ผู้เขียน หัวข้อ: สุโขทัยก็มีพระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรี !!!???  (อ่าน 4846 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
พระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรีไม่ได้มีแต่ที่พิษณุโลกเท่านั้น สุโขทัยก็มีพระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรีด้วยเหมือนกัน แต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่สุโขทัยแล้ว เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารของวัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์ แปลงเป็นพระพุทธรูปปางโปรดปัญจวัคคีย์ กับพระพุทธรูปนาคปรก (แต่แสดงปางมารวิชัย)

สำเนาจารึกครั้งรัชกาลที่ 1 ว่าด้วยพระบรมธาตุจากเมืองน่าน พ.ศ. 2351 ให้ข้อมูลว่า

เดิมพระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรีเคยประดิษฐานที่สุโขทัยมาก่อน แต่ไม่ได้บอกพิกัดว่าเป็นวัดใด จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกให้ทิ้งร้างเมืองสุโขทัยตั้งแต่ต้นรัชกาล นานเข้าทั้งเมืองและวัดก็รกร้างกลายเป็นป่า ยังผลให้พระพุทธชินราช และพระพุทธชินศรีทั้งสององค์ ?ต้องแดดฝนตรากตรำคร่ำคร่าเพลิงป่าเผาแตกพังหาผู้จะรักษาทำนุบำรุงไม่ ให้อาราธนาลงมาปฏิสังขรณ์พระลักษณสิ่งใดมิต้องด้วยพระพุทธลักษณให้ช่างซ่อม แปลง แต่งให้ต้องด้วยพระอรรถกถาบาลี?

การปฏิสังขรณ์ดังกล่าวน่าจะจัดให้มีขึ้นที่วัดสุทัศนเทพวราราม ดังปรากฏในประกาศเทวดาซึ่งมักเข้าใจผิดกันว่าเป็นการหล่อแก้พระศากยมุนีครั้งรัชกาลที่ 1 แต่จากข้อความในประกาศที่กล่าวว่าพระพุทธรูปถูกไฟป่าชำรุดเสียหายและการปฏิสังขรณ์ใหม่ให้ต้องตามพระบาลีเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในสำเนาจารึก พ.ศ. 2351 แล้วประกาศเทวดาดังกล่าวก็ควรเป็นเรื่องการปฏิสังขรณ์พระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรีจากสุโขทัยมากกว่า

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกน่าจะทรงทราบถึงความสำคัญของพระพุทธชินราช และพระพุทธชินศรีของสุโขทัยอยู่พอควร เพราะหลังจากปฏิสังขรณ์แล้วก็เชิญมาประดิษฐานที่วัดพระเชตุพน แทนที่พระพุทธรูปสุโขทัยเคยเป็นพระประธานในพระวิหารทิศใต้และทิศตะวันตกอยู่ก่อน ต้องเชิญไปสถิตที่พระวิหารวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์แทน ครั้นเจ้าฟ้าเมืองน่านเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุที่สามเณรพบในไหลอย ตามน้ำมาถวายก็ทรงเชิญมาบรรจุไว้ในพระพุทธรูปทั้งสององค์ด้วย

น่าเสียดายที่จารึกก็ไม่ได้ระบุว่าเชิญพระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรีมาจากวัดใด แต่ก็เป็นไปได้ว่าพระพุทธรูปทั้งสององค์ อาจเคยประดิษฐานด้วยกันในพระวิหารหลวงของวัดมหาธาตุสุโขทัยมาก่อน โดยอนุมานจากฐานชุกชีคู่ ในพระวิหารหลวงตอนหน้าของพระวิหารหลวงตอนในที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี ซึ่งมีขนาดเท่าๆ กันประมาณ 3 เมตร กว้างพอจะจุพระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรีที่มีหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว หรือประมาณ 270 ? 280 เซนติเมตรเท่ากันทั้งสององค์ได้สบายๆ

หากข้อสันนิษฐานเรื่องตำแหน่งที่เคยประดิษฐานในพระวิหารหลวงของวัดมหาธาตุ สุโขทัย มีความถูกต้อง ประกอบกับการเอาพระราชหฤทัยใส่และการปฏิบัติบูชาพระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพิเศษยิ่ง ก็มีความเป็นไปได้ที่ทั้งพระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรีจะเป็นพระพุทธรูปสำคัญศักดิ์สิทธิ์ของเมืองสุโขทัยมาก่อน เสียดายที่พระพักตร์ของทั้งพระพุทธชินราช และพระพุทธชินศรีได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ เป็นแบบพระพักตร์หน้าหุ่นที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงไม่อาจทราบเค้าพระพักตร์เดิมได้อีกต่อไป

แต่จากพุทธลักษณะที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง อาทิ พระอุระนูน นับว่าคล้ายกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ก็อาจเป็นไปได้ที่พระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรีจะเป็นต้นแบบของพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่

ที่มา https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_2575[
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 17, 2018, 12:59:23 AM โดย เลิศชาย ปานมุข »