ผู้เขียน หัวข้อ: พระอาจารย์' ที่พระทัยเย็นมาก เรื่องเล่าสมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์-วงสหาย  (อ่าน 4309 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923

พลโท นพ.เชิดชัย เจียมไชยศรี แพทย์ประจำพระองค์ และอดีตสมาชิกวงดนตรี "สหายพัฒนา" เล่าถึงการทรงดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  จะทรงดนตรีหลังจากเสด็จฯ กลับมาจากเยี่ยมประชาชนเสมอ พระองค์ทรงพระเกษมสำราญมากยามเมื่อทรงดนตรี ทรงสามารถทรงดนตรีติดต่อกันครั้งละหลายๆ ชั่วโมง หลายครั้งทรงไม่ได้บรรทม เพราะทรงดนตรีตั้งแต่เย็นจนถึงเช้าของอีกวัน"

ที่มาของวงสหายพัฒนา คุณหมอเชิดชัยเล่าว่า   เริ่มจากหลังจากปี พ.ศ.2521 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระประชวรหนักครั้งที่ 2 ด้วยอาการปอดติดเชื้อ จากโรคไมโครพลาสมา ซึ่งในครั้งนี้พระองค์โปรดให้มีการดัดแปลงห้องไอซียูขึ้นในวังจิตรลดา และให้แพทย์เข้ามาทำการรักษา หลังจากคณะแพทย์ถวายการรักษาอยู่หลายเดือน และมีพระอาการดีขึ้น ทางคณะแพทย์จึงมีความเห็นว่าให้พระองค์ทรงออกพระกำลังด้วยการวิ่งเพื่อฟื้นฟูพระวรกายให้แข็งแรงในเร็ววัน ซึ่งในขณะนั้นแม้ว่าพระอาการประชวรยังไม่หายขาด แต่พระองค์ก็ยังทรงงานเยี่ยมราษฎรอย่างต่อเนื่อง และใช้เวลาหลังจากการตรวจเยี่ยมออกพระกำลังตามความเห็นของคณะแพทย์ ด้วยการวิ่งวันละ 1-2 ชั่วโมง ณ ศาลาดุสิดาลัย ทรงปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยมา โดยมีคณะแพทย์ประจำพระองค์มาเฝ้าฯ ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น ยังมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นายทหารราชองครักษ์ นายตำรวจประจำราชสำนัก และข้าราชบริพารอื่นๆ ที่ทรงคุ้นเคยอีกหลายนาย มาร่วมตามเสด็จด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ.2529 จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้ผู้มาเฝ้าฯ หาเครื่องดนตรีมาคนละ 1 ชิ้น แต่เครื่องดนตรีนั้นต้องเป็นเครื่องเป่า และทรงมีข้อแม้ว่า เครื่องดนตรีเหล่านั้นต้องเป็นเหล็กทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงพระราชดำรัสของพระองค์เรื่องความพอเพียง อีกทั้งพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ

พระองค์ทรงเห็นว่าการที่ข้าราชบริพารมาตามเฝ้าฯ เป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ มีรับสั่งให้ข้าราชการที่สนใจเล่นดนตรีหาเครื่องดนตรีมาคนละ 1 ชิ้น โดยรับสั่งว่าใช้เครื่องดนตรีที่ทำด้วยเหล็กชนิดเป่า แบบที่ใช้ในโรงเรียนและวงดนตรีของชาวบ้านที่ใช้ในงานบวชนาค เพราะทรงเห็นว่าหาซื้อง่าย และทำด้วยโลหะทั้งหมด ใช้ได้นาน ซึ่งพระองค์จะทรงสอนให้รู้จักความพอเพียง และการที่ทรงเลือกเครื่องแบบเป่าเพราะทรงห่วงเรื่องสุขภาพของข้าราชบริพาร เครื่องเป่าจะทำให้ปอดได้ทำงาน ทำให้มีร่างกายแข็งแรง ต่อมาได้พระราชทานชื่อวงว่า "วงสหายพัฒนา" และมีรูปกระต่ายเป่า trombone ซึ่งออกแบบโดยสมเด็จพระเทพฯ เป็นตราประจำวง และที่ใช้กระต่าย เป็นเครื่องหมายจากปีนักษัตรพระบรมราชสมภพของพระราชบิดาผู้ก่อตั้งวง

