เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์นำข้าราชการไพร่พลบุกเข้าพระราชวังกลางดึก ประกาศยึดอำนาจจากสมเด็จพระเชษฐาธิราช
ต่อมาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ภาพจิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร วาดในสมัยรัชกาลที่ 5)
ที่มา : https://www.silpa-mag.com/
การทำนายทายทักเป็นสิ่งที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ย้อนกลับไปรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 24 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2172 ? 21991 พระองค์ทรงมีความเชื่อเรื่องโชคลางและการทำนายเป็นอย่างมากในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงรัชสมัยของพระองค์ปรากฏเรื่องราวความเชื่อเรื่องโชคลางอยู่หลายส่วนด้วยกัน
สาเหตุหนึ่งที่พระองค์ทรงเชื่อเรื่องโชคลางอาจเป็นเพราะพระองค์ทรงขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยวิธีการที่ไม่สะดวกและราบรื่นนัก เพราะพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่มาก่อน จากโครงสร้างการปกครองในช่วงเวลานั้นที่ได้ให้บทบาทกับขุนนางเป็นจำนวนมาก จนอำนาจที่มีสามารถกำจัดคู่แข่งทางการเมืองได้ เช่น ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ที่เป็นตำแหน่งก่อนหน้าที่จะเลื่อนสถานะเป็นพระมหากษัตริย์2
การที่พระองค์ทรงครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ได้นั้นช่วงแรกทรงทำหลายวิธีด้วยกันเพื่อให้พระราชบัลลังก์มั่นคง เช่น การสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจเก่าด้วยการแต่งตั้งพระราชธิดาพระมหากษัตริย์องค์ก่อนหน้าอย่างพระเจ้าทรงธรรมให้เป็นพระมเหสี พยายามกำจัดผู้ที่พยายามก่อกบฎควบคุมขุนนางโดยเฉพาะการใช้กำลังไพร่พล และการสร้างวัดสิ่งศักดิ์สิทธิ์บูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถานที่สำคัญ เช่น วัดไชยวัฒนาราม รวมไปถึงการทำพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนา เพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์และเสริมสร้างความมั่นคงบทบาทพระมหากษัตริย์ของพระองค์ให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น เมื่อมาถึงรัชสมัยของพระองค์การที่จะให้มีผู้มาสืบราชสมบัติยิ่งต้องเข้มงวดมากยิ่งขึ้น นอกจากจะมีความสามารถแล้วยังต้องมีบุญญาธิการมากพอที่จะขึ้นครองราชย์ด้วย3
เรื่องการเสี่ยงทายพระโอรสพระองค์ในจะได้ขึ้นครองราชย์นั้น ปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าที่เขียนขึ้นถึงเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเรื่องราวที่ปรากฏหลายส่วนก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีความเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด เช่นเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ทรงเสี่ยงทายพระโอรสของพระองค์ว่าพระโอรสพระองค์ใดจะมีบุญญาธิการได้ขึ้นครองราชย์
เรื่องราวนั้นมีอยู่ว่า พระเจ้าปราสาททองทรงแต่งตั้งพระมเหสีทั้ง 8 พระองค์ แบ่งเป็นฝ่ายขวาสี่พระองค์ ได้แก่ พระประทุมมา พระสุริยา พระจันทเทวี และพระศิริกัลยา แบ่งเป็นฝ่ายซ้ายอีกสี่พระองค์ ได้แก่ พระอุบลเทวี พระประภาวดี พระไวยบุตรี และพระกนิษฐาเทวี โดยที่พระเจ้าปราสาททองทรงมีพระราชโอรสทั้งหมด 7 พระองค์อันประสูติจากพระประทุมมา 4 พระองค์ ได้แก่ พระองค์ไชย พระไตรภูวนาถ พระอภัยชาติ และพระไชยาทิตย์ และประสูติจากพระอุบลเทวีอีก 3 พระองค์ ได้แก่พระขัตติยวงศา พระไตรจักร และพระสุรินทรกุมาร
พระราชโอรสทั้ง 7 พระองค์นั้นเป็นที่รักยิ่งของพระราชบิดาแต่มีพระราชโอรสพระองค์ใหญ่คือ พระองค์ไชยกุมาร ที่พระเจ้าปราสาททองทรงหมายมั่นพระทัยจะให้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ ด้วยความที่พระองค์ทรงเชื่อเรื่องบุญญาธิการ จึงทรงสงสัยบุญญาธิการที่พระราชโอรสแต่ละพระองค์ทรงมีว่า พระราชโอรสพระองค์ใดจะมีบุญญาธิการถึงครองกรุงศรีอยุธยาได้
