ด้วย ความเคารพต่อดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวร
บทความนี้เพียงต้องการสื่อในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีผู้บันทึกไว้
มิได้มีเจตนาลบหลู่ดูหมิ่นพระเกียรติยศแต่ประการใด
หลังจากที่พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน เสด็จสวรรคตแล้ว บรรดาขุนนางกราบทูลวิงวอนให้พระนเรศทรงรับราชสมบัติเสด็จผ่านพิภพ พวกขุนนางกราบทูลถวายความเห็นว่า นอกจากจะทรงบำเพ็ญพระราชกิจไว้มากหลายแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในรัชกาลของสมเด็จพระราชบิดา และทรงดำรงตำแหน่งฝ่ายหน้าหรือพระราชโอรสลำดับต้น และเป็นองค์รัชทายาทที่ชิดราชบัลลังก์ที่สุด แต่พระนเรศไม่มีพระราชประสงค์จะเสวยราชสมบัติ จึงตรัสขึ้นว่าพระองค์ทรงแปดเปื้อนโลหิตมามากคงจะต้องปกครองกันอย่างเข้มงวด เด็ดขาด
ดังนั้นจึงมีพระราชประสงค์ให้พระอนุช (Prae Anoet พระอนุชา) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นฝ่ายหลัง หรือราชโอรสที่จะเสวยราชในลำดับถัดไป พระอนุชาและบรรดาขุนนางทรงทราบดีว่าพระนเรศทรงทักท้วงขึ้นเพื่อลองใจพวกขุน นาง ดังนั้นถ้าใครเห็นคล้อยกับข้อทักท้วงของพระองค์ท่านอาจได้รับอันตรายขึ้นได้ ทั้งหมดจึงยืนกรานตามข้อที่กราบบังคมทูลถวายความเห็นไว้แต่เดิม พระนเรศทรงยกเปรียบเทียบพระเมตตาของสมเด็จพระราชบิดาที่สวรรคตไปแล้วกับ ทัศนะอันรุนแรงแข็งกร้าวของพระองค์ แต่ยิ่งพระองค์ทรงทักท้วงมากขึ้นเพียงใด พวกขุนนางยิ่งไม่กล้าเลือกพระอนุชาคือฝ่ายหลัง ให้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ท้ายที่สุดพระนเรศจึงตรัสขึ้นว่า ?ถ้าเช่นนั้นพวกเจ้าต้องการให้ข้าขึ้นเป็นกษัตริย์ของพวกเจ้าจริง ?? พระอนุชาและขุนนางกราบทูลขึ้นพร้อมกันว่า ?ขอพระองค์จงรับเป็นพระเจ้าอยู่หัวของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด พวกข้าพระพุทธเจ้าจักขอเป็นข้าบาทแห่งพระองค์ (ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรด ๆ )? พระนเรศตรัสตอบว่า ?ดังนั้น ข้าขอให้พวกเจ้าจงนบนอบเชื่อฟังข้า ปฏิบัติตามพระราชกำหนดกฎหมายบ้านเมือง รักษากฎหมายอย่าฝ่าฝืน ใครที่ล่วงละเมิดพระราชกำหนดกฎหมายแม้แต่เล็กน้อย จะถูกประหาร? แล้วจึงมีรับสั่งให้จัดเรือหลวงพระที่นั่งให้พร้อม และเสด็จด้วยเรือพร้อมกับขุนนางไปยังพะเนียด (สถานที่ไว้ช้างและกษัตริย์หลายพระองค์ใช้ราชาภิเศก) เพื่อสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ และถือน้ำพระพิพัฒสัจจาต่อพระองค์
เมื่อเสด็จถึงพะเนียด ฝีพายเรือพระที่นั่งพระนเรศเข้าเทียบเรือผิด แต่ขณะนั้นพระองค์ยังมิได้ทรงลงพระอาญา ได้ทรงราชาภิเศกตามขัตติยราชประเพณี เมื่อพระชนม์ 35 พรรษา ทรงพระนามพระนเรศราชาธิราช (Prae Naerith Raetisia Thieraij) เมื่อเสร็จพระราชพิธีราชาภิเศกแล้ว พระองค์ตรัสให้เอาฝีพายประจำเรือพระที่นั่งอีกทั้งพวกฝีพายในเรือหลวงลำ อื่นๆ (ประมาณ 1,600 คน) ไปเผาเสียทั้งเป็น ณ สถานที่เดียวกันนั้น มีพระดำรัสกับขุนนางว่าเป็นพระราชประสงค์จะให้พวกขุนนางจดจำการลงพระราชอาญา นี้ไว้เป็นเยี่ยงอย่างการปกครองของพระองค์แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับพระราชวัง นี่อาจเป็นที่มาของอีกสมัญญานามว่า "ราชาแห่งไฟ"