ตอนนั้นมีคนลงชื่อประมาณ 50 คน แต่พอเล่นจริงก็มาไม่ครบหรอก มาประมาณสัก 40 คนในช่วงแรก แต่พอเอาเข้าจริง ตอนที่รวมเป็นวงสหายพัฒนาเหลือสัก 30 คนได้ ในหลวงจะทรงฝึกสอนการเล่นให้  ทรงสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป ตอนนั้นผมเป่าทรัมเป็ต ร่วมกับสมเด็จพระเทพฯ ยังจำได้ว่าพระองค์โปรดยี่ห้อ Lark ซึ่งราคาถูกมากกว่ายี่ห้อแพงๆ เพราะพระองค์ทรงน้อมนำความพอเพียงจากพระราชบิดามาใช้ ตอนนั้นในหลวงท่านจะทรงสอนตั้งแต่การเป่าให้ออกเสียงก่อน และค่อยๆ สอนตัวโน้ตต่างๆ หลังจากนั้นจะมีการสอบเป็นระยะๆ โดยพระองค์จะทรงเอาผ้าเช็ดหน้ามาคลุมเครื่องเล่นไว้ แล้วจะทรงเป่าให้ทายว่าเป็นเสียงโน้ตใด หากใครสอบตกก็จะต้องมาสอบครั้งต่อไป ทั้งนี้ต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะสอน เพราะเหล่าข้าราชบริพารทั้งหมดในตอนนั้นมี 2 คนที่อายุต่ำกว่า 50 การสอนจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป

พระองค์มีพระราชหฤทัยเย็นมาก หมอไม่อยากว่าพวกเดียวกัน แต่ต้องขอพูดหน่อยว่าบางคนไม่มีดนตรีการในหัวใจ ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย และอายุค่อนข้างมาก  เล่นไม่เป็น เร็วเหมือนเด็ก แต่พระองค์ไม่ทรงต่อว่าใดๆ แต่บางครั้งหากสอนยากนัก พระองค์จะทรงเลิกสอน และเดินไปสอนคนอื่นโดยไม่ตรัสอะไร ทำให้ข้าราชบริพารที่อยู่ด้วยเวลานั้นอดยิ้มไม่ได้ แต่สุดท้ายก็สามารถเล่นได้ เพราะพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวโดยแท้จริง

วงดนตรีสหายพัฒนา นอกจากจะปฏิบัติหน้าที่บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเมื่อเสด็จฯ มาถึงศาลาดุสิดาลัยเพื่อทรงออกพระกำลังตามปกติ วงสหายพัฒนาจะได้เล่นดนตรีถวายใน 2 โอกาสสำคัญ คือวันที่ 5 ธันวาคม จะต้องไปตั้งวงรอรับเสด็จหน้าวังจิตรลดา หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ กลับจากงานพระราชพิธีที่พระบรมมหาราชวัง และวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หลังจากฝึกซ้อมไปได้สักระยะ นพ.เชิดชัยยังได้เล่าถึงพระอารมณ์ขันของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า

"เนื่องจากหมอจะมีพื้นฐานการเล่นไวโอลินมาแล้ว จึงค่อนข้างหัวไวในการเล่นดนตรี ท่านจึงโปรดสอนมาก มีครั้งหนึ่งหมอคิดว่าหมอก็แน่พอตัว คิดว่าเล่นเพราะแล้ว จึงขอท่านเล่นถวาย ตอนนั้นเล่นตามโน้ตทุกอย่างถูกหมด กะจะอวดให้ท่านชมสักหน่อย  แต่โดนท่านตรัสกลับมาว่า ไม่เห็นมีชีวิตชีวาตรงไหนเลย ซึ่งเป็นการเย้าแหย่เท่านั้น"

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อราษฎรตลอดรัชสมัยของพระองค์

พระองค์ตรัสว่า ผู้ที่มารับใช้นั้น พระองค์ไม่มีอะไรจะมอบให้นอกจากความเมตตา ซึ่งจากการถวายงานเป็นแพทย์ประจำพระองค์และราชองครักษ์ประจำพระองค์ตลอดชีพ ถวายงานตั้งแต่ปี 2517 เป็นระยะเวลา 42 ปี ได้ฟังก็รู้สึกตื้นตันและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณข้อนี้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ แม้ว่าพระองค์ท่านจะไม่อยู่แล้ว แต่ยังคงสถิตในใจของหมอและหมอก็จะขอทำงานเพื่อพระองค์ท่านต่อไป ซึ่งตอนนี้ก็ทำงานที่คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนาที่พระองค์ท่านทรงก่อตั้งขึ้น โดยไม่รับเงินเดือน

