ผู้เขียน หัวข้อ: บุคลิกภาพทั้ง 4 ด้านของครูที่ดี  (อ่าน 27924 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: สิงหาคม 15, 2017, 09:52:12 PM
บุคลิกภาพของครูที่ดี ประกอบด้วยบุคลิกภาพ 4 ด้าน คือ บุคลิกภาพทางกาย บุคลิกภาพทางอารมณ์ บุคลิกภาพทางสังคม และบุคลิกภาพทางสติปัญญา ดังต่อไปนี้

1. บุคลิกภาพทางกาย ประกอบด้วย
1.1 ด้านกายภาพ หมายถึง ครูที่มีบุคลิกภาพด้านกายภาพเป็นปกติและน่าศรัทธา น่านับถือ จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการอยู่ร่วมกับลูกศิษย์มากกว่าครูที่มีบุคลิกภาพด้านกายภาพผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผิดปกติในทางที่ไม่ดี ลักษณะบุคลิกภาพทางกาย ได้แก่
1) รูปร่างหน้าตา กิริยาอาการ ลักษณะท่าทางที่สง่างาม
2) การแต่งกายที่เหมาะสม คือ การแต่งกาย (รวมถึงแต่งหน้าและทรงผมด้วย) ที่สะอาด เรียบร้อย ดูดี น่านับถือ ถูกกาลเทศะ เรียกว่า Neat and Clean
3) กิริยามารยาท คือ มีกิริยามารยาที่เรียบร้อย สุภาพอ่อนโยน นุ่มนวล
4) สวมใสเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับรูปร่าง เพศ วัย และผิวพรรณ
5) มีสุขภาพกายที่แข็งแรง สมบูรณ์
6) ร่างกายสะอาด ผิวพรรณสดใส ใบหน้าแจ่มใส
7) ยืน นั่ง เดิน ให้เรียบร้อยเหมาะสม

1.2 ด้านวาจา หมายถึง การแสดงออกทางวาจา การพูดด้วยน้ำเสียงที่แฝงด้านเมตตา ปรารถนาดี นุ่มนวล การพูดด้วยลีลาที่เหมาะสม ไม่ช้าไม่เร็วจนเกินไป และรวมไปถึงการไม่พูดน้อยหรือเงียบขรึมจนเกินไป หรือการพูดมากจนน่ารำคาญ ได้แก่
1) การพูดด้วยถ้อยคำที่ถูกต้อง ชัดเจน
2) การพูดที่เหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน
3) การพูดที่ถูกกาลเทศะ
4) การพูดที่คล่องแคล่ว ถูกอักขระและคำควบกล้ำ
5) การพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน
6) พูดเสียงดังฟังชัด
7) พูดจามีสาระมีเหตุผล

1.3 ด้านการวางตัว ควรมีพฤติกรรมให้เหมาะสมกับฐานะ ตำแหน่งหน้าที่ คุณวุฒิและวัยวุฒิของตน โดยมีการแสดงออกอย่างสุภาพและจริงใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถผูกมัดน้ำใจของบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด หรือบุคคลอื่นๆ ที่มีส่วนเข้ามารู้จักและสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย
1.4 ด้านอิริยาบถ ควรมีอิริยาบถในขณะสอน ขณะทำงาน ติดต่อสัมพันธ์กับผู้เรียนและผู้อื่นให้เหมาะสมเป็นสง่าราศี เป็นที่นิยมยกย่องหรือเกรงใจของคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการนั่ง การยืน การเดิน การไหว้ การทำความเคารพ ควรมีความสำรวม เป็นต้น

