เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
วิวัฒนาการของธนบัตรไทย
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: วิวัฒนาการของธนบัตรไทย (อ่าน 3628 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
วิวัฒนาการของธนบัตรไทย
เมื่อ:
กรกฎาคม 20, 2015, 07:59:07 PM
ก่อนที่จะมีการนำธนบัตรเข้ามาใช้ร่วมกับเงินตราชนิดอื่นๆ ในระบบการเงินของประเทศ ชนชาติไทยได้ใช้หอยเบี้ย ประกับ (ดินเผาที่มีตราประทับ) เงินพดด้วง ปี้กระเบื้อง และเหรียญกษาปณ์ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน
จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติและเปิดเสรีทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น จนไม่สามารถผลิตเงินพดด้วงซึ่งเป็นเงินตรา หลักในขณะนั้นได้ทันต่อความต้องการ ทั้งยังมีผู้ทำเงินพดด้วงปลอมออกใช้ปะปนในท้องตลาด จนเป็นปัญหาเดือดร้อนกันทั่วไป ในพุทธศักราช ๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้จัดทำเงินกระดาษชนิดแรกขึ้น
ใช้ในระบบเงินตราของประเทศ เรียกว่า หมาย
หมายเป็นกระดาษสีขาวพิมพ์ตัวอักษรและลวดลายด้วยหมึกสีดำ ประทับตราพระราชสัญลักษณ์ประจำพระราชวงศ์จักรีรูปพระแสงจักร และพระราชลัญจกรประจำพระองค์รูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ด้วยสีแดงชาด เพื่อป้องกันการปลอมแปลง หมายที่โปรดให้จัดทำมี ๓ ประเภท ได้แก่ หมายราคาต่ำ หมายราคากลาง (ตำลึง) และหมายราคาสูง อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่หมายเป็นเงินตราชนิดใหม่ ในขณะที่ราษฎรยังคงคุ้นเคยกับเงินพดด้วงซึ่งเป็นเงินตราโลหะมาแต่โบราณ จึงไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายตามพระราชประสงค์
ต่อมาระหว่างพุทธศักราช ๒๔๑๕ - ๒๔๑๖ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดปัญหาเหรียญกษาปณ์ชนิดราคาต่ำซึ่งเป็นเงินปลีกที่ทำจากดีบุกและทองแดง ขาดแคลนประกอบกับมีการนำปี้ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ใช้แทนเงินในบ่อนการพนันมาใช้แทนเงินตรา ในพุทธศักราช ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้จัดทำเงินกระดาษชนิดราคาต่ำเรียกว่า อัฐกระดาษ ให้ราษฎรได้ใช้จ่ายแทนเงินเหรียญที่ขาดแคลน แต่อัฐกระดาษก็ไม่เป็นที่นิยมใช้เช่นเดียวกับหมาย
อัฐกระดาษ
เงินกระดาษชนิดต่อมา คือ บัตรธนาคาร
ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศสามธนาคารที่เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน และธนาคารแห่งอินโดจีน ได้ขออนุญาตนำบัตรธนาคารออกใช้ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๒, ๒๔๔๑, และ ๒๔๔๒ ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นรัฐบาลประสบปัญหาไม่สามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ได้ทัน ต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ
บัตรธนาคารมีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้ เงินชนิดหนึ่งที่ใช้อำนวยความสะดวกในการชำระหนี้ ระหว่างธนาคารกับลูกค้า ดังนั้น การหมุนเวียนของบัตรธนาคารจึงจำกัดอยู่ในวงแคบเฉพาะบุคคลที่มีความจำเป็น ต้องติดต่อธุรกิจกับธนาคารดังกล่าวเท่านั้น อย่างไรก็ดี บัตรธนาคารมีส่วนช่วยให้ประชาชนรู้จักคุ้นเคยกับเงินที่เป็นกระดาษมากขึ้น และเนื่องจากมีระยะเวลาการนำออกใช้นานกว่า ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๒ - ๒๔๔๕) ทำให้การเรียกบัตรธนาคารทับศัพท์ว่า
แบงก์โน้ต
หรือ
แบงก์
ในขณะนั้นสร้างความเคยชินให้คนไทยเรียกธนบัตรของรัฐบาลที่ออกใช้ในภายหลังว่า
แบงก์
จนติดปากมาถึงทุกวันนี้
บัตรธนาคารชนิดราคา ๔๐๐ บาท
ของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้
บัตรธนาคารชนิดราคา ๘๐ บาท
ของธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน
บัตรธนาคารชนิดราคา ๕ บาท
ของธนาคารแห่งอินโดจีน
ขณะเดียวกันรัฐบาลในสมัยนั้นได้พิจารณาเห็นว่าบัตรธนาคารที่สาขาธนาคารพาณิชย์ ต่างประเทศออกใช้อยู่ในขณะนั้น มีลักษณะคล้ายกับเงินตราที่รัฐบาลควรจัดทำเสียเอง ในพุทธศักราช ๒๔๓๓ จึงได้เตรียมการออกตั๋วเงินของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เรียกว่า เงินกระดาษหลวง โดยสั่งพิมพ์จากห้างกีเชคเก้แอนด์ เดวรีเอ้นท์ (Giesecke & Devrient) ประเทศเยอรมนี จำนวน ๘ ชนิดราคา เงินกระดาษหลวงได้ส่งมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๕ แต่เนื่องจากความไม่พร้อมของทางการในการบริหาร จึงมิได้นำเงินกระดาษหลวงออกใช้
เงินกระดาษหลวงชนิด ราคา ๘๐ บาท
เงินกระดาษหลวงชนิด ราคา ๑๐๐ บาท
เงินกระดาษหลวงชนิด ราคา ๔๐๐ บาท
จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๔๔๕ จึงเข้าสู่วาระสำคัญในการออกธนบัตร กล่าวคือ พระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้ตรา พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๕ อีกทั้งโปรดให้จัดตั้ง กรมธนบัตร ในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อทำหน้าที่ออกธนบัตรและรับจ่ายเงินขึ้นธนบัตร และเปิดให้ประชาชนนำเงินตราโลหะมาแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรตั้งแต่วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ จึงนับว่าธนบัตรได้เข้ามามีบทบาทในระบบการเงินของไทยอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา
ธนบัตรที่นำออกใช้ตามพระราชบัญญัติธนบัตรสยามรัตนโกสินทรศก ๑๒๑ นั้น มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาลที่สัญญาจะจ่ายเงินตราให้แก่ผู้นำ ธนบัตรมายื่นโดยทันที ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช ๒๔๗๑ ซึ่งกำหนดให้เงินตราของประเทศประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ตลอดจนให้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการเปลี่ยนลักษณะของธนบัตรจากตั๋วสัญญาใช้เงินมาเป็นเงินตราอย่าง สมบูรณ์
ขอขอบคุณข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่มา วิชาการดอทคอม
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
วิวัฒนาการของธนบัตรไทย
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?