"การที่มีโอกาสได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท หมอคิดว่าหมอไม่ได้เก่งหรือวิเศษ มีคนที่เก่งกว่า แต่หมอเชื่อว่าหมอมีบุญ จึงได้มาทำตรงนี้ ซึ่งจากที่ได้ติดตามไปทุกที่ พระองค์ทรงมีพระเมตตา คลุกคลีกับประชาชนทั่วทุกภาคอย่างไม่ถือพระองค์เป็นครั้งละเดือนๆ โดยไม่ทรงเหน็ดเหนื่อย ทรงห่วงใยประชาชน มีทีมแพทย์ออกไปด้วยทุกครั้ง แม้พระองค์จะไม่มีพระอาการประชวร แต่เพื่อติดตามไปดูแลประชาชน ในวันนี้หมอเห็นพระอาการประชวรมาโดยตลอด ทีมแพทย์ที่ถวายการดูแลทำอย่างเต็มที่ แต่เมื่อถึงวันนี้ก็ต้องยอมรับ โดยอยากให้ประชาชนที่ยังอยู่ในอาการโศกเศร้าทำใจ และยอมรับให้ได้ โดยใช้หลักธรรม   "ทุกอย่างเป็นสิ่งชั่วคราว ย่อมดับไปเป็นธรรมดา" ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเอาไว้" คุณหมอเชิดชัยกล่าว.

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เป็น
หนึ่งในสมาชิกวงดนตรี "อ.ส.วันศุกร์" ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นหัวหน้าวง กล่าวว่า   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  มีพระอัจฉริยภาพทาง ดนตรี ในช่วงเวลาที่ทรงดนตรี ท่านทรงพระเกษมสำราญมากๆ แหย่คนนู้นแหย่คนนี้ ตนเล่นไวโอลินอยู่ด้านหน้าพระองค์ท่านทรงไปคว้าไมโครโฟนตรัส"อาจารย์ระพี สีซอให้ควายฟัง" คนก็เฮกัน

อาจารย์ระพีเล่าต่อว่า ได้เป็นนักดนตรีวง อ.ส.วันศุกร์ เพราะสนิทสนมกับท่านจักรฯ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์) ซึ่งท่านจักรฯ ก็สนิทกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่สมัยพระองค์เป็นพระอนุชา ส่วนตัวอาจารย์ระพีนั้นได้ถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงโน้ตเพลงให้พระองค์ท่าน ยุคนั้นมีนักดนตรี สมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ ถวายการรับใช้ ประกอบด้วย หม่อมเจ้าชุมปกบุตร์ ชุมพล เล่นทรัมเป็ต หม่อมเจ้าแววจักรจักรพันธุ์ พี่ชายท่านจักรฯ เล่นกีตาร์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จะเล่นไวโอลิน เช่นเดียวกับตน ซึ่งอายุน้อยที่สุด และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ เล่นเปียโน   ตัวอาจารย์มีโอกาสได้เล่นดนตรีถวายอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง สังเกตเห็นพระองค์ทรงห่วงใยชาวบ้านเกษตรกรในถิ่นทุรกันดาร จึงขอไปทำงานด้านนั้น เหตุที่หายไปจาก วง อ.ส. พานิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปถิ่นทุรกันดาร สร้างโรงเรียน สนามเด็กเล่น ช่วยพัฒนาพื้นที่เกษตร

"ผมประทับใจตรงที่พระองค์ท่านทรงตรงต่อเวลามาก พระราชทานชื่อ วงว่า 'วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์'  เพราะนัดกันทุกวันศุกร์ 5 โมงเย็น ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ทรงเล่นเพลงแจ๊ส เราก็ตาม  แล้วเวลาที่ท่านมาทรงดนตรีที่หอมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ก็ผ่านเครือข่ายที่ท่านทรงเป็นผู้วางระบบเอง ฟังเพลงส่งตรงจากหอประชุมได้ เหมือนกับเรือใบที่ทรงทำด้วยพระองค์เอง เครื่องส่งวิทยุก็ต่อด้วยพระองค์เอง" ศ.ระพี กล่าว

"พระองค์มีพระราชหฤทัยเย็นมาก หมอไม่อยากว่าพวกเดียวกัน แต่ต้องขอพูดหน่อยว่าบางคนไม่มีดนตรีการในหัวใจ ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย และอายุค่อนข้างมาก เล่นไม่เป็น เร็วเหมือนเด็ก แต่พระองค์ไม่ทรงต่อว่าใดๆ แต่บางครั้งหากสอนยากนัก พระองค์จะทรงเลิกสอน และเดินไปสอนคนอื่นแทน โดยไม่ตรัสอะไร ทำให้ข้าราชบริพารที่อยู่ด้วยเวลานั้นอดยิ้มไม่ได้ แต่สุดท้ายก็สามารถเล่นได้ เพราะพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวโดยแท้จริง"

ที่มา : http://www.ryt9.com/s/tpd/2537074