เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
พลิกตำนานการยิงปืนสลุต จากมิตรภาพที่สูงค่า สู่ศรัทธาแห่งองค์กษัตริย์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: พลิกตำนานการยิงปืนสลุต จากมิตรภาพที่สูงค่า สู่ศรัทธาแห่งองค์กษัตริย์ (อ่าน 3400 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
พลิกตำนานการยิงปืนสลุต จากมิตรภาพที่สูงค่า สู่ศรัทธาแห่งองค์กษัตริย์
เมื่อ:
กรกฎาคม 20, 2015, 08:00:36 PM
การยิงปืนสลุตนี้ หลายคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาว่า จะมีการยิงต่อเมื่อมีพระราชพิธีสำคัญๆ หรือมีพระราชอาคันตุกะ อันเป็นประมุขหรือพระมหากษัตริย์ของต่างประเทศเสด็จมาเยือนบ้านเรา แต่รายละเอียดอื่นๆ อาจจะยังไม่ทราบ ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงได้รวบรวมข้อเขียนของอาจารย์สมบัติ พลายน้อย และอาจารย์เบญจมาศ พลอินทร์ ซึ่งได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องการยิงปืนสลุตไว้มาเล่าให้ฟังพอสังเขปถึงที่มา ที่ไปของการยิงปืนสลุตเพื่อเป็นความรู้ ดังนี้
การยิงปืนสลุต ซึ่งมาจากภาษาลาตินว่า Salutio (อ่าน ซัล-ลูท-ติ-โอ)
นี้ เป็นแบบฉบับอย่างหนึ่ง ของการทำความเคารพต่อผู้ใหญ่ หรือประมุขของรัฐ การยิงจะใช้ปืนใหญ่ เพราะมีเสียงดังดี เป็นการแสดงว่า มีบุคคลสำคัญมาเยี่ยม ส่วนทางทหารกล่าวถึง การยิงสลุตว่า คือการยิงปืนใหญ่ด้วยลูกสลุต หรือกระสุนซ้อมรบ เป็นการคำนับอย่างหนึ่ง ซึ่งเรือรบ ป้อม หรือกองทหารปฏิบัติ เพื่อเคารพต่อบุคคล หรือวัตถุอันควรได้คำนับด้วยการยิงสลุต โดยมีเกณฑ์จำนวนนัดตามควรแก่เกียรติยศ
เหตุที่มีการยิงสลุต กล่าวว่ามีมูลเหตุมาจากสมัยโบราณ เรือสินค้าที่ต้องเดินทางนานๆ ในทะเลเป็นระยะทางไกลๆ จำเป็นจะต้องมีปืนใหญ่ ไว้คอยคุ้มครองสินค้าของตน และเพื่อเตรียมป้องกัน จึงมักบรรจุกระสุนดินดำไว้ก่อน เพราะการจะบรรจุกระสุน ในการยิงปืนใหญ่สมัยก่อนเป็นเรื่องยุ่งยาก และใช้เวลามาก จึงต้องมีการเตรียมพร้อมไว้ก่อน เพื่อให้ใช้ได้ทันท่วงที มิฉะนั้น หากเกิดเหตุจะไม่ทันการณ์ และเมื่อเรือเดินทางไปถึงท่าเรือ ที่เป็นพันธมิตรก็จำเป็นต้องยิงกระสุนปืนใหญ่ ที่บรรจุไว้ให้หมดเสียก่อน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่ามาอย่างมิตร มิใช่ศัตรู ครั้นต่อมาจึงเกิดเป็นประเพณียิงสลุต เพื่อแสดงความเคารพกัน ซึ่งถือว่าการยิงสลุตนี้ เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง โดยเรือที่จะเข้าจอดท่าจะยิงสลุตเคารพเจ้าของถิ่น หรือชาติเจ้าของท่าก่อน จากนั้นเจ้าถิ่นก็จะยิงตอบให้มากกว่า ส่วนใหญ่จะยิงตอบเป็น 3 เท่า เช่น เรือยิง 1 นัด เจ้าบ้านจะยิงตอบ 3 นัด เป็นต้น