2. บุคลิกภาพด้านอารมณ์
บุคลิกภาพทางอารมณ์ หมายถึง การมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม มีอารมณ์มั่นคง เสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งจะแสดงออกให้เห็นทางสีหน้า แววตา ท่าทาง และวาจาให้ผู้เรียนได้รับรู้ได้ ประกอบด้วย
1) การควบคุมอารมณ์ได้ดี ทั้งอารมณ์ดีใจ โกรธ เศร้า หรือหงุดหงิด
2) ความสนใจผู้เรียน หมายถึง มีความกระตือรือร้นที่จะรับรู้หรือถ่ายทอดความรู้ต่างๆ รวมทั้งการแสวงหาประสบการณ์ที่กว้างขวางหลากหลาย มีความสนใจในตัวผู้เรียน บทเรียน และวิธีสอน มีความเข้าใจและสนใจปัญหาต่างๆ ของผู้เรียน
3) การมีอารมณ์ขัน ไม่เคร่งเครียดจริงจังจนเกินไป
4) มีอารมณ์แจ่มใส เบิกบาน ยิ้มแย้ม และร่าเริงอยู่เสมอ
5) มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น
6) มีความรับผิดชอบต่องานสูง
7) มีความซื่อสัตย์ จริงใจ
8.) มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (พรหมวิหาร 4)
9) ตรงต่อเวลา
10) มีทัศนคติและค่านิยมที่ดีงาม
11) มีความมั่นใจในตนเอง เป็นตัวของตัวเอง
12) มีความยุติธรรม ไม่ลำเอียง (อคติ)
13) มีจิตใจกว้างขวาง ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
14) ขยันหมั่นเพียร
15) เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ
16) หนักแน่น อดทนอดกลั้น และข่มใจตนเองได้
17) มีความกล้าแสดงออกที่เหมาะสม กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล
18.) มีความสำนึกในหน้าที่การงาน

3. บุคลิกภาพด้านสังคม
เป็นบุคลิกภาพที่แสดงออกให้ผู้อื่นพบเห็นได้ในสังคม การเข้าสู่สังคมจึงเป็นบทบาทอย่างหนึ่งของครู
1) มีความเป็นผู้นำ
2) ให้ความร่วมมือกับผู้อื่น ชุมชน และสังคม
3) ความมีระเบียบวินัย สำรวมระวังความประพฤติตนอยู่ในระเบียบแบบแผน (ประพฤติต่อเป็นแบบอย่างที่ดี)
4) สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี
5) มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
6) มีการวางตัวที่เหมาะสมในสังคม
7) มีความสัมพันธ์กับผู้เรียนและเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชาที่ดี
8.) มีความเป็นกันเองกับผู้เรียน
9) การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อทุกๆ คน

4. บุคลิกภาพด้านสติปัญญา
บุคลิกภาพด้านสติปัญญา หมายถึง การใช้สติปัญญาในการสอน การแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
1) การมีปฏิภาณไหวพริบที่ดี
2) ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เหมาะสม
3) มีการตัดสินใจที่ดี
4) มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
5) มีความรู้รอบตัวดี
6) มีความจำดี
7) เป็นคนช่างสังเกต ละเอียดรอบคอบ
8.) มีความรู้ในรายวิชาที่สอนอย่างแท้จริง
9) มีความรู้ด้านวิจัย คอมพิวเตอร์ และสื่อเทคโนโลยีต่างๆ
10) มีความรู้ด้านเทคนิคการสอน การวัดผลประเมินผล
11) รู้ข้อมูลข่าวสารรอบตัวและเรื่องราวในท้องถิ่น
12) มีสามารถถ่ายทอดความรู้ เช่น ประยุกต์ใช้เทคนิคการสอนต่างๆ สามารถอบรมบ่มนิสัยผู้เรียนให้มีศีลธรรม วัฒนธรรม กิจนิสัย สุขนิสัย และอุปนิสัยที่ดี สามารถพัฒนาให้ผู้เรียนใฝ่รู้ใฝ่เรียนและก้าวทันเทคโนโลยี สามารถพัฒนาผู้เรียนให้คิดกว้าง คิดไกล และมีวิจารณญาณที่จะวิเคราะห์ข่าวสารต่างๆ ได้ดี เป็นต้น
13) รู้ตามหลักสัปปุริสธรรม 7 ประการ คือ รู้หลักการอยู่ร่วมกัน รู้หน้าที่ รู้หลักความจริงของธรรมชาติ รู้ความมั่งหมายของการกระทำอันใด รู้บทบาทภาวะหน้าที่ ความสามารถ หรือรู้ว่าตนควรทำอะไร รู้จักประมาณตน รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร ตรงต่อเวลา รู้จักท้องถิ่น ชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี และรู้จักความแตกต่างของบุคคล และยอมรับความคิดเห็น
14) แสวงหาคำแนะนำ ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะที่ดีต่อผู้เรียน
15) ลงมือกระทำจนกว่าจะถูกต้อง
16) ตรวจสอบความก้าวหน้าของตนเองอยู่เสมอ
17) หมั่นไตร่ตรอง คิดพิจารณาตนเองอยู่เสมอ

ที่มา ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักรแก้ว นามเมือง

อาจารย์ประจำวิทยาเขตพะเยา