เมื่อ: พฤศจิกายน 09, 2017, 07:33:19 AM
เขียนไว้ในมุมหนึ่งของความคิด (ส่วนตัว) : รู้สึกกังวลหาก กศน.ยังใช้ผล N-Net ในการวัดคุณภาพการศึกษาและสถานศึกษา
ทำไมถึงคิดแบบนี้ ก็เพราะว่า เราใช้คะแนนที่ดูจะคาดเคลื่อนวัดคุณภาพผู้เรียน กศน. แล้วก็วัดคุณภาพสถานศึกษาด้วย และหลายท่านก็ยึดติดคำนี้ ว่าต้องจัดการศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หรือ คะแนน N-Net กศน. ทุกภาคเรียน
มีคำ ๆ หนึ่ง คือคำว่า "ความคงทนในการเรียนรู้" ซึ่งมีความสำคัญต่อการวัดผลการจัดการศึกษา
กศน. จัดสอบ N-Net ในภาคเรียนสุดท้ายก่อนจะจบหลักสูตรแต่ละระดับ แล้วมันน่าจะมีความคลาดเคลื่อนอย่างไร
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หากลงทะเบียนวิชาคณิตศาสตร์ในภาคเรียนแรก หรือวิชาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ก็ตาม อีก 1 ปีครึ่ง ถึงจะสอบ N-Net ถามว่า ความรู้คณิตศาสตร์ หรือตัวอย่างวิชาที่กล่าวมา ของผู้เรียน จะมีความรู้เหลือมากน้อยเพียงใดหรือมีความคงทนในการเรียนรู้เท่าใดไว้ใช้ในการสอบเมื่อถึงเวลานั้น ((ไม่เหมือนในระบบโรงเรียนที่เรียนวิชาหลักต่อเนื่องกันไปทุกภาคเรียน ซึ่งมันคือทักษะที่จะเกิดความรู้ความชำนาญ ในแต่ละรายวิชาจนกว่าจะจบระดับชั้น และในระบบโรงเรียนผู้จะจบมากกว่า ผู้ที่ยังไม่จบในรุ่นเดียวกัน ตรงข้าม กศน. ของเราผู้จะจบน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่จบ))
ทั้งนี้ ยังไม่รวมวิชาและสาระะอื่น ๆ ที่เข้าข่ายลักษณะนี้
ผู้เรียนลงทะเบียนเรียน 4 ภาคเรียน (ซึ่งบางคนอาจมากกว่า 4 เทอม 5 ,6, หรือจนถึง 10 เทอมซึ่งสูงสุด) ถึงจะจบหลักสูตร
ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ เพียงสาระเดียวและวิชาเดียว หากเปรียบเทียบผลคะแนน ระหว่างสถานศึกษา (ก) ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในภาคเรียนที่แรก กับสถานศึกษา (ข) ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ในภาคเรียนสุดท้าย นับ 4 ภาคเรียนเท่ากัน หากผลคะแนนที่ออกมา ของผู้คาดว่าจะจบในภาคเรียนเดียวกันปรากฏว่า
สถานศึกษา (ข) มีคะแนนวิชาคณิตศาสตร์สูงกว่า สถานศึกษา (ก) แสดงว่าสถานศึกษา (ข) มีคุณภาพการสอนวิชาคณิตศาสตร์มากกว่า สถานศีกษา (ก) ใช่แบบนั้นจริงหรือไม่ ?
นักศึกษาของสถานศึกษา (ก) มีความรู้ในรายวิชาคณิตศาสตร์ น้อยกว่าสถานศึกษา (ข) ถูกหรือไม่ ?
ยังไม่รวมการลงทะเบียนเรียนวิชาเดียวกันแต่ต่างภาคเรียน แล้วมาวัดผลพร้อมกัน โดยทิ้งช่วงเวลาความคงทนในการเรียนรู้จะเหลือมากน้อยเพียงใดในแต่ละรายวิชา รายสาระการเรียนรู้ ซึ่งผลสอบเปรียบเทียบสามารถเช็คได้จาก สทศ.
สุดท้ายแล้วคะแนน N-Net มันวัดคุณภาพครูผู้สอนและสถานศึกษา กศน. จริงหรือไม่ลองคิดดูกันเล่น ๆ เมื่อตัวแปร คือ ลำดับรายวิชาที่ลงทะเบียน+ช่วงระยะเวลาที่เรียน+ช่วงเวลาที่สอบ+ตัวผู้เรียนซึ่งก็ไม่มีผลต่อคะแนนได้หรือตกของแค่ให้เข้าสอบเท่านั้น
ท้ายที่สุดปัจจัยสำคัญ ก็คือ ครูผู้สอนเอง ที่ทำอย่างไร ภายใต้ข้อจำกัด ที่มีทั้งปัจจัยนำเข้าที่แตกต่างและหลากหลาย กระบวนการผลิตที่ต้องมีหลากหลายรูปแบบ แต่ต้องการผลลัพธ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานเท่าเทียมกัน
***************
เลิศชาย ปานมุข
11 ตุลาคม 2560
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 09, 2020, 12:26:54 PM โดย เลิศชาย ปานมุข »