ด้วยเหตุผลข้างต้นพระเจ้าปราสาททองจึงใช้วิธีการลอบเสี่ยงทายพระราชโอรสทั้ง 7 พระองค์ว่า พระราชโอรสพระองค์ใดจะมีบุญญาธิการถึงครองกรุงศรีฯ โดยทรงทำการเสี่ยงทายสามวิธีด้วยกัน วิธีการเสี่ยงทายแรก พระองค์ทรงเสี่ยงทายด้วยพระขรรค์ ทรงนำพระขรรค์ทั้ง 7 เล่ม โดยทรงทำสัญลักษณ์ไว้บนพระขรรค์แล้วทรงตั้งจิตอฏิฐานว่าพระราชโอรสพระองค์ใดมากด้วยบุญญาธิการ ขอให้ได้พระขรรค์เล่มที่เป็นกษัตริย์ด้วย ครั้นพระองค์เสี่ยงทายแล้วจึงนำพระขรรค์วางเรียงกันทั้ง 7 เล่ม และทรงเรียกพระราชโอรสเข้าเฝ้า โดยพระองค์ไชยกุมารทรงเข้าเฝ้าเป็นพระองค์แรกและทรงเลือกพระขรรค์ที่โปรดหนึ่งเล่ม?แต่ไม่ใช่พระขรรค์ที่พระราชบิดาทรงตั้งพระทัยไว้ และให้พระราชโอรสอีก 6 พระองค์ มาเข้าเฝ้าและเลือกพระขรรค์ตามแต่ที่จะโปรด และพระสุรินทรกุมารเป็นผู้ทรงเลือกพระขรรค์เล่มที่พระราชบิดาตั้งพระทัยเอาไว้ แต่พระองค์ทรงไม่ได้ตรัสอันใดเพราะการเสี่ยงทายนั้นมีถึงสามครั้งด้วยกัน
ครั้งแรกอาจไม่เห็นผลต้องรอผลอีกสองครั้งตามพระราชประสงค์ที่มีแต่แรก พระเจ้าปราสาททองทรงหมายพระทัยจะทำการเสี่ยงทายสามครั้งยังเหลือการเสี่ยงทายอีกสองครั้ง ในครั้งที่สองนี้ พระองค์ทรงเสี่ยงทายด้วยช้าง โดยนำช้างพระที่นั่งมาเจ็ดช้างและให้พระราชโอรสทั้งเจ็ดพระองค์ทรงเลือกช้างที่ต้องพระประสงค์ที่พระองค์ทรงคิดไว้ ทรงเรียกพระไชยกุมารเข้าเฝ้าเพื่อมาเลือกช้างเป็นพระองค์แรกด้วยพระเจ้าปราสาททองทรงหวังว่าพระราชโอรสพระองค์นี้จะทรงเลือกช้างที่พระองค์ทรงเลือกไว้ แต่กลับเป็นว่าพระองค์ไชยกุมารไม่ได้ทรงเลือกช้างตามที่พระราชบิดาทรงเลือกไว้ และยังคงเป็นพระสุรินทรกุมารที่ทรงเลือกช้างต้องพระราชประสงค์พระราชบิดา
เมื่อมาถึงการเสี่ยงทายครั้งสุดท้ายที่พระเจ้าปราสาททองทรงตั้งพระทัย คือการเสี่ยงทายด้วยม้า พระสุรินทรกุมารยังคงเสี่ยงทายได้ม้าที่พระราชบิดาทรงเสี่ยงทายไว้เช่นเคย
พระเจ้าปราสาททองทรงมั่นพระทัยแล้วว่าพระสุรินทรกุมารมีบุญญาธิการที่ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แน่แท้ แต่พระองค์ทรงเลือกไม่ตรัสสิ่งใดเพียงแต่ทรงสอนสั่งให้พระราชโอรสทุกพระองค์รักใคร่ปรองดองอย่าคิดร้ายต่อกัน
เรื่องบุญบารมีของพระสุรินทรกุมารยังไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ครั้งเมื่อเกิดไฟไหม้ใหญ่พระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาท พระราชโอรสพระองค์นี้ทรงเสด็จไปช่วยดับไฟ ผู้คนที่ต่างพากันมาช่วยดับไฟนั้นเห็นเป็นมหัศจรรย์เพราะเห็นพระราชโอรสพระองค์นี้มีสี่กร เมื่อพระราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์จริงดั่งการเสี่ยงทายผู้คนจึงถวายพระนามตามที่เห็นเป็นนิมิตเมื่อเกิดไฟไหม้ใหญ่ว่า ?พระนารายณ์? และนี่เป็นที่มาพระนามของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน
เชิงอรรถ
1 มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. หน้า 142.
2 วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ. (2560). ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา. หน้า 162.
3 เอนก มากอนันต์. (2561). จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย. หน้า 53.
อ้างอิง
คำให้การชาวกรุงเก่า. (2553). ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: แสงดาว.
ธีรวัต ณ ป้อมเพชร. (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จ?พระเทพรัตนราชสุดา.
วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ. (2560). ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สารคดี.
เอนก มากอนันต์. (2561). จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: มติชน.