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทย ไม่ทราบว่าจะทำให้เชื่อได้อย่างไร เพราะเห็นรายชื่อแล้วไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในการจัดการศึกษาบุคลากรที่มาทำงานเป็น กศจ. เป็นคณะบุคคลที่ถูกผู้มีอำนาจแต่งตั้งมา จึงไม่ได้เป็นตัวแทนขององค์กรทางการศึกษาใดในจังหวัด ไม่ได้เป็น Stakeholder หลายคนเป็นได้เพียงผู้รอรับการบริโภค (Consumer)แต่ถูกเลือกให้เข้ามาควบคุมการผลิตยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะขบวนการจัดการศึกษาต้องใช้มืออาชีพ จะใช้เพียงความรู้สึกไม่ได้ หากในอนาคตจะมีการเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกกรรมการการศึกษาจังหวัด คุณสมบัติของสมาชิกจะต้องมาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจริง (Real Stakeholder) หรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาในจังหวัดอย่างแท้จริง

          บทเรียนที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ตัวอย่างองค์กรที่ผู้มีส่วนได้เสียจริงๆ หรือ Real Stakeholder ที่ไม่ประสบผลสำเร็จของไทย คือ กรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ แม้ว่าจะถูกเลือกมาจากผู้ที่เป็นเจ้าของสหกรณ์ (สมาชิกสหกรณ์) แต่เมื่อได้รับเลือกมาเป็นแล้ว บางส่วนบางคน ก็ยังเข้ามาถอนทุนคืน รับโบนัสยังไม่พอ เบี้ยประชุมอนุกรรมการทุกอย่างเบิกเงินได้ทุกการประชุม วันละหลายๆ ฟลอร์ ก็จะต้องเบิกเบี้ยประชุมทุกฟลอร์ ดูแลแต่ผลประโยชน์ของตนเอง

          ส่วนเรื่องให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลนั้น ควรทำนานแล้วและควรให้เป็นนิติบุคคลได้จริง ไม่ใช่ยื่นให้แล้วชักคืนเหมือนเอาเหยื่อเสียบเบ็ดไว้ล่อปลา พอปลาจะกลืนก็ดึงเหยื่อคืน ที่เห็นและเป็นมาเป็นแบบนั้น เพราะโรงเรียนไม่เป็นนิติบุคคลจริง การใช้เงินงบประมาณก็ไม่มีอิสระต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสำนักงบประมาณ งานบุคคลก็ไม่มีอิสระจะย้าย จะบรรจุ จะแต่งตั้งคนอื่นทำให้หมด งานวิชาการก็ยังส่งคนมาครอบ แล้วบอกว่าให้เป็นนิติบุคคล ไม่รู้ว่าจะเป็นได้กี่เปอร์เซ็นต์ แม่ทัพหากไม่มีอิสระสั่งการก็จะมีแต่แพ้เท่านั้น การศึกษาไทยเป็นเช่นนั้น

          ส่วนคณะกรรมการสถานศึกษา ที่จะให้เข้ามามีอำนาจเลือกผู้บริหาร เลือกบรรจุโยกย้ายครูยิ่งน่าเป็นห่วง ปัจจุบัน ในโรงเรียนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ห่างไกล จะหาคนมาเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาก็หาได้ยาก ต้องไปขอร้องอ้อนวอนให้มาเป็น นี่เห็นว่าจะติดปีกให้กับกรรมการศึกษาอีก จะให้ไปอบรม ไปเรียนเพิ่มเติม ดูแล้วน่าเป็นห่วงยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการแทนที่จะดูแลแต่การศึกษาในโรงเรียน กลับจะต้องมาดูแลให้การอบรมกับคณะกรรมการสถานศึกษาอีก เมื่อได้เป็นแล้วก็จะมาเรียกร้องสิทธิอีก น่ากังวลยิ่ง ออกแบบให้ดีก็แล้วกัน บ้านอื่นประเทศอื่นเขาตั้งกรรมการสถานศึกษาไม่ยากเลย ไปดูตัวอย่างเวียดนามได้ เขาเอาตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนในชั้นเรียนของโรงเรียนนั้นแหละเลือกกันเองเข้ามาเป็นคณะกรรมการการศึกษา

