ผู้เขียน หัวข้อ: ประเทศสิงคโปร์กับการพัฒนาด้านการศึกษา  (อ่าน 3641 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
?เราจะมอบการศึกษาที่สมดุลและรอบด้านให้แก่เด็กๆของเรา เพื่อช่วยให้พวกเขาค้นพบความสามารถพิเศษของตนเอง ตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดของตนเอง และหล่อเลี้ยงให้พวกเขาเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่พร้อมอุทิศตน? นี่คือพันธกิจของกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสิงคโปร์ ? ทั้งนี้ความสำเร็จในด้านการบริหารและการจัดการศึกษาของสิงคโปร์นั้นเป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ เห็นได้จากสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Top 50 ของโลก และ Top 10 ของทวีปเอเชีย (ข้อมูลปี 2015) จึงเป็นที่น่าสนใจว่าระบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์นั้นมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างไรบ้าง และเราสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง

?ทำลายกำแพงภาษาและวัฒนธรรม? เป็นนโยบายการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมและพัฒนาอัตลักษณ์ของชาติผ่านระบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1959 โดยสนับสนุนให้เกิดการศึกษาในรูปแบบพหุภาษา แต่เหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงสำคัญส่วนใหญ่ในระบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษานั้น เริ่มต้นขึ้นภายหลังปี ค.ศ.1965 ซึ่งเป็นปีที่สิงคโปร์แยกตัวออกจากสมาพันธรัฐมาเลเซียและประกาศตนเป็นรัฐอิสระ ในปี 1966 โดยรัฐบาลมีการนำนโยบายสองภาษา (Bilingual policy) มาใช้ในระบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ และมีก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ขึ้นในปี 1980 ซึ่งเกิดจากการควบรวมของสองมหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยสิงคโปร์และมหาวิทยาลัยนันยาง และต่อมาในปี 2006 กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ได้เริ่มนโยบาย ?Teach Less, Learn More (TLLM)? ที่มุ่งเน้นหลักการพื้นฐานของการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ นักเรียนมีส่วนร่วม และมีการพัฒนาการแบบองค์รวมมากกว่าการเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบาย ?THINKING GLOBAL, STAYING CONNECTED TO SINGAPORE? เพื่อสร้างสิงคโปร์ให้เป็นเมืองหลวงของโลก (Global City) ในขณะที่ประชากรยังมีความผูกพันกับสิงคโปร์และเห็นสิงคโปร์เป็นบ้านของตนเอง

ทั้งนี้ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านของการพัฒนาการศึกษาของประเทศสิงคโปร์หลังจากการได้รับเอกราชนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงหลัก ซึ่งนโยบายด้านการศึกษาของสิงคโปร์ได้อิงตามเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กล่าวคือ
1) ช่วงการพัฒนาการศึกษาเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ (Survival Economics, Survival-Driven Education) จากปี ค.ศ. 1965 ? 1978
2) ช่วงการพัฒนาการศึกษาโดยเน้นประสิทธิภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Through Efficient-Driven Education) จากปี ค.ศ. 1978 ? 1997
3) ช่วงการพัฒนาการศึกษาโดยเน้นความสามารถเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจองค์ความรู้ (Toward a Knowledge-Based Economy Through Ability-Driven Education) จาก ปี ค.ศ. 1997 ? ปัจจุบัน

การพัฒนาการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ในแต่ละช่วงนั้น ให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายการศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาในภาคเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในแต่ละช่วงเวลา นโยบายด้านการศึกษาจะมีการปรับเปลี่ยน เพื่อจุดหมายในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศ ดังนั้น ระบบการศึกษาของสิงคโปร์ จึงมุ่งเป้าเพื่อสร้างทรัพยากรบุคคล (Human Resources) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างประสิทธิผลทางเศรษฐกิจ โดยมีแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Human Resource Development ? HRD) อย่างชัดเจน กล่าวคือ มีการวางโครงสร้างระบบการศึกษาอยู่บนพื้นฐานแนวคิดการพัฒนาบุคคลตามความสามารถ (Meritocracy) และระบบคัดสรรต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่จัดกลุ่มผู้เรียนไปตามสถาบันการศึกษาที่เหมาะสมกับความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันอาชีวะศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษา โดยหลักสูตรที่มีการเปิดสอนล้วนเป็นไปเพื่อการตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลของประเทศ ทั้งนี้ประเทศไทยสามารถนำพัฒนาการด้านการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ มาเป็นแนวทางปรับใช้ในเชิงนโยบายได้ ดังนี้

1) การเปลี่ยนค่านิยมทางการศึกษาโดยมุ่งเน้นการพัฒนาแรงงานหรือทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพในฐานะปัจเจกบุคคลที่พร้อมตอบสนองบริบทการพัฒนาและความท้าทายของประเทศ

กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ได้พัฒนาระบบการศึกษาโดยมุ่งเน้นการตอบสนองการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงมีการวางนโยบายเพื่อพัฒนาแรงงานให้เป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีความยืดหยุ่นสูง สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นปัจเจกและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนอย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากมีแรงจูงใจจากแนวคิด Meritocracy ซึ่งประเทศไทยสามารถพัฒนาแนวคิดเช่นนี้มาเป็นแนวทางในการวางนโยบายการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นปัจเจก การคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผล และปรับค่านิยมทางการศึกษา โดยเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาตนเองของปัจเจกบุคคล การศึกษาจึงไม่ใช่สัญลักษณ์แสดงชนชั้นหรือสถานะทางสังคม หากแต่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง เพื่อนำไปสู่โอกาสในการทำงานและความเจริญก้าวหน้าแบบยั่งยืน

