เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙
พระราชกรณียกิจ
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา (อ่าน 5667 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
เมื่อ:
ตุลาคม 22, 2016, 10:03:28 AM
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของ การศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะทรงถือว่า ?การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาชีวิตมนุษย์? ดังจะเห็นได้จากพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียน ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ และเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ รวมทั้งที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙ มีความตามลำดับดังนี้
??การศึกษาเป็นปัจจัยในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล??
??ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของทั้งชีวิตและส่วนรวม คือ การศึกษาซึ่งเป็นรากฐานส่งเสริมความเจริญมั่นคงเกือบทุกอย่างในบุคคล และประเทศชาติ??
??การศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาบุคคลให้มีคุณภาพ ให้เป็นทรัพยากรทางปัญญาที่มีค่าของชาติ??
??งานด้านการศึกษาเป็นงาน สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของชาติเป็นข้อใหญ่ ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีแล้ว ระยะนี้บ้านเมืองของเรามีพลเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นด้วยว่า พลเมืองของเราบางส่วนเสื่อมทรามลงไปในความประพฤติและจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตก ถ้าหากยังคงเป็นอยู่ต่อไป เราอาจจะเอาตัวไม่รอด ปรากฏการณ์เช่นนี้ นอกจากเหตุอื่นแล้ว ต้องมีเหตุมาจากการจัดการศึกษาด้วยอย่างแน่นอน เราต้องจัดงานด้านการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น??
พระบรมราโชวาทที่อัญเชิญมานี้แสดงให้เห็นถึงพระราชดำริที่เล็งเห็นความสำคัญของ การศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราชดำริให้เห็นว่าประเทศชาติจะพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้ ก็ด้วยการพัฒนาบุคคลของชาติให้มีคุณภาพโดยการให้การศึกษา
การศึกษาในระบบโรงเรียน
พระราชกรณียกิจใน ส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้น เริ่มจากใน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ตลอดโรงเรียนร่มเกล้าจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้
ร่วมเรียนด้วย และเมื่อพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรและหน่วยปฏิบัติการทหาร ตำรวจตามบริเวณชายแดนทุรกันดารอยู่เนืองๆ ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนที่เรียนของเด็กและเยาวชน อันเนื่องมาจากการให้บริการของรัฐไม่ทั่วถึง และมีปัญหาเรื่องการแตกแยกในอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้เยาวชนบางส่วนขาดโอกาสทางการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้ทหารช่วยก่อสร้างโรงเรียน เพื่อให้ทหารมีส่วนช่วยเหลือประชาชนด้านการศึกษา ตามโอกาสอันควร โดยให้แม่ทัพภาคเป็นแกนนำในการก่อสร้างโรงเรียนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สนับสนุนการก่อสร้างโรงเรียน พระราชทานนามว่า ?โรงเรียนร่มเกล้าฯ? นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวน ชายแดน สำหรับชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ในดินแดนทุรกันดารห่างไกลการคมนาคม ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ?โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์? อนึ่งพระองค์ยังทรงเล็งเห็นถึงปัญหาของเยาวชนที่ครอบครัวประสบปัญหาเดือด ร้อนจากสาธารณภัย ภัยธรรมชาติ จึงทรงพระเมตตารับอุปถัมภ์ ให้กำลังใจแก่เยาวชนที่ขาดแคลนเหล่านี้ อันได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์และโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ หมายถึงโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยการพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ และให้ความอุปถัมภ์ หรือทรงให้คำแนะนำ ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อ สนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนเป็นประจำ จึงเรียกโรงเรียนประเภทนี้ว่า ?โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์? โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์มีทั้งโรงเรียนของรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน เช่น โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนราชประชาสมาสัย โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย โรงเรียนเพื่อลูกหลานชนบท โรงเรียนร่มเกล้า ฯลฯ