          นโยบายที่ให้เรียนฟรีไปถึง 15 ปี จัดการศึกษาแบบให้เปล่าตั้งแต่วัยเยาว์จนจบชั้น ม.ปลาย นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเยี่ยมเด็กก่อนวัยเรียนในชนบทจะได้ไม่ถูกทิ้ง แต่ให้ระวังเพราะเด็กก่อนวัยเรียน มีแต่กิจกรรมการเล่นเพื่อเตรียมความพร้อม ส่งเสริมในสิ่งที่เด็กให้ความสนใจ พัฒนาตามพัฒนาการของเด็ก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็ก ม.ต้นถูกทิ้ง ครูและโรงเรียนไม่ให้ความสนใจ ทำให้เด็กขาดทักษะที่จะเรียนรู้ทักษะชีวิตที่จำเป็นในการดำรงชีพ การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นควรให้ความสำคัญกับการลงมือปฏิบัติ ได้ฝึกงาน เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่อยากดู อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากมีส่วนร่วม อยากช่วย อยากแสวงหาอาชีพที่แปลกใหม่อย่างท้าทาย มีพลังงานเหลือเฟือ เด็กใน ม.ต้นสมควรได้ฝึกงาน ฝึกการทำงานในสถานประกอบการจริงเพื่อให้ได้สัมผัสกับโลกอาชีพ ส่วนชั้น ม.ปลายต้องได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตใน ศตวรรษที่ 21 เด็กแต่ละคนต้องรู้ว่าในอนาคตเขาควรจะไปประกอบอาชีพอะไรตั้งแต่อยู่ในระดับชั้น ม.4 แล้วเดินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องรู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

          ในระดับชั้น ม.ต้น เด็กของเกาหลีใต้ ในญี่ปุ่น เด็กจะได้ออกไปศึกษาดูงานในสถานประกอบการจริง และได้ฝึกงานในสถานประกอบการจริง  เด็กเกาหลี 1 ภาคเรียนเด็กจะได้ออกไปดูงานในสถานประกอบการจริงประมาณ 20 ครั้ง เด็กญี่ปุ่น ในระดับชั้น ม.1 เด็กและผู้ปกครองจะมองหาสถานที่ฝึกงานให้ลูกตลอดปีการศึกษา พอขึ้นชั้น ม.2 เด็กจะได้ออกไปฝึกงานในสถานประกอบการที่นักเรียนร่วมกับพ่อแม่ ครู และโรงเรียนได้ร่วมกันเลือก โดยโรงเรียนต้องไปสร้างสายสัมพันธ์ไว้กับสถานประกอบการในชุมชนไว้หลายๆ แห่งเพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการให้การศึกษาแก่เยาวชนด้วย เด็ก ม.2 ของญี่ปุ่นแต่ละคนจะได้ฝึกงานไม่น้อยกว่า 5 วัน เด็กของประเทศสิงคโปร์ (ชั้นมัธยมศึกษามีอยู่พียง 4-5 ปี) เด็กจะได้ออกไปฝึกงานในสถานประกอบการจริงทุกคน มีเด็กบางคนเมื่อเรียนจบชั้น ม.ปลายแล้วสามารถออกไปทำงานได้เลย แต่ขณะทำงานเด็กสิงคโปร์ก็ยังต้องการเรียนหนังสือในระดับที่สูงขึ้น ตลอดเวลา

