รูปแบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของ กศน. ที่เปลี่ยนไป
เมื่อการศึกษาผู้ใหญ่ กลายเป็นการศึกษาวัยรุ่น
เลิศชาย ปานมุข
*********************************
ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว การจัดการศึกษาของ กศน. ยังเป็นการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และผู้ที่พลาดโอกาสหรือขาดโอกาสในการศึกษา การจัดการศึกษาสมัยนั้น ครู กศน. จึงต้องเรียนรู้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายและตรงกับความต้องการ
แต่ในปัจจุบัน อายุโดยเฉลี่ยของนักศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐาน กศน. น้อยลงเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชน อายุ 15-25 ปี และมีแนวโน้มว่านักศึกษากลุ่มนี้จะเพิ่มมากขึ้น และคงเป็นเหมือนกันทั่วประเทศ เหตุผลอาจมีหลายนัยยะ ทั้งระบบการศึกษาในปัจจุบัน สภาพแวดล้อม และบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป
ดังนั้นหลักการจัดการศึกษาในเรื่องจิตวิทยาผู้ใหญ่ ซึ่งมีมาก่อนแล้ว เราจำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องจิตวิทยาวัยรุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การศึกษาเริ่มเปลี่ยนไป กับคำว่า ?การศึกษา 4.0? หรือ การศึกษาในศตวรรษที่ 21 จากครูที่เคยเป็นผู้ให้ความรู้และสอน กลายเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องมีเทคนิควิธีการที่มีความหลากหลาย ให้นักศึกษาได้เกิดทักษะและความคิดที่สร้างสรรค์ สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้ (ซึ่งอยู่ในอุดมคติ) เพราะองค์ความรู้ในปัจจุบัน มีมากมายนับไม่ถ้วน ตำราหรือหนังสือเรียนเพียงเล่มเดียว คงไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพได้ กับเด็กยุคนี้ ความรู้ต่างๆหาได้ง่ายมากจากสมาร์ทโฟน ดังนั้นครู จึงต้องเป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี และสามารถชี้ช่องทางการศึกษาให้เหมาะสม ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
และที่สำคัญที่สุดต้องรู้ว่า นักศึกษาของเราเป็นอย่างไร มีความพร้อมแค่ไหน กับแนวทางของการศึกษาดังกล่าว จึงจะจัดการศึกษาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นยุทธวิธีของครูแต่ละคน สำหรับนักศึกษา กศน. นั้น หลายคนย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า นักศึกษาของเรามีลักษณะเช่นไร โดยเฉพาะวัยรุ่น (เหมือนปรัชญาการปูกระเบื้อง กับการจัดการศึกษานอกระบบ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.lertchaimaster.com/forum/index.php?topic=1550.0) แต่เด็กเหล่านี้ มักชื่นชอบการทำกิจกรรม ชอบเข้าสังคมกับหมู่เพื่อน ชอบความสนุกสนาน ดังคำที่เคยพูดเล่นๆว่า ?กิจกรรมเด่น ไม่เน้นเรียน? ทำอย่างไร ที่จะนำกิจกรรมดีดีเข้าไปในการส่งเสริมการเรียนรู้กับเด็กกลุ่มนี้ ดึงศักยภาพและทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของตนเองที่มี ที่เคยถูกบดบัง เคยดูถูกจากสังคม ว่าเขาเป็นตัวปัญหา หรือไม่เอาไหน ทำอย่างไรให้พวกเขาก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นไปได้ และเกิดความภูมิใจในความสามารถของตนเอง สิ่งต่างๆที่ถูกพร่ำสอนว่าอะไรดี อะไรไม่ดี เชื่อว่า เด็กๆเหล่านี้รู้ดีเกือบหมดแล้ว เมื่ออายุมาถึงขนาดนี้ (ซึ่งผ่านการพร่ำสอนจากในระบบมาอย่างโชกโชน) เมื่อถึงจุดๆหนึ่งของชีวิตพวกเขาจะเรียนรู้วิถีที่จะปรับแก้การดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง ในเวลาอันเหมาะสม เพราะเชื่อมั่นว่า คนทุกคนต้องการเป็นคนดี และอยากได้รับการยอมรับจากสังคม แต่เราสามารถเป็นผู้เร่งเวลาให้เขาคิดแบบนั้นได้เร็วขึ้นในฐานะครู กศน.
แต่ ณ เวลานี้ ครู กศน. มีเวลามากพอหรือไม่ กับการเตรียมความพร้อม การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องด้วยภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ MOU ของหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนงานในพื้นที่ๆมีมากมายเหลือคณานับ แต่เชื่อมั่นว่า หากครู กศน. ของเรามีเวลามากพอ การศึกษาขั้นพื้นฐานของเรา จะสอดคล้องกับแนวทางการจัดการศึกษาในปัจจุบันอย่างแน่นอน เพราะ กศน. ?ใช้กิจกรรมนำความรู้? มาอย่างโชคโชนและยาวนาน ครับ
******************
เลิศชาย ปานมุข
24 พฤศจิกายน พ.ศ.2559
19.28 น.