เมื่อทุกอย่างในโลก สามารถตอบสนองความต้องการได้แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส
แล้วการจัดการศึกษาของ กศน. จะอยู่อย่างไร
?เขียนไว้ในมุมหนึ่งของความคิดเพื่อบันทึกไว้?
เลิศชาย ปานมุข ครู กศน.
8 พฤศจิกายน 2561
**********************
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัจจุบัน ความรู้ต่างๆซึมซับเข้ามาในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น เมื่อเราเริ่มจับสมาร์ทโฟน ทุกคนสามารถเรียนรู้ ผ่านข้อมูลข่าวสาร ผ่านความต้องการ ผ่านความสนใจในเรื่องนั้นๆ โดยปลายนิ้วสัมผัสและการค้นหาอย่างง่ายดาย แม้จะไม่ใช่การศึกษาที่มีรูปแบบการวัดผลประเมินผลที่ชัดเจน แต่ก็เป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นจริงแล้วในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ขึ้นอยู่กับการเลือกรับ นั่นหมายถึง เป็นการเริ่มต้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันทางความคิด กับสิ่งที่อ่าน สิ่งที่ดู สิ่งที่เห็น อย่างมีวิจารณญาณ แต่กระนั้น ก็ยังคงต้องแนะนำ ควบคุม หรือ ส่งเสริมการแสวงหาความรู้ให้ถูกต้องและเกิดประโยชน์มากที่สุด
ในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์คและอินเตอร์เน็ต องค์ความรู้ต่างๆมีมากมายมหาศาล ในทุกสาขาวิชา ทุกสาขาอาชีพ รวมถึงมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องที่ประสบความสำเร็จ และสิ่งที่ผิดพลาดล้มเหลวผ่านบุคคลต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลอย่างดียิ่ง ในการนำไปปรับใช้ในการทำงานหรือการดำเนินชีวิต และช่วยในการคิด การตัดสินใจ ได้เร็วขึ้น เพราะการลองผิดลองถูกด้วยตนเองนั้น ต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว เราได้เห็นการทำธุรกิจ ทำการค้า ในรูปแบบร้านค้าออนไลน์โดยไม่ต้องเรียนการตลาดหรือบริหารธุรกิจ เราได้เห็นการทำการท่องเที่ยวแบบบ้านๆผ่านไอเดียที่สร้างสรรค์ โดยไม่ต้องจบสถาปนิกและการประชาสัมพันธ์ เราได้เห็นการผลิตสินค้า Handmade ที่มีความหลากหลายตรงใจลูกค้า โดยไม่ต้องเรียนการออกแบบ เราได้เห็นการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมสินค้าชุมชน โดยชาวบ้านเอง ไม่ต้องผ่านหน่วยงานราชการ เป็นต้น ซึ่งอีกไม่กี่ปีนับจากนี้ เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเกือบทุกอย่าง อุตสาหกรรมจะแทนที่ด้วยเครื่องจักร AI ระบบการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัยจะแทนที่ด้วย MOOC การเงินการธนาคารจะแทนที่ด้วยระบบ Mobile Banking ห้างสรรพสินค้าและร้านโชห่วยจะแทนที่ด้วยการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และอีกมากมาย
แล้ว กศน. ในฐานะนักจัดการศึกษาจะอยู่อย่างไร
เมื่อกลุ่มเป้าหมายของเราหลายกลุ่มมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป เราจึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ซึ่ง กศน. ขึ้นชื่อว่า เป็นนักจัดกิจกรรม นักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี คือการใช้ ?กิจกรรม นำความรู้? ดังนั้นเราต้องเป็นผู้สร้างกิจกรรมที่ท้าทายตอบโจทย์ความต้องการและการสร้างการรับรู้ใหม่ๆได้ ทำให้เกิดความสุข ความสนุกสนาน และรอยยิ้ม เพราะอย่าลืมว่าความรู้ที่เราถ่ายทอดนั้น ส่วนใหญ่มีอยู่ในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์คและอินเตอร์เน็ตเกือบทั้งหมดแล้ว แต่สิ่งที่เทคโนโลยียังไม่สามารถทำได้ คือ การทำให้คนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดอย่างสร้างสรรค์ จุดประกายความคิดใหม่ๆ หรือใช้ในการแก้ไขปัญหา ตามปรัชญา ?คิดเป็น? ของ กศน. รวมถึงการสร้างความรัก ความสามัคคี และการมีจิตสาธารณะ ซึ่งเครื่องจักรไม่สามารถทำให้คนมีความคิดในรูปแบบที่ซับซ้อนนี้ได้ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะมาช่วยให้การดำเนินชีวิต มีความสะดวกสบาย หรือมีความสุขมากเพียงใด แต่มนุษย์ก็ยังคงเป็นสัตว์สังคม ยังคงต้องการปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน พึ่งพาอาศัยกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ในสังคมสีเทาบนโลกใบนี้
โจทย์ใหญ่ของการจัดการศึกษา ในยุคที่ต้องแข่งขันกันทำงาน ผ่านคำอันสวยหรูว่า ?ไทยแลนด์ 4.0?
///เขียนเล่นๆเพื่อบันทึกไว้ เมื่อมองไปนอกหน้าต่าง ท่ามกลางนาข้าว///
************************