          หลักสูตรและวิธีสอนในสถานการศึกษาไทยในปัจจุบัน เป็นความรู้และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 19-20 มันตกสมัยไปแล้ว การจัดการเรียนการสอนยุคนั้นคือการยัดไส้กรอก วิทยาการต่างๆที่มีอยู่ในหลักสูตรครูจะหยิบมายัดใส่หรือบรรจุลงไปในสมองของเด็กให้ครบถือว่าสอนจบหลักสูตร ส่วนเวลาสอบวัดประเมินผลก็ ให้สอบวัดประเมินผลว่า สิ่งที่ครูยัดความรู้เข้าไปในสมองเด็กยังเหลืออยู่ครบหรือไม่เพียงใด

          การวัดผลการเรียนรู้ระบบเก่า เครื่องมือที่ใช้สอบวัดความรู้ของเด็ก คือ ข้อสอบแบบ ปรนัย ซึ่งแพร่หลายในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 จนถึงปัจจุบัน มีอายุนับได้ถึงครึ่งศตวรรษ 50 ปีหรือ 5 ทศวรรษ ตกสมัยไปแล้ว หากเปรียบข้อสอบปรนัยเป็นเครื่องมือจับปลา ก็คงจะเปรียบได้เพียงสวิงจับปลาเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถจังปลาตัวใหญ่เช่นปลาช่อน ปลาชะโด ปลาบึก หรือปลาวาล การวัดผลการศึกษาไทยจึงจับได้แต่ปลาเล็กปลาซิวปลาสร้อย

          ตัวอย่างของประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการสอบวัดผลเช่น ฟินแลนด์ เยอรมัน หรือเวียดนาม ข้อสอบจะเป็นแบบอัตนัย  ส่วนปรนัยแทบไม่มีใช้ในการสอบวัดประเมินความรอบรู้ของนักเรียน  ในฟินแลนด์ข้อสอบที่เป็นซอยส์ แทบไม่มีให้เห็นเพราะเข้าใช้ขอสอบอัตนัยทั้งนั้น ผู้เขียนมีลูกไปเรียนเยอรมัน 3 คน ลูกบอกว่าข้อสอบ ปรนัยไม่มีเลยพ่อ ส่วนการสอบวัดผลในประเทศอังกฤษ ท่าน นายแพทย์ธีรเกียรติ์ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.กระทรวงศึกษาฯ ท่านบอกว่า ส่วนมากใช้ข้อสอบแบบอัตนัยทั้งนั้น แล้วประเทศไทยจะเลิกใช้ข้อสอบปรนัยได้หรือยังครับ

          ประเทศที่ประสบผลสำเร็จเขาจะเรียนในห้องเรียนน้อยที่สุด เวลานอกนั้นเอาไปเรียนนอกห้องเรียน เอาไปฝึกงานเพื่อให้เกิดทักษะ ให้เด็กได้ทำกิจกรรมได้เล่นให้เล่นแบบมีโครงสร้าง (แบบญี่ปุ่นซึ่งต้องมีการวางแผนการเล่นและต้องเล่นเพื่อวังชัยชนะทุกครั้ง) เอาเวลาเรียนในห้องลงหรือออกไปฝึกงานภาคสนามหรือภาคลงมือปฏิบัติจริง ให้เด็กได้ลงมือทำจริง ได้วางแผนการทำงาน ได้แก้ปัญหาที่เกิดจากการทำงาน และจะได้เรียนรู้ทักษะชีวิตอย่างแท้จริง

          สังคมไทยต้องกล้าที่จะต้องพูดความจริงกล้าที่จะรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ต้องใช้ความจริงมาตัดสินใจ อย่าใช้เพียงความรู้สึกหรือคิดเอาเอง กล้าบอกให้รู้ว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ผ่านมาในอดีตนั้น ไม่ใช้การศึกษาเป็นเพียงการกรอกความรู้ให้เด็ก เด็กไทยจึงคิดอะไรไม่ได้ แก้ปัญหาไม่เป็น รอคำสั่ง ไม่อดทน ไม่มีความรับผิดชอบ ฯ

          --มติชน ฉบับวันที่ 10 ส.ค. 2559 (กรอบบ่าย)--