ผู้เขียน หัวข้อ: การให้ feedback ที่ตอบสนองต่อความแตกต่างของนักเรียน  (อ่าน 3161 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3910
โดย ครูฐาปนีย์ ดวงฉายจรัสไชย ครูจากโครงการ Teach for Thailand

          การให้ feedback เป็นอีกหนึ่งกระบวนการสำคัญที่ควรมี และเกิดขึ้นในห้องเรียนทุกห้องเลยก็ว่าได้ เนื่องจาก หากมีการให้ และรับ feedback กันอย่างมีประสิทธิภาพอยู่อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ผู้รับได้พัฒนาตนเองอย่างเหมาะสมอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่คุณครูต้องการให้เกิดกับนักเรียนทุกคนของตนเอง

          แต่ทว่า ก็มีปัจจัยสำคัญอยู่ปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพ และความเหมาะสมของ feedback ลดลง ปัจจัยนั้นก็คือ ความแตกต่างที่หลากหลายของนักเรียน โดยหากคุณครูใช้วิธีการเดียวกันในการให้ feedback กับนักเรียนทุกคน นักเรียนแต่ละคนก็จะมีการตอบสนองกลับมาที่ไม่เหมือนกัน ทำให้คุณครูต้องปรับวิธีการให้ feedback ให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน

          โดยจากการวิจัยหนึ่ง ที่ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากงานเขียน และจากคุณครู 2 ท่านที่มีประสบการณ์ในการให้ feedback ที่ตอบสนองต่อความแตกต่างของนักเรียน ซึ่งจากผลการวิจัยนี้ ทำให้พบว่าในกระบวนการให้ feedback เพื่อตอบสนองต่อความแตกต่างของนักเรียนนั้น ควรที่จะพิจารณาหรือ/และประกอบไปด้วย

(1) ให้มองนักเรียนเป็นคนๆ หนึ่ง ที่มีความพิเศษที่แตกต่างกัน (Seeing Students as Unique Individuals)
          คุณครูทั้ง 2 ท่านล้วนมีความเชื่อว่า นักเรียนของพวกเขาทุกคนเป็นเพียงแค่บุคคลหนึ่งที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน ด้วยความเชื่อนี้จะทำให้คุณครูสามารถให้ feedback ที่มีคุณภาพที่ดีได้ เนื่องจากคุณครูจะพยายามหาวิธีตอบสนองที่เหมาะสมที่สุดกับนักเรียนรายบุคคล โดยไม่ใช้วิธีเพียงวิธีเดียวที่เหมือนกันกับนักเรียนทุกคน หากคุณครูสามารถมีความเชื่อแบบนี้ได้ และลงมือทำตามความเชื่อนี้ โดยการให้ feedback กับนักเรียนอย่างแตกต่างกันอย่างเหมาะสม นักเรียนจะรู้สึกว่าพวกเขามีคุณค่าหรือจุดเด่นที่เป็นที่ยอมรับของคุณครู และจะตั้งใจรับฟัง feedback ที่คุณครูให้เพื่อนำไปพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องอย่างเต็มที่

(2) การวางขอบเขตให้กับเนื้อหาของการให้ feedback (Intentionally Framing Feedback)
          ขอบเขตของเนื้อหาที่คุณครูจะให้ feedback กับนักเรียนนั้นต้องประกอบไปด้วย feedback ที่เป็นเชิงบวก (positively framed feedback) และ feedback ที่เป็นเชิงลบ (negatively framed feedback) ซึ่งต้องมีครบทั้งสองอย่างนี้ในการให้ feedback ของคุณครู โดยในการให้ feedback ทั้งสองรูปแบบนี้ ต้องให้อย่างเหมาะสม และผสมผสานกันอย่างลงตัว ถึงจะเกิดประสิทธิภาพต่อการพัฒนานักเรียนไปให้ถึงเป้าหมายที่ตัวเขาเองกำหนดไว้จริง ๆ

          ในการให้ feedback ที่เป็นเชิงบวก คุณครูควรใช้ในการกระตุ้นนักเรียนที่พวกเขามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองยังต่ำอยู่ เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำได้ และกระตุ้นตัวเองให้ทำงานๆ นั้นให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง ในทางตรงข้ามกัน หากนักเรียนคนดังกล่าวมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองที่มากอยู่แล้ว คุณครูควรให้ feedback ที่เป็นเชิงลบมากกว่าเชิงบวก เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาผลักดันตัวเองให้ใช้ความพยายามที่มากขึ้นกว่าเดิม และพัฒนาตนเองให้ดีเทียบเท่าหรือมากกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้
         สำหรับการให้ feedback ในเชิงลบนั้น คำพูดที่คุณครูพูดสื่อสารออกมา ควรเป็นสิ่งที่นักเรียนคนที่คุณครูกำลังให้ feedback เป็นคนทำหรือแสดงออกมาเท่านั้น คุณครูไม่ควรใช้การให้ feedback ในเชิงลบนี้ในเชิงเปรียบเทียบกับผู้อื่นเด็ดขาด

          และในบางกรณีที่ผลลัพธ์ของนักเรียนอาจจะไม่มีตรงไหนที่คุณครูสามารถชื่นชมได้เลย คุณครูก็ควรที่จะพยายามให้ feedback ในเชิงบวกออกมาให้ได้ หรืออีกวิธีที่ควรทำคือ การใช้คำถาม แทนการพูด เพื่อให้นักเรียนได้ไตร่ตรอง และตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองทำลงไป

          ซึ่งนอกเหนือจากองค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้ สิ่งที่สำคัญควบคู่ที่จะทำให้การให้ feedback มีประสิทธิภาพต่อนักเรียนนั้น คือ การลงทุนเวลาในการพูดคุยเพื่อให้ feedback กับนักเรียน และความสัมพันธ์ที่ดี ที่เชื่อใจกันระหว่างคุณครู และนักเรียน

อ้างอิง:
งานวิจัย Differentiated Feedback: Responding to Students? Individual Needs โดย Jonathan Newman https://tspace.library.utoronto.ca/bitstream/1807/72255/1/Newman_Jonathan_I_201606_MT_MTRP.pdf

ที่มา : https://www.educathai.com/