พระนเรศราชาธิราชนั้น พวกมลายูเรียกพระองค์ว่า ?ราชาอภัย? ส่วนชาวสยามเอ่ยพระนามว่า ?พระองค์ดำ?เท่าที่เคยมีมาในสยามนั้น นับว่าในรัชสมัยของพระองค์ทรงปกครองอย่างทหารและเข้มงวดกวดขันที่สุด มีเรื่องเล่าและตัวประจักษ์พยานที่ยังมีชีวิตอยู่มากหลาย กล่าวว่า ในรัชกาล 20 ปีของพระองค์นั้น ทรงประหารและให้ประหารตามคำพิพากษาเสียกว่า 80,000 คน ทั้งนี้ไม่รวมถึงผู้ที่เสียชีวิตไปในการสงคราม ตลอดเวลาไม่ว่าจะทรงช้าง ทรงม้า ประทับเรือพระที่นั่งทรง หรือแม้แต่ประทับบนราชบัลลังก์เสด็จออกขุนนางก็จะทรงมีพระแสงไว้ มักจะทรงวางแล่งธนูไว้บนพระเพลาและถือพระแสงธนูไว้ในพระหัตถ์ เมื่อทอดพระเนตรเห็นบุคคลใดทำสิ่งไม่ถูกพระทัยแม้แต่เล็กน้อย จะทรงยิงลูกธนูไปที่ผู้กระทำผิดและตรัสให้ผู้นั้นนำลูกธนูกลับมาถวาย พระองค์จึงตรัสสั่งให้แล่เนื้อบุคคล (แม้แต่ขุนนาง) ที่ทำความผิดเล็กน้อย และให้ผู้นั้นกินเนื้อของตนเองต่อหน้าพระพักตร์ บางคนต้องบริโภคมูลอุจจาระของตนเอง โดยตรัสอยู่เสมอว่า ?นี่แหละ เป็นวิธีที่จะใช้ปกครองพวกเจ้าชาวสยาม ทั้งนี้เพราะเจ้าเป็นคนมีนิสัยดื้อด้านอย่างน่าชิงชัง อยู่ในภาวะที่ฟอนเฟะเหลวแหลก ข้าจะลงโทษอย่างนี้ต่อพวกเจ้าจนกว่าข้าจะดัดให้เจ้าเป็นชนชาติที่ได้รับความ เคารพยกย่องนับถือ เจ้าเปรียบประดุจต้นหญ้าในท้องทุ่งอันอุดมสมบูรณ์ ยิ่งตัดให้มันสั้นเจ้าก็จะยิ่งขึ้นสวยงาม ข้าจะปรายทองคำไว้ตามท้องถนน ทิ้งไว้อย่างนั้นแหละ หลายๆ เดือน ถ้าใครจ้องจะเอาทองด้วยความละโมบแล้ว จะต้องถูกประหาร?
บางครั้งในเวลาค่ำคืนยามวิกาล พระองค์จะเสด็จประทับเรือเล็ก พายขึ้นล่องไปตามลำแม่น้ำ นอกจากนี้ยังเสด็จไปกับพวกมหาดเล็กไม่กี่คนในยามวิกาลตามท้องถนน เพื่อฟังว่ามีข่าวเลื่องลืออะไรเกิดขึ้นบ้าง และจะได้ทรงทราบว่ามีอะไรดีหรือไม่ดีต่อพระองค์บ้าง พระองค์เป็นกษัตริย์แรกที่ให้ขุนนางคลานเข้าเฝ้าและให้หมอบก้มหน้าไว้ตลอด เวลา ธรรมเนียมการเข้าเฝ้านี้ยังคงถือปฏิบัติมาจนบัดนี้ อย่างไรก็ดีพระองค์ก็ไม่มีพระราชประสงค์ให้คนต่างถิ่นหรือชาวต่างประเทศต้อง ปฏิบัติดังนั้น ทรงโปรดชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวฮอลันดา พระองค์เป็นกษัตริย์สยามองค์แรกที่ส่งคณะทูตานุทูตและถวายพระราชสาส์นแด่ เจ้าชายมอริส แห่งราชวงศ์ออเรนจ์ ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเมื่อทรงโปรดให้คณะทูตต่างประเทศเข้าเฝ้า จะไม่มีพระราชประสงค์ให้คณะทูตต้องเปลี่ยนแปลงประเพณีประจำชาติของตน และหันมาปฏิบัติตามแบบอย่างสยาม โดยตรัสว่า ?พวกท่านเป็นผู้แทนที่บรรดาพระเชษฐาพระอนุชาของเรา จัดส่งให้มา ดังนั้นเราจึงไม่ปราถนาให้ท่านต้องมาถวายพระเกียรติยศให้ยิ่งไปกว่านี้ หรือนบนอบยำเกรงเราให้มากเกินไปกว่าที่ท่านได้เคยถวายแก่พระเจ้าอยู่หัวของ ท่านเอง?
ทรงไต่ถามคณะราชทูตว่าพวกเขารู้ภาษาสยาม มอญ หรือพม่ากันหรือไม่ หากรู้ก็ให้กราบทูลกับพระองค์โดยตรง ถ้าพูดไม่ได้พระองค์จะให้ขุนนางสักคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามให้ เพื่อพระองค์จะทรงเจรจากับคณะราชทูต ได้ทรงขู่จะเอาโทษประหารแก่พวกล่ามหากบิดเบือนประโยคถ้อยคำ หรือไม่แปลให้ถูกต้อง ในยุคนี้พวกชาวต่างประเทศได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพยกย่อง มีพวกเจ้าหน้าที่นำของกำนัลมาให้พวกชาวต่างประเทศ เพื่อจะไม่ไปร้องฟ้องพวกเขาต่อพระเจ้าแผ่นดิน
พวกขุนนางอยู่กันด้วยความเกรงกลัวพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่สุด เมื่อมีรับสั่งให้เข้าไปเฝ้าก็จะจัดบ้านช่องของตนให้เรียบร้อยเสียก่อน เหมือนกับว่าตนกำลังจะไปตาย เพราะพวกขุนนางมักจะกลัวกันจนสยองเกล้าว่าไปเฝ้าแล้วจะไม่ได้กลับบ้านอีก
นี่คือบางส่วนของเรื่องราวที่ไม่มีในประวัติศาสตร์ในพงศาวดารของไทย และอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไม อยุธยาจึงฟื้นกลับมาโดยเร็วและยิ่งใหญ่ได้อีกครั้งในประวัติศาสตร์
อ้างอิง : จดหมายเหตุ วัน วลิต
ที่มา : สถาบันอยุธยาศึกษา