ผู้เขียน หัวข้อ: การเสียกรุงครั้งที่สองจากกรณีพระเจ้าเอกทัศน์และขุนหลวงหาวัด  (อ่าน 4813 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
"ย้อนรอยประวัติศาสตร์ไทยด้านมืด".....การเสียกรุงครั้งที่สองจากกรณีพระเจ้าเอกทัศน์และขุนหลวงหาวัด.....

...........ด้วยความเคารพต่อดวงพระวิญญาณของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ บทความนี้เพียงต้องการสื่อในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีผู้บันทึกไว้ มิได้มีเจตนาลบหลู่ดูหมิ่นพระเกียรติยศแต่ประการใด........

......เป็นช่วงเหตุการณ์ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2 ไม่นานนัก ปัญหาก็เริ่มจากการสืบราชสันตติวงศ์เหมือนเดิม โดยเหตุเกิดในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ปรากฏว่าเกิดเรื่องยุ่งยากในการสืบราชสมบัติ เนื่องจากพระราชโอรสไม่สามัคคีปรองดองกันโอรสทั้ง 3 พระองค์ ที่มีสิทธิในราชสมบัติ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าเอกทัศน์) และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (เจ้าฟ้าอุทุมพร) และพระโอรสเกิดจากพระสนมอีก 4 พระองค์ คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ กรมหมื่นจิตสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพย์ภักดี

ต่อมาพระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์(เจ้าฟ้ากุ้ง) ได้รับพระราชอาญาให้ประหารชีวิตเนื่องจากลักลอบเป็นชู้กับพระสนมของพระราชบิดา(พระเจ้าบรมโกศ) ส่วนราชโอรสองค์กลางคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าเอกทัศน์) นั้น พระปรีชาและพระอุปนิสัยไม่เหมาะแก่การปกครองบ้านเมือง พระราชบิดาจึงโปรดให้ออกผนวชที่วัดกระโจม นัยว่าเพื่อหลีกทางให้สมเด็จพระอนุชา คือเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต(เจ้าฟ้าอุทุมพร) เป็นอุปราชแทน

หลังจากเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์(จ้าฟ้ากุ้ง) ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.2298 แล้วสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มิได้ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใดขึ้นเป็นพระมหาอุปราชแทน เป็นเวลาถึง 11 ปี

ต่อมาในปี พ.ศ.2300 จึงทรงตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต(เจ้าฟ้าอุทุมพร) ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยทรงเห็นว่าทรงพระปรีชา มีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าพระเชษฐาคือกรมขุนอนุรักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าเอกทัศน์) กล่าวไปแล้ว

ปัญหามาเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตทรงขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอุทุมพร ต่อมากรมหมื่นจิตสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพย์ภักดี คบคิดกันช่วงชิงราชสมบัติแต่ไม่สำเร็จ ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

แต่พระเจ้าอุทุมพรครองราชย์ได้เพียงเดือนเศษ ก็จำต้องทรงสละราชย์สมบัติ แล้วถวายแก่เจ้าฟ้าเอกทัศผู้เป็นพระเชษฐาที่ลาสิกขาออกมาทวงสิทธิในราชบัลลังก์ แล้วพระเจ้าอุทุมพรก็เสด็จออกผนวช โดยประทับอยู่ที่วัดประดู่โรงธรรม

พงศาวดารกล่าวว่า เจ้าฟ้าเอกทัศได้ลาผนวชเสด็จกลับเข้าวังเพื่อแสดงสิทธิ์ของพระองค์ โดยเสด็จเข้าไปในพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ประทับนั่งบนพระแท่นพาดพระแสงดาบไว้บนพระเพลา(ตัก/ขา) แล้วโปรดฯให้พระเจ้าอุทุมพรเข้าเฝ้า พระอนุชาผู้ขึ้นครองราชย์ได้ไม่กี่วันก็เข้าพระทัย ยอมถวายราชบัลลังก์ให้โดยดี แล้วหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาด้วยการไปผนวชเสียที่วัดประดู่ทรงธรรมให้หมดเรื่องไป

แต่เรื่องก็ไม่จบเพียงนั้น เพราะใน พ.ศ. 2301-2303 พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่าทรงยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ พระเจ้าเอกทัศน์ ทรงเห็นเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะทรงสู้ศึกได้เอง จึงไปขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชมาบัญชาการรบแทนพระองค์ พระเจ้าอุทุมพรก็ทรงยอมทำตาม ในการศึกครั้งนี้อลองพญาถูกกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายไทยบาดเจ็บสาหัส จำต้องถอยทัพไปสิ้นพระชนม์กลางทาง อยุธยาก็พ้นศึกกลับมาสงบตามเดิม

เมื่อศึกสงบ แทนที่จะทรงมอบหมายให้พระอนุชาครองราชย์อย่างที่ควรจะเป็น พระเจ้าเอกทัศน์ก็ทรงใช้ไม้เดิม คือขึ้นประทับนั่งพาดพระแสงดาบบนพระเพลา(ตัก/ขา)ให้รู้ว่าทรงทวงบัลลังก์คืน พระอนุชาก็ว่าง่าย ทูลลากลับไปผนวชอย่างเก่า จนได้สมญาว่า "ขุนหลวงหาวัด"

แล้วก็เกิดสงครามครั้งสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา เมื่อพม่าจัดทัพมารุกรานอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2307 พระเจ้ามังระ โอรสพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ได้ส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก โดยได้ล้อมกรุงศรีอยุธยายืดเยื้อยาวนาน แล้วก็เข้าตีพระนครได้ เมื่อวันที่ 13 เดือนเมษายน พ.ศ.2310