การศึกษานอกระบบโรงเรียน
สำหรับการศึกษาของประชาชนชาวไทยที่อยู่นอกระบบโรงเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับประชาชนที่ อยู่ในชนบทเป็นอย่างมาก ทรงริเริ่มตั้ง ?ศาลารวมใจ? ตามหมู่บ้านชนบทเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่อ่านหนังสือ โดยพระราชทานหนังสือประเภทต่างๆ แก่ห้องสมุด ?ศาลารวมใจ? นอกจากนั้นมีพระราชดำริ จัดทำโครงการพระดาบส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ศาลารวมใจ
?อาศรมของพระดาบส? เป็นพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงห่วงใยประชาชนนอกระบบโรงเรียนที่พลาดโอกาส ในการศึกษา เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่ประชาชนที่มีความรักวิชาการ ใฝ่หาความรู้ใส่ตนเองแต่ไม่สามารถหาที่เรียนได้อาจเนื่องจากการขาดแคลนทุน ทรัพย์ จึงมีพระราชดำริให้การศึกษาแก่ประชาชนประเภทนี้ ให้มีลักษณะเดียวกับการศึกษาในสมัยโบราณ ที่ผู้ต้องการหาวิชาต้องดั้นด้นไปหาพระอาจารย์ ซึ่งเป็นพระดาบสมีสำนักอยู่ในป่า แล้วฝากฝังตัวเป็นศิษย์ สำหรับอาศรมของพระดาบสหรือส่วนใหญ่เรียก ?โรงเรียนพระดาบส? ใช้สถานที่ของสำนักพระราชวัง ณ ๓๘๔?๓๘๙ ถนนสามเสน รับสมัครผู้เรียนไม่จำกัดเพศ วัย วุฒิ ความรู้หรือฐานะ เปิดสอนครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ นักศึกษาที่เรียนสำเร็จการโรงเรียนพระดาบส มีความรู้ความสามารถประกอบอาชีพได้ตามวิชาที่ต้องการ ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในโรงเรียนพระดาบสมีทั้งตำรวจ ทหาร พลเรือน และทหารผ่านศึกที่ทุพพลภาพ ครูผู้สอนส่วนมากเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อาสาสมัคร โดยถือว่าการสอนวิชาความรู้ให้ศิษย์เป็นวิทยาทาน ไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ประชาชนนอกระบบ โรงเรียนนั้นได้แก่ ในขณะที่พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังต่างจังหวัดทุกภาค เฉลี่ยภาคละ ๑ เดือนครึ่ง ระหว่างที่ทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ไต่ถามถึงทุกข์สุข และปัญหาต่างๆ ในการดำรงชีพ แนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้คือ พระราชทานพระราชดำริในลักษณะของการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในพื้นที่ที่ประสบกับ ปัญหานั้นๆ ในขณะเดียวกันก็ใช้พื้นที่นั้นๆ เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและให้ความรู้แก่ประชาชนผู้สนใจทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะทั้งในระบบ นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากพระราชประสงค์ที่ทรงมุ่งหวังพัฒนาความเป็นอยู่ของ ราษฎร ให้สามารถช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ ทรงพิจารณาเห็นว่าการได้เรียนรู้และพบเห็นด้วยประสบการณ์ของตนเองนั้นเป็น วิธีการหนึ่งของการสร้างการเรียนรู้ในการพัฒนาชนบท ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง ?ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ? โดยให้ทำหน้าที่เสมือน ?พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต? เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้า ทดลองวิจัยและแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้นๆ และเมื่อค้นพบพิสูจน์ได้ผลแล้วก็จะนำผลที่ได้ไป ?พัฒนา? สู่ราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียงจนกระทั่งขยายผลแผ่กระจายวงกว้างออกไปตามลำดับ
ในปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีอยู่ทั้งหมด ๖ ศูนย์ กระจายอยู่ในภาคต่าง ๆ ทั้ง ๔ ภาค ดังนี้คือ
๑. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เป็นศูนย์ที่มีเป้าหมายในด้านการศึกษาวิจัย ดินพรุในภาคใต้ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมให้ได้มากที่สุด
๒. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร เป็นศูนย์ที่มีเป้าหมายในด้านพัฒนาอาชีพต่าง ๆ ทั้งทางเกษตร อุตสาหกรรมในครัวเรือนและการพัฒนาหมู่บ้านตัวอย่าง
