เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
คุณภาพการศึกษาตกต่ำ คุณภาพกำลังคนตกต่ำ
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: คุณภาพการศึกษาตกต่ำ คุณภาพกำลังคนตกต่ำ (อ่าน 3881 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
คุณภาพการศึกษาตกต่ำ คุณภาพกำลังคนตกต่ำ
เมื่อ:
มกราคม 18, 2018, 11:09:00 PM
ขณะนี้มีคำถามมากว่าเกิดอะไรขึ้นกับแรงงานไทย หรือคนทำงาน ที่สถานศึกษาระดับต่าง ๆ ผลิตออกมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจะให้ได้คำตอบนี้เราต้องมาทำความเข้าใจกันว่า ขณะนี้พวกเขากำลังทำอะไรกันอยู่ ผ่านรายงาน เรื่อง คุณภาพการศึกษาตกต่ำ คุณภาพกำลังคนตกต่ำ จะไม่มีใครช่วยได้เชียวหรือ? โดย รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอข้อมูลไว้น่าสนใจ ดังนี้
เดือนตุลาคม 2560 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรไทย ซึ่งมีจำนวนประมาณ 65.75 ล้านคน อยู่ในวัยแรงงาน (work force) จำนวน 56.05 ล้านคน เปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน น่าจะอยู่ในลำดับที่ 3 รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทุกวันนี้ประเทศไทย ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากประชากรวัยแรงงาน จำนวนมากเช่นนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะมีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 37.22 ล้านคน ซึ่งผู้เขียนขอใช้เวลาพูดถึง กลุ่มที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.83 ล้านคน (33%) ซึ่งแน่นอนกลุ่มนี้เป็น กลุ่มไม่ได้ หรือยังไม่ได้อยู่ในฐานะสร้างรายได้ให้กับประเทศ เช่น แม่บ้าน 5.72 ล้านคน เป็นคนทำงานที่คอยสนับสนุนคนในบ้าน ที่ต้องออกไปทำงานภาคเศรษฐกิจไม่ถือว่าเป็นภาระของสังคม เนื่องจากมีคนหารายได้ให้ใช้อยู่เบื้องหลัง
แต่ผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน ซึ่งกำลังเรียนหนังสือ 4.44 ล้านคน เกือบ 100% อยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้งบประมาณมากกว่า 20.3% ของงบฯ รายจ่ายทั้งประเทศ เพื่อหวังว่าจะผลิตบุคลากร จบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ แต่คุณภาพของผู้เรียนที่ผ่านมาจนทุกวันนี้ ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เป็นผลจากการที่คุณภาพการศึกษาตกต่ำ มาเป็นเวลานาน นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวของการศึกษาไทย ที่ส่งต่อผู้คนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ข้อเท็จจริงของความล้มเหลว คือไม่สามารถรักษาเด็กแต่ละชั้นเรียนให้คงอยู่ในสถานศึกษา เช่น จำนวนเด็กก่อนจะถึงอายุ 15 ปีนั้น ในปี 2559 เป็นเด็กอยู่ในระดับการศึกษาภาคบังคับ (6-14 ปี) ซึ่งมีประชากรวัยนี้อยู่ 7.4 ล้านคน แต่ปรากฏว่าได้รับการศึกษาเพียง 7.2 ล้านคน หลุดจากระบบการศึกษาจากแต่ละชั้นเรียนถึง 2 แสนคน ซึ่งเป็นหน้าที่ของโรงเรียนในสังกัด ศธ. และผู้ปกครองจะต้องนำเด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ แต่ความเป็นจริงหน่วยงานที่รับผิดชอบยังปล่อยให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาโดยไม่ได้รับการศึกษา และพบว่าเด็กเหล่านี้ส่วนหนึ่งกลายเป็นเด็กด้อยคุณภาพ ถ้าตกจากระบบนานนับ10 ปี และไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาไม่ได้รับการฝึกอบรมอีกเลยจนอายุถึง 18 ปี ในที่สุดก็จะกลายเป็นแรงงาน หรือคนทำงานทักษะต่ำ (low skilled) ทำงานรับจ้าง รายได้ต่ำวนเวียนในวัฏจักรของความยากจน
ตัวเลขนักเรียนไม่ได้เรียนต่อระดับ ม.ต้น มีมาก ในปี 2559 อยู่ในความรับผิดชอบของ ศธ. ซึ่งกลุ่มนี้มีอายุ 12-14 ปี มีประชากรวัยนี้ 2.6 ล้านคน แต่ไม่ได้เรียนต่อถึง11.4% หรือประมาณ 3 แสนคน เป็นสถิติที่น่าตกใจมากเนื่องจากอายุยังไม่ถึงวัยทำงานไม่มีใครกล้าจ้างเด็กเหล่านี้เข้าทำงาน (เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าใช้แรงงานเด็ก) นับเป็นความสูญเปล่าที่ยังไม่ได้แก้ไขให้สำเร็จ