แต่ก่อนกรุงจะแตกนั้น ไทยเริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำติดต่อกันหลายครั้งหลายคราว จนถึงคับขันจนกรุงใกล้จะแตก ราษฎรหมดความหวังในตัวพระเจ้าเอกทัศน์ ก็พากันไปถวายฎีการ้องทุกข์ทูลขอร้องพระเจ้าอุทุมพรให้ลาผนวชมาช่วยบ้านเมืองอีกครั้ง แต่จะด้วยความเกรงพระทัยพระเชษฐาที่ไม่ได้มาร้องขอด้วยพระองค์เอง ท่านก็เฉยไม่ยอมลาผนวช ไม่ว่าราษฎรจะอ้อนวอนแค่ไหนก็ตาม ปล่อยให้พระเจ้าเอกทัศน์บัญชาการรบไปเอง จนกระทั่งวาระสุดท้ายของอยุธยามาถึงทั้งสองพระองค์

พงศาวดารเล่าว่า พระเจ้าเอกทัศน์ทรงหนีออกจากอยุธยาไปได้ แต่ก็หนีไปไม่ตลอด เพราะอดอาหารมิได้เสวยถึง12วัน จนไปสิ้นพระชนม์ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนพระเจ้าอุทุมพรถูกจับเป็นเชลยพร้อมเจ้านายและขุนนางอื่นๆจำนวนมาก ถูกนำตัวไปพม่า แล้วก็ทรงอยู่ในเพศบรรพชิตที่พม่าจนสิ้นพระชนม์ไปในที่สุด ระหว่างนั้นทรงให้ปากคำบันทึกกับชาวพม่าถึงประวัติศาสตร์ของอยุธยา ต่อมาเรื่องนี้แปลเป็นไทยชื่อ ?คำให้การของขุนหลวงหาวัด?

ในครั้งนั้นยังมีอีกพระองค์หนึ่งที่ออกบวชเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง คือกรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศที่เกิดแต่พระสนม พระนามเดิมว่า "พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าแขก" เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดากับ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าเอกทัศน์ และพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ (พระเจ้าอุทุมพร)

ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.2301 กรมหมื่นเทพพิพิธสนับสนุน พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ(พระเจ้าอุทุมพร) ซึ่งดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ตำแหน่งรัชทายาท) ได้ครองราชสมบัติ แต่พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าเอกทัศน์ผู้เป็นพี่รีบลาผนวชออกมา ประจวบกับ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อรักสงบ ไม่ชอบการขัดแย้งจึงสละราชสมบัติเสด็จออกทรงผนวช กรมหมื่นเทพพิพิธเกรงราชภัยจะถึงตน จึงออกผนวชที่วัดกระโจม

แต่กระนั้นก็ตามเมื่อสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้ครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระตำรวจทั้งแปดไปจับตัวมาหวังจะประหารชีวิตเสีย แต่ขุนนางกราบบังคมทูลว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ผู้ใหญ่ไม่มีความผิดชัดเจน ไม่ควรประหารในระหว่างทรงพรตในเพศสมณะ จึงสั่งให้จองจำไว้ ครั้นกำปั่นจะไปลังกาทวีปเพื่อส่งพระวิสุทธาจารย์ และพระวรญาณมุนีไปเผยแผ่พุทธศาสนาสยามวงศ์ที่เมืองลังกา จึงให้เนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธไปกับเรือกำปั่นนั้นด้วย

พระกรมหมื่นเทพพิพิธพำนักที่เมืองลังกาได้ 4-5 ปี ต่อมาภายหลังทราบว่ากรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าล้อมอยู่ จึงหาโอกาสหนีกลับมาเมืองไทยอีก ได้โดยสารเรือกำปั่นแขกลูกค้าเมืองเทศมายังเมืองมะริด เมื่อ พ.ศ.2305 ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2307 กองทัพพม่ายกมาตีเมืองมะริด ตะนาวศรี กรมหมื่นเทพพิพิธจึงหนีมาอาศัยอยู่ที่เมืองเพชรบุรี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร (ลาผนวชมารักษากรุงฯ) ทราบเรื่องราวกรมหมื่นเทพพิพิธตกยากอยู่ที่เพชรบุรี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่เมืองจันทบุรีในปีเดียวกันนั้น เมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธมาอยู่เมืองจันทบุรีนั้น ข่าวกองทัพพม่าล้อมกรุงฯ ปล้นสะดมชาวเมืองในหัวเมืองใกล้เคียง และเข่นฆ่าชาวบ้านชาวเมืองล้มตายเป็นจำนวนมาก ผู้คนได้รวมตัวกันเป็นชุมนุมตั้งค่ายป้องกันตัวดังค่ายบ้านบางระจัน เป็นต้น ชาวหัวเมืองในภาคตะวันออกต่างก็เห็นว่า เชื้อพระวงศ์ผู้ใหญ่ได้มาพำนักที่เมืองจันทบรี ต่างพากันมาสวามิภักดิ์ หวังจะให้เป็นหัวหน้าต่อสู้กองทัพพม่า

จนหลังกรุงแตก กรมหมื่นเทพพิพิธก็ไปตั้งก๊กหนึ่งที่เมืองพิมาย นครราชสีมา แต่ในที่สุดก็ถูกก๊กของพระยาตากปราบปรามลง และประหารชีวิตเสีย

นี่คือ ความยุ่งยากและความพัวพันในเรื่องของ\"ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในมุมมืดประวัติศาสตร์ไทย

ข้อมูล :  ห้องสมุดบ้านจอมยุทธ baanjomyut.com