ส่วนสาเหตุการยิง สลุต 21 นัด กล่าวกันว่า ประเทศอังกฤษเป็นชาติแรกที่ได้วางกฎเอาไว้ ให้ชาติที่อ่อนแอกว่าทำความเคารพตนก่อน โดยสมัยแรกกำหนดให้ใช้ 7 นัด ถือเคล็ดว่า เลข 7 เป็นเลขดี ด้วยว่าตามคัมภีร์ ฝรั่งถือว่าพระเจ้าสร้างโลกใน 7 วัน ดังนั้น เมื่อเรือยิงให้แก่เจ้าของอ่าวหรือท่าเรือ เป็นจำนวน 7 นัด ทางป้อมที่เป็นชาติเจ้าของอ่าว หรือท่าเรือก็ต้องยิงตอบเป็นจำนวน 3 เท่าคือ 21 นัด ต่อมาก็ได้มีการตกลงกันว่า ให้ยิงเท่ากันคือ 21 นัด ถือเป็นการยิงให้แก่ชาติ รวมทั้งพระมหากษัตริย์ด้วย
ซึ่งปัจจุบันการยิงสลุตในประเทศอังกฤษ และประเทศอื่นๆ ก็ใช้จำนวนนัดในการยิงสลุตต่างๆ เป็นจำนวนเท่ากัน นับเป็นพิธีสากล ส่วนมากในพิธีต่างๆ มักใช้จำนวนสลุต 21 นัด ซึ่งราชนาวีของไทย เราเรียกการยิงสลุตจำนวน 21 นัดนี้ว่า สลุตหลวง นอกจากนี้ ยังมีสลุตหลวงพิเศษ ที่ใช้ในพิธีใหญ่ๆ อีกอย่างหนึ่งด้วย ซึ่ง สลุตหลวงพิเศษ จะหมายถึง การยิงสลุตจำนวน 101 นัด และการยิงสลุตหลวงพิเศษนี้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากกระทรวงกลาโหมเท่านั้น ส่วนการยิงสลุต เพื่อแสดงความเคารพนายกรัฐมนตรี หรือผู้บัญชาการทหารนั้น จะมีจำนวนลดหลั่นกันไปตามลำดับ ซึ่งจะมีกำหนดไว้ในราชกิจจานุเบกษา
อนึ่งโดยทั่วไป การที่เรือรบเดินทางไปเยี่ยมท่าเรือต่างประเทศใด ก็มักจะมีการยิงสลุตคำนับประเทศเจ้าของท่า และคำนับเรือรบต่างชาติ ที่จอดอยู่ร่วมกันในอ่าวท่าเรือ ตามธรรมเนียมสากลด้วย และเมื่อเรือรบใด ได้ทำการยิงสลุตคำนับไปแล้ว ก็จะต้องได้รับการยิงสลุตตอบ ด้วยจำนวนนัดที่เท่ากันจากประเทศเจ้าของท่าเรือ หรือเรือรบของต่างชาติ ที่ได้รับการคำนับนั้นด้วย แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อม การยิงสลุตคำนับไม่ต้องมีก็ได้ ดังนั้น เวลาเรือรบไปจอดท่าเรือต่างประเทศ จึงมักมีการเจรจาตกลงให้เรียบร้อยกันก่อน จึงจะมีการยิงสลุตคำนับกันขึ้น
สำหรับประเพณีการยิงสลุตในประเทศไทย มีปรากฏในพงศาวดารว่า รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะช่วงดังกล่าว ไทยเราคบค้าสมาคมกับฝรั่งหลายชาติหลายภาษา จึงรู้ขนบธรรมเนียมของฝรั่ง ตามจดหมายเหตุของฝรั่งเศสกล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2223 เรือรบฝรั่งเศสชื่อ เลอโวตูร์ ได้เข้ามาในบางกอก และมองซิเออร์คอนูแอล นายเรือได้สอบถามไปทางกรุงศรีอยุธยาว่า จะยิงสลุตให้ชาติไทย เมื่อเรือผ่านป้อมที่บางกอก คือ ป้อมวิชัยประสิทธิ์จะขัดข้องหรือไม่
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็รับสั่งให้ออกพระศักดิ์สงคราม ชาวเตอรกีผู้รักษาป้อม ยอมให้ฝรั่งเศสยิงสลุตได้ และมีเรื่องเล่าว่าธงชาติไทยเริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกที่นี่ เพราะตามธรรมเนียม ต้องชักธงชาติขึ้นก่อน ฝรั่งเศสจึงจะยิงสลุตได้ (ป้อมดังกล่าว คือ ป้อมวิชาเยนทร์ที่สร้างขึ้นที่ปากน้ำบางกอกใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2208 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวิชัยประสิทธิ์สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี) และทูตไทยที่ได้รับการยิงสลุตเป็นคนแรก เมื่อเดินทางไปฝรั่งเศสเป็นจำนวน 5 นัดคือ ขุนพิชัยวาทิต และขุนพิทักษ์ไมตรี
หลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไทยเราไม่นิยมฝรั่งเศส ประเพณีการยิงสลุตจึงหายไป จนมาในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการเริ่มประเพณีนี้ขึ้นอีก เมื่อเซอร์จอนเบาริง เป็นราชทูตมาเมื่อ พ.ศ. 2398 ก็มีการขออนุญาตยิงสลุต 21 นัด และพระองค์ท่านก็ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต พร้อมให้มีการยิงตอบด้วยจำนวนเท่ากัน โดยได้มีการออกประกาศให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อมิให้ตื่นตกใจด้วย เพราะสมัยนั้น เรายังไม่ถือการยิงสลุตเป็นประเพณีที่ต้องปฏิบัติ
จนมาในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เราจึงมีหลักเกณฑ์การยิงสลุต ที่เรียกว่า "ข้อบังคับว่าด้วยการยิงสลุต ร.ศ. 124" ขึ้น โดยผู้มีหน้าที่ยิงคือ เรือรบหลวง ยิงในทะเล และป้อมยิงสลุตยิงบนบก ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวได้ใช้มาตลอดรัชกาลที่ 5 ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ได้ทรงเปลี่ยนแก้ไข โดยทรงตราเป็นพระราชกำหนดเรียกว่า "พระราชกำหนดการยิงสลุต ร.ศ. 131 (พ.ศ.2455) "การยิงสลุตแบ่งเป็นของหลวง แบบธรรมดา ใช้ยิง 21 นัด แบบพิเศษใช้ยิง 101 นัดในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งพระราชกำหนดนี้ใช้ตลอดรัชกาลที่ 6 ครั้นรัชกาลที่ 7 มิให้ใช้เพื่อความประหยัด และได้ยกเลิกไป เมื่อ พ.ศ. 2483 โดยปัจจุบัน การยิงสลุตใช้ข้อบังคับที่เรียกว่า "ข้อบังคับทหารว่าด้วยการยิงสลุต"
สำหรับหลักเกณฑ์การยิงสลุต ปัจจุบันพอสรุปได้ว่า ถ้าเป็นงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา งานพระราชพิธีฉัตรมงคล หรือวันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมราชินีหรือสมเด็จพระยุพราช รวมถึงงานต้อนรับพระมหากษัตริย์ หรือประมุขแห่งรัฐ ยิงสลุตจำนวน 21 นัด ถ้าเป็นระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ที่เป็นทหาร) ผู้บัญชาการทหารเรือ จอมพลเรือ และเอกอัครราชทูต ยิงสลุต 19 นัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ที่เป็นพลเรือน) พลเรือเอก และเอกอัครราชทูตพิเศษ ยิงสลุต 17 นัด พลเรือโท และอัครราชทูต ยิงสลุต 15 นัด พลเรือตรี และราชทูต ยิงสลุต 13 นัด (สามเหล่าทัพยศเท่ากัน ยิงสลุตเท่ากัน) อุปทูตยิงสลุต 11 นัด กงสุลใหญ่ ยิงสลุต 9 นัดเป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : อมรรัตน์ เทพกำปนาท สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
พลิกตำนานการยิงปืนสลุต จากมิตรภาพที่สูงค่า สู่ศรัทธาแห่งองค์กษัตริย์
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?