..ยิ่งกว่านั้น เมื่อเข้าสู่วัยที่ต้องเลือกเรียนต่อสายสามัญและอาชีวศึกษา พบว่ามีเด็กวัย 15-17 ปีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านคน เรียนต่อเพียง 2 ล้านคน แบ่งเป็นเรียนต่อสายสามัญ 1.3 ล้านคน (48.9%) อาชีวศึกษา 0.7 ล้านคน (23.8%) (ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมายที่ต้องการให้มีผู้เรียน ปวช. ถึง 60-70%) ดังนั้น ยังมีผู้ไม่ได้เรียนต่อถึง 0.7 ล้านคน (27.1%) นับเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติเช่นกัน เพราะเด็กกลุ่มนี้หากจะทำงานก็ทำได้ไม่เต็มที่ แม้จะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่นายจ้างก็ไม่อยากสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
การที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อยลงอยู่แล้วแต่ยังปล่อยให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควรเช่นนี้ก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก เช่น ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลน และเยาวชนยากจน เป็นต้น
ปัญหารองลงมาเป็นเรื่องที่ผู้เรียนจบ ม.ปลาย และอาชีวะ (ช่วงอายุ 18-21 ปี) ปรากฏว่ามีเด็กนักเรียนถึง 43.7% หรือประมาณ 308,000 คน ไม่ได้เรียนต่ออุดมศึกษา(หรืออนุปริญญา) โดยเด็กเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าทำงานได้ทันทีทั้งหมด เนื่องจากบางส่วนอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ต้องรอเกือบปีเต็ม และเป็นช่วงที่เด็กจะอ่อนไหวต่อการเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองเพื่อรอเข้าสู่ตลาดแรงงาน (ถ้าไม่กลับเข้าไปเรียนต่อ) จึงมีจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน เกิดความสูญเสียต่อประเทศชาติ จนไม่อาจประเมินได้
ดังนั้น เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงาน กศน. และ/หรือหน่วยงานประชารัฐ จะต้องจัดฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้ได้มีโอกาสเพิ่มเติมความรู้ และประสบการณ์ เพื่อให้ทุกคนสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ขาดแคลนแรงงาน จำนวนนับแสนคนได้ นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เข้าเรียนอุดมศึกษาปีที่ 1 ไม่ได้มาลงทะเบียน หรือออกจากระบบการศึกษาถึง 38.6% ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเช่นกัน นับเป็นความสูญเปล่าต่อประเทศเป็นอย่างมาก
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีหน้าที่โดยตรงที่ต้องนำนักเรียนที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับกลับเข้าเรียนหนังสือ และ/หรือเทียบการศึกษา (อาจจะโดยสำนักงาน กศน.) เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีความรู้ติดตัว เพื่อสามารถเข้ารับการฝึกอบรมในระดับเหมาะสมกับวัย และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานประชารัฐ
ที่จริงแล้วการสูญเสียอันเกิดจากเด็กนักเรียนไม่ได้เรียนทุกคนนั้นเป็นความสูญเสียเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีผู้ที่ทั้งอยู่ และไม่ได้อยู่ในกำลังแรงงานอีกส่วน คือคนว่างงานเกือบ 1.2 ล้านคน ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่สามารถสนับสนุนมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นภาระให้กับประเทศอีกด้วย ถ้าตัดกลุ่มพระและเณรออกไป กลุ่มที่เหลือเข้าข่าย ?เสียของ? โดยเฉพาะผู้ต้องโทษ หรือผู้อยู่ในสถานพินิจฯ ถึงแม้ว่าจะได้รับอิสรภาพแล้ว แต่ก็มีปัญหาในการเข้าทำงานในระบบ อันเกิดจากสังคมยังไม่เปิดกว้างยอมรับกำลังแรงงาน ?มีตำหนิ? เหล่านี้ ทำให้อยู่ในภาวะ ?ถูกรอนสิทธิ? การช่วยเหลือกลุ่มนี้ คือการส่งเสริมให้ทำงานอาชีพอิสระหรือสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมผ่อนปรนกฎระเบียบให้รับผู้ต้องขังเข้าทำงานให้มากขึ้น
เมื่อย้อนกลับไปดู ประชากรวัยแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงาน 37.2 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำเป็นส่วนใหญ่ 36.65 ล้านคน มีพลังในการสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไม่เท่ากัน เนื่องจากแรงงาน/คนทำงานมีคุณภาพ (การศึกษา) สูงต่ำแตกต่างกัน ถ้าจำแนกแรงานกลุ่มนี้ออกเป็น 2 ส่วน
คือแรงงานในระบบ (ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายมีเพียงประมาณ 15.34 ล้านคน หรือ 41.2% เท่านั้น) ถ้าตัดนายจ้างออก 0.94 ล้านคน จะเหลือลูกจ้างเอกชนเพียง 14.4 ล้านคน ซึ่งประเทศไทย พึ่งพาการสร้างรายได้ในรูปมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยจากกำลังแรงงานเพียง 41.8% เป็นแรงงานที่มีคุณภาพระดับ semi-skilled ขึ้นไป