๓. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นศูนย์ที่มีเป้าหมายในการศึกษา ค้นคว้าเพื่อพัฒนา ปรับปรุง สภาพแวดล้อมด้านประมงชายฝั่งเพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตเพื่อการพึ่ง ตนเองในระยะยาว
๔. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ งานหลักของศูนย์คือการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่าง ๆ ที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อม
๕. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตั้งอยู่ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์นี้มุ่งเน้นการศึกษาแนวทาง วิธีการที่จะพัฒนาฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม โดยพยายามหาวิธีการจะให้เกษตรกรมีส่วนในการปลูก ปรับปรุง และรักษาสภาพป่าพร้อมกับมีรายได้ และผลประโยชน์จากป่าด้วยในขณะเดียวกัน
๖. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา งานหลักคือการค้นคว้า ทดลอง สาธิตเกี่ยวกับการพัฒนาที่ทำกินของราษฎรให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของพืชหลายชนิด
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใดก็สามารถค้นหาอ่านทราบโดย สะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเอง ของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครูและที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วยคลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี จึงมีพระราชดำรัสให้ตั้งโครงการสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชนฯ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๑ ซึ่งดำเนินการสร้างหนังสือสารานุกรมฉบับใหม่อีกชุดหนึ่ง มีความมุ่งหมายที่จะนำวิชาการแขนงต่าง ๆ ที่ควรศึกษา ออกเผยแพร่แก่เยาวชนให้แพร่หลายทั่วถึงเพื่อเยาวชนจักได้หาความรู้ช่วยตัว เอง ได้จากการอ่านหนังสือ และเพื่อให้ได้ประโยชน์อันกว้างขวางยิ่งขึ้น ทรงกำหนดหลักการทำคำอธิบายเรื่องต่างๆ แต่ละเรื่องเป็นสามตอนหรือสามระดับสำหรับให้เด็กรุ่นเล็กอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง สำหรับเด็กรุ่นกลางอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง และสำหรับเด็กรุ่นใหญ่รวมถึงผู้ใหญ่สนใจอ่านได้อีกระดับหนึ่ง เพื่ออำนวยโอกาสให้บิดามารดาสามารถใช้หนังสือนั้นเป็นเครื่องมือแนะนำวิชา แก่บุตรธิดาและให้พี่แนะนำวิชาแก่น้องเป็นลำดับกันลงไป นอกจากนั้น เมื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องถึงเรื่องอื่น ๆ ก็ให้อ้างอิงถึงเรื่องนั้น ๆ ด้วยทุกเรื่องไป ด้วยประสงค์จะให้ผู้ศึกษาทราบตระหนักว่าวิชาการแต่ละสาขามีความสัมพันธ์ เกี่ยวเนื่องถึงกัน พึงจะศึกษาให้ครบถ้วนทั่วถึง
โดยได้มีการจัดแบ่งวิทยาการของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนออกเป็น ๔ สาขา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ พร้อมกับกำหนดหัวข้อเรื่อง และวิทยากรผู้เขียนเรื่องต่าง ๆ ของแต่ละสาขาวิชา และในปัจจุบันได้มีการจัดพิมพ์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนแล้ว รวม ๒๖ เล่ม
ทุนพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ทรงมองซึ้งถึงปัญหาและแนวทาง ตลอดจนพร้อมที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนับสนุนการศึกษาในทุก ๆ ด้าน ทรงทราบดีว่าเด็กและเยาวชนของไทยมิได้ขาดสติปัญญาที่จะเล่าเรียน แต่ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์ และอีกประการหนึ่งก็คือทรงตระหนักถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมามีบทบาทและอิทธิพลต่อแนวคิด จิตใจ และการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างมาก การจะก้าวให้ทันวิวัฒนาการและความเจริญสมัย
ใหม่เหล่านี้ ในหลวงส่วนหนึ่งจำเป็นต้องส่งคนไปศึกษาและดูงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อนำความรู้มาเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดการพัฒนาในวิทยาการ ต่าง ๆ ของประเทศ พร้อมกับจัดเตรียมความรู้ขั้นพื้นฐาน สำหรับผู้ที่จะเข้ามารองรับความรู้เหล่านั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งกองทุนการศึกษาขั้นหลายทุน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งการให้ทุนแต่ละทุนได้มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป ดังนี้
๑. ทุนมูลนิธิ ?ภูมิพล?
ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๙๕ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตั้งเป็นทุน ?ภูมิพล? ขึ้น เพื่อเก็บดอกผลพระราชทานเป็นทุนแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผู้เรียนดี แต่ขัดสนทุนทรัพย์ ทุนนี้จะให้แก่นักศึกษาคนละ ๒๐๐ บาท ต่อเดือน เป็นเวลา ๑ ปี (พระเจ้าอยู่หัวของเราฯ (๑๓), หน้า ๓๒)
นอกจากนี้ได้พระราชทานทุนการศึกษาให้แก่บัณฑิตที่สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมใน สาขาวิชาต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นรางวัลแก่นิสิตนักศึกษาที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมกำลังใจ และการศึกษาของนิสิตนักศึกษาให้มีความมานะอุตสาหะต่อการศึกษามากขึ้น และยังได้พระราชทานเป็นรางวัลด้านอื่น ๆ อีกด้วย อาทิ การแต่งหนังสือ การแต่งเรียงความ ต่อมาได้พระราชทานทุนขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ดังในคราวเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรเดิม) เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ตั้งเป็นทุนมูลนิธิ ?ภูมิพล) และได้ตราระเบียบลงวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๑ แบ่งเป็นทุน ๒ ประเภท ได้แก่
(ก) ทุนประเภทช่วยเหลือการศึกษา
(ข) ทุนประเภทช่วยเหลือการทำปริญญานิพนธ์หรือการวิจัย
๒. ทุนมูลนิธิ ?อานันทมหิดล?
the_king_and_anantamahidol_scholarshipพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าประเทศไทยเราต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ในวิชาเทคนิคชั้นสูง เพื่อมาช่วยพัฒนาประเทศมากขึ้น จึงควรส่งเสริมนิสิตนักศึกษา ที่มีความสามารถอย่างยอดเยี่ยมให้มีโอกาสไปศึกษาต่อในวิชาชั้นสูงบางวิชา ณ ต่างประเทศ เมื่อสำเร็จแล้วได้ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เรียนมาต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองดำเนินการด้วยการพระราชทาน ?ทุนอานันทมหิดล? ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ แก่นักศึกษาแพทย์ตามรอยพระบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ต่อมาทรงเห็นว่าได้ผลสมพระราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จดทะเบียนตราสารทุนอานันทมหิดล เป็น ?มูลนิธิอานันทมหิดล? เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยพระราชทานทุนเริ่มแรกจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท มีผู้ได้รับพระราชทานทุนสาขาแพทยศาสตร์ในขณะนั้น ๓ ราย และต่อมาเนื่องจากความต้องการผู้เชี่ยวชาญในวิชาแขนงอื่นมีมากขึ้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายงานของมูลนิธิฯ พระราชทานทุนการศึกษาสาขาวิชาอื่นต่อไป (ฉัตรมงคลรำลึก ๒๕๒๐ (๔๗), หน้า ๔๖?๔๘) ปัจจุบันทุนมูลนิธิ ?อานันทมหิดล? ได้ขยายขอบเขตการพระราชทานทุนแก่นักศึกษาสาขาต่าง ๆ คือ สาขาแพทยศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเกษตรศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา วารสารศาสตร์ และอักษรศาสตร์ โดยมีคณะกรรมการประจำแต่ละสาขาคัดเลือกบัณฑิตที่มีความสามารถยอดเยี่ยมแต่ละ สาขาดังกล่าวไปศึกษาเพิ่มเติม ณ ต่างประเทศ เพื่อจะได้กลับมาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่ได้ศึกษามาตามพระราชประสงค์ แต่ทั้งนี้ไม่มีสัญญาผูกมัดว่าผู้ได้รับพระราชขทานทุนจะต้องกลับมาปฏิบัติ งานอย่างใดอย่างหนึ่งตามเวลาที่กำหนด เพราะมีพระราชประสงค์จะให้ผู้รับทุนได้เกิดความสำนึกรับผิดชอบเอง แต่ผู้รับทุนทุกรายก็ได้กลับมาปฏิบัติงานเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองสมพระ ราชประสงค์ด้วยดี
๓. ทุนเล่าเรียนหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้ฟื้นฟู ?ทุนเล่าเรียนหลวง? (King?s Scholarspip) ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ริเริ่มพระราชทานทุนให้นักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศ ด้วยการจัดสอบแข่งขันอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ และได้พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงสืบต่อเนื่องกันมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็น พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงยุติไปใน พ.ศ. ๒๔๗๖ ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันมีพระราชปรารภ ฟื้นฟูการให้ ?ทุนเล่าเรียนหลวง? ขึ้นใหม่ โดยการประกาศใช้ ?ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยทุนเล่าเรียนหลวง พ.ศ. ๒๕๐๘? ทุนเล่าเรียนหลวงเป็นทุนพระราชทานแก่นักเรียนที่สอบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการได้คะแนนดีเยี่ยมปีละ ๙ ทุน คือ แผนกศิลปะ ๓ ทุน แผนกวิทยาศาสตร์ ๓ ทุน และแผนกทั่วไป ๓ ทุน ให้ไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ และไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องกลับมารับราชการ
๔. ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
ในหลวงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ก่อตั้ง ?มูลนิธิราชประชานุเคราะห์? ในความหมายว่า ?พระราชา? และ ?ประชาชน? อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนว่าไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน ?พระบรมราชูปถัมภ์? โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อหาดอกผลสงเคราะห์เด็กที่ครอบครัวต้องประสบวาตภัยภาคใต้ และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูรวมทั้งช่วยเหลือราษฎรผู้ซึ่งประสบสาธารณภัยทั่วประเทศด้วย โดยได้ประเดิมทุน ๓ ล้านบาท
งานสำคัญของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ก็คือ การช่วยสร้างอาคารเรียน หรือสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ และขอพระราชทานนามโรงเรียนว่า ?โรงเรียนราชประชานุเคราะห์? โดยโรงเรียนแรกกำเนิดที่บ้านปลายแหลม ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่มีเลขหมาย เพราะเหตุว่าแหลมตะลุมพุกเป็นต้นเหตุเกิดการพระราชทานมูลนิธิฯ ขึ้น ต่อมาจึงได้มีหมายเลข ปัจจุบันมีอยู่ ๓๐ โรง นอกจากนี้ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทุนการศึกษาสงเคราะห์แก่เด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาและประสบสาธารณภัยหรือได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนประการอื่นที่ทางราชการอาจเข้าไปไม่ถึงหรือขัดต่อระเบียบหลักเกณฑ์ของทางราชการ
๕. ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ โรคเรื้อนกำลังระบาดอยู่ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกได้ตกลงกันว่าจะพยายามขจัดให้หมดสิ้นไป จากประเทศไทยในระยะเวลา ๑๒ ปี และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า จะกำจัดโรคเรื้อนให้หมดภายในเวลา ๑๐ ปีได้ ถ้ามีสถาบันค้นคว้าและวิจัย ซึ่งต้องใช้เงิน ๑ ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างสถาบันวิจัยค้นคว้าเรื่องโรคเรื้อน ณ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ พระราชทานนามสถาบันนั้นว่า ?ราชประชาสมาสัย? ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ขอจัดตั้งเป็น ?มูลนิธิราชประชาสมาสัย? และได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาให้ทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีพระราชกระแสตอบมาเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔ ว่า ถ้าจะขอให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิจะต้องเพิ่มวัตถุประสงค์ขึ้นอีกข้อหนึ่งว่าจะจัดตั้งโรงเรียนสำหรับ บุตรผู้ป่วยที่เลี้ยงแยกจากบิดามารดาแต่แรกเกิด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระ ราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่มูลนิธิราชประชาสมาสัย จัดสร้างโรงเรียนประจำสำหรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อน และให้การบริหารโรงเรียนขึ้นต่อมูลนิธิราชประชาสมาสัย ซึ่งต่อมาได้ขอพระบรมราชานุญาต แยกจากมูลนิธิเดิมมาจดทะเบียนเป็นมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์
๖. ทุนนวฤกษ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาริเริ่มก่อตั้ง ?ทุนนวฤกษ์? ในมูลนิธิช่วยนักเรียนขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์แต่มีผลการเรียนดี ความประพฤติดี ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาต่อในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ฝึกหัดครู และอุดมศึกษา ด้วยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่ม ๕๑,๐๐๐ บาท และจากผู้บริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุน ก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท ทั้งระดับ ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้าให้มีสถานที่สำคัญสำหรับศึกษาเล่าเรียน โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูสอนวิชาสามัญศึกษาที่ไม่ขัดต่อพระวินัยและอบรม ศีลธรรม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาแก่เด็กที่จะได้เป็นพลเมือง ดีของประเทศชาติในอนาคตต่อไป
๗. ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี
๗.๑ ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา
๗.๒ ทุนพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะสถานศึกษา พระราขทานปริญญาบัตร
๗.๓ รางวัลพระราชทานแก่นักเรียนและโรงเรียนดีเด่น
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ในทุกๆ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์จะเสร็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา แม้ พระราชกรณียกิจนี้จะเป็นภาระแก่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์มาก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้คงพิธีพระราชทานปริญญาบัตรไว้ ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชทานแทนพระองค์
ที่มา :
http://www.chaoprayanews.com/2009/02/06
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙
พระราชกรณียกิจ
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?