ประเทศสิงคโปร์ ระบุเป้าประสงค์หลักของการศึกษาแต่ละช่วงชั้น (The Key Stage Outcomes of Education) ไว้ โดยเมื่อนักเรียนจบระดับประถมศึกษา ต้อง ?รู้จักและรักประเทศสิงคโปร์? หลังจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาต้อง ?เชื่อมั่นในสิงคโปร์และเข้าใจว่าอะไรสำคัญต่อประเทศ? และภายหลังจบระดับอุดมศึกษา ต้อง ?ภาคภูมิใจในความเป็นสิงคโปร์และเข้าใจความสัมพันธ์ของสิงคโปร์กับโลก? ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้และเข้าใจในอัตลักษณ์ของตน พร้อมไปกับการตระหนักถึงความสัมพันธ์ของท้องถิ่นตนกับความเป็นโลก ประเทศไทยสามารถนำกระบวนทัศน์นี้มาปรับใช้ในการกำหนดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษาแต่ละช่วงชั้นและวางแผนการสอนได้

2) ระบบการคัดสรรและสนับสนุนบุคคลตามความสามารถ (Meritocracy)

หลักการคัดสรรและพัฒนาบุคคลตามความสามารถ (Meritocracy) เป็นคุณค่าที่ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการสร้างแรงจูงใจในการเรียน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกอยากพัฒนาตนเองให้มีความสามารถ เนื่องจากมองเห็นผลตอบแทนของการพัฒนาตนเองอย่างเป็นรูปธรรม แนวคิดนี้อยู่พื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนจะได้รับโอกาสทางการศึกษาโดยทั่วถึง เนื่องจากเป็นระบบการคัดสรรตามความรู้และความสามารถที่ปราศจากอคติ ประเทศไทยสามารถนำแนวคิดนี้มาใช้ในการจัดการการศึกษา โดยเพิ่มทางเลือกในการเรียนตามความถนัดและความสามารถ และกระตุ้นภาคเศรษฐกิจเพื่อสร้างงานรองรับผู้สำเร็จการศึกษาทั้งในระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวะศึกษา และอุดมศึกษา จัดหลักสูตรแยกตามความสามารถของผู้เรียน เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาได้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น

3) การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษามุ่งสู่ระดับสากล

ประเทศไทยสามารถนำสูตรสำเร็จของสิงคโปร์ ที่มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การดึงดูดผู้มีทักษะความสามารถเข้าสู่การเรียนการสอนของสถาบันการศึกษา, การพัฒนาหลักสูตรที่ท้าทาย และการสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับการศึกษา มาปรับใช้ในการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย โดยการสร้างความร่วมมือและดึงสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกให้เข้ามาเปิดหลักสูตรในประเทศไทย วางแผนงบประมาณในการสนับสนุนบุคลากรในสถาบันการศึกษา เพิ่มอัตราค่าจ้างเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แก่ผู้เชี่ยวชาญทั้งรชาวไทยและต่างชาติที่มีความสามารถโดดเด่นหรือมีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ จัดสรรทุนการศึกษาเพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติที่มีความสามารถโดดเด่น เพิ่มงบประมาณในการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรสาขาใหม่ที่สอดคล้องกับแนวโน้มความสนใจและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและโลก รวมไปถึงเน้นการสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ และเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียน โดยนำแนวคิดการพัฒนาผู้เรียนตามความสามารถมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจในการศึกษา

4) การกำหนดนโยบายเพื่อผสานความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ พหุวัฒนธรรม และระบบการศึกษาสองภาษา

ภาวะพหุวัฒนธรรม พหุภาษา และการจัดการความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของสิงคโปร์ นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรในการสร้างระบบการศึกษาที่เป็นหนึ่งเดียวของประเทศ ซึ่งคือการศึกษาในระบบทวิภาษา การที่รัฐเล็งเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษในฐานะหนึ่งในห่วงโซ่สำคัญที่เชื่อมโยงผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งเป็น ?ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ? ที่มีมูลค่าสูงในเชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศสิงคโปร์และระดับสากล ถือเป็นมุมมองที่ประเทศไทยสามารถนำมาพิจารณาในการวางนโยบายสำหรับการพัฒนาการศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาและความรอบรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในสำคัญในการทำงาน และเป็นช่องทางในการ ?เชื่อมโยง? ความเป็นไทยกับความเป็นสากล

การสอนสองภาษาของสิงคโปร์นับว่าเป็นนโยบายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการทำให้พลเมืองสิงคโปร์มีโอกาสทั้งด้านการศึกษา การทำงาน และช่วยให้พลเมืองสิงคโปร์เข้าใจอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย มีทักษะในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีวัฒนธรรมต่างจากตนเอง ซึ่งทักษะนี้เป็นทักษะที่จำเป็นมากต่อสังคมโลกาภิวัตน์ ผู้บริหารการศึกษาในประเทศไทยสามารถศึกษาแนวทางเพิ่มเติมจากสิงคโปร์ได้ ทั้งในแง่ของการวางหลักสูตร การจัดกิจกรรม และการบริหารจัดการให้สถานศึกษามีส่วนช่วยในการสร้างค่านิยมให้กับพลเมืองไทยที่จะยอมรับการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

อ้างอิงข้อมูลจาก
โครงการวิจัย ?การพัฒนาประเทศสิงคโปร์: กระบวนการ การเปลี่ยนผ่าน และความท้าทาย?

หัวหน้าโครงการ : เพชรลัดดา เพ็ชรภักดี
สนับสนุนโดย : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ที่มา : https://researchcafe.org/development-education-in-singapore/