แต่กำลังแรงงานส่วนใหญ่ เป็นแรงงาน (หรือคนทำงาน) นอกระบบ (ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย) จำนวน 21.31 ล้านคน หรือ 58.2% แรงงานกลุ่มนี้อยู่ในภาคเกษตรถึง 11.04 ล้านคน มากกว่า 51.8% ของแรงงานนอกระบบ ส่วนมากมีคุณภาพ (ระดับการศึกษา) ระดับประถมศึกษา หรือต่ำกว่าเกือบ 50% ทำการผลิตทางการเกษตรเชิงเดี่ยว มีผลิตภาพต่ำทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำมาก อีก 10.27 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานส่วนตัว ซึ่งมีจำนวนน้อยที่ประสบความสำเร็จในการหารายได้ที่มั่นคง ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งที่จะมีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในระดับที่สูง(ช่วยสนับสนุนให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว)
สิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปแล้วคือ พยายามนำประเทศไทย ให้ก้าวข้ามประเทศที่ติดกับดักประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลางไปให้ได้ โดยกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศระยะยาว 20 ปี พร้อมกับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมุ่งสู่นวัตกรรม 4.0 (ไทยแลนด์ 4.0) ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบเดิมๆ รวมเวลา 55 ปี พิสูจน์แล้วว่าประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจได้ช้ากว่าประเทศที่เริ่มพัฒนามาพร้อมๆ กัน คือ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย
จุดอ่อนของประเทศไทยคือ มีปัญหาที่การผลิตและพัฒนากำลังคน (ด้านอุปทาน) และปัญหาการผลิตและการค้าที่ขาดนวัตกรรม (ด้านอุปสงค์) การที่ประเทศไทยกำลังปรับโครงสร้างการผลิต/อุตสาหกรรมบริการ ในช่วง 20 ปีข้างหน้า นับว่าเดินมาถูกทาง แต่รัฐก็ต้องเผชิญปัญหาหลายประการ หรืออย่างน้อยจะพบว่าประเทศไทยยังขาดนักพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความสามารถระดับโลก
สังเกตได้จากรายชื่อมหาวิทยาลัยวิจัย ที่ไทยมีอยู่ติดลำดับไม่ถึง 100 ของโลก มีนวัตกรรมในรูปสิทธิบัตรค่อนข้างน้อย และมีผลงานวิจัยที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ค่อนข้างจำกัด มีผู้มีงานทำที่จบสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นับล้านคน แต่ส่วนใหญ่ทำงานไม่ตรงกับสาขาที่ศึกษา มีกำลังแรงงานเพียง 41% ของกำลังแรงงานที่อยู่ในข่ายสนับสนุน ทั้งหมด 8.12 ล้านคนในภาคอุตสาหกรรม (หรือ 21.8% ของกำลังแรงงาน) และมีแรงงานสาขาเทคนิคหรือจัดในกลุ่ม productive work force ไม่ถึง 2 ล้านคน ซึ่งยังมีน้อยมากเทียบกับกำลังแรงงาน 37.2ล้านคน
ทั้งนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ดังนี้
1.เด็กวัยเรียนทุกคนต้องได้เรียนและระหว่างเรียนต้องรักษาอัตราคงอยู่ทุกชั้นเรียนให้ได้ใกล้เคียงกับ 100% ผู้บริหาร ศธ. ทุกระดับและครูทุกคนต้องรับผิดชอบกับคุณภาพเด็กนักเรียนทุกคนที่ไม่ได้มาตรฐานให้กลับมาเป็นพลังในการพัฒนาประเทศให้ได้
2.เก็บตกเด็กวัยเรียนทุกคนให้ได้เรียนและ/หรือฝึกฝีมือแรงงาน เด็กและเยาวชนที่พ้นวัยเรียนรวมทั้งผู้ที่ตกจากระบบมาก่อนให้พวกเขาทุกคนมีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะประกอบสัมมาอาชีพได้ทุกคน
3.ใช้กระบวนประชารัฐที่รัฐบาลได้สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือในการประสานความร่วมมือในการเตรียมผู้จบการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมายที่เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง
4.ขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ซึ่งเน้นการจัดการศึกษาทุกช่วงวัย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
และ 5.รัฐควรจะต้องดูแลกำลังคนที่เป็นแรงงานในระบบและคนทำงานนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม
ดังนั้น ก่อนที่จะคิดถึงอะไรที่ไกลความเป็นจริง รัฐก็ควรจะดำเนินการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง 5 ข้อข้างต้นเสียตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ที่มา siamrath
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
คุณภาพการศึกษาตกต่ำ คุณภาพกำลังคนตกต่ำ
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?