ผู้เขียน หัวข้อ: ให้อิสระโรงเรียน ปลดล็อกปฏิรูปการศึกษา  (อ่าน 3865 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923

ให้อิสระโรงเรียน ปลดล็อกปฏิรูปการศึกษา

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน


กระแสหลักของประเด็นการปฏิรูปการศึกษารอบนี้ คือเรื่องการกระจายอำนาจบริหารจัดการและการกำกับดูแลจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ตลอดจนให้อิสระสถานศึกษาในการบริหารจัดการ ถึงขั้นกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจ เปิดประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา โดยระบุว่าที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ เคยวางกรอบร่างยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษาแบบเต็มรูปแบบ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. โดยกรอบร่างยุทธศาสตร์การกระจาย อำนาจจะมีใจความสำคัญทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่

1.การจัดการรูปแบบการศึกษา โดยองค์กรจากภาคส่วนอื่นในท้องถิ่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ ภายใต้แนวคิดการศึกษาสมัยใหม่คือการจัดการศึกษาไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของรัฐเท่านั้น

2.แนวคิดการถ่ายโอนโรงเรียนขนาดเล็กให้กับท้องถิ่นจำนวน 1.5 หมื่นแห่ง จากทั้งสิ้น 3.5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ โดยพุ่งเป้าไปที่ความพร้อมของท้องถิ่นที่รับโอนโรงเรียนไปด้วยว่ามีประสิทธิภาพในการจัดการศึกษามากน้อยเพียงใด และการถ่ายโอนโรงเรียนจำเป็นต้องได้รับความสมัครใจจากผู้บริหารและครูในโรงเรียนก่อนด้วย

3.ยกระดับให้โรงเรียนมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่สามารถบริหารจัดการโรงเรียนได้ด้วยตัวเอง มีอิสระที่จะบริหารได้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การวางกำลังคน และงบประมาณ

4.ต้องมีการส่งเสริมกลไกจังหวัด สร้างความหลากหลายของสถานศึกษา และสร้างการรวมตัวกันเองทุกภาคส่วนในท้องถิ่น เพื่อเข้ามาบริหารจัดการสถานศึกษาด้วยคนในท้องถิ่น

วรากรณ์ ขยายความอีกว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปมองไปในทางเดียวกันว่า การปฏิรูปนั้นยากที่จะประสบความสำเร็จหากฝากความหวังไว้กับรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะกรณีอำนาจการบริหารเดิมที่ทิ้งปัญหาหลายเรื่องไว้กับระบบการศึกษา

?ยกตัวอย่างโรงเรียนที่มีศักยภาพในการจัดการตัวเอง เรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหามากก็คือการบรรจุครูชดเชยครูที่เกษียณ แม้โรงเรียนนั้นๆ ทราบว่าตำแหน่งครูในโรงเรียนของตัวเองจะว่างลงด้วยเหตุผลดังกล่าวล่วงหน้านานนับปี แต่ผ่านพ้นไปหลายเดือนก็จะไม่สามารถหาครูมาแทนได้ทันกับที่ขาดไป ซึ่งผมเชื่อว่าหากโรงเรียนที่พร้อมหรือโรงเรียนต้นแบบได้บริหารตัวเองก็จะสามารถก้าวข้ามสิ่งที่ติดขัดอยู่ พัฒนาคุณภาพไปได้แบบก้าวกระโดด? วรากรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี การผลักดันให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้น อาจมีคำถามว่าจะประสบปัญหาเรื่องการกำกับดูแลด้านคุณภาพหรือไม่ ซึ่งวรากรณ์มองว่าเป็นเรื่องที่สามารถออกแบบระบบตรวจสอบเข้าไปกำกับดูแลได้

?อีกเรื่องคือเราต้องเปลี่ยนระบบการรับผิดรับชอบจากการบริหารงานจากกระทรวงมาถึงตัวเด็ก ที่ผ่านมาต้องผ่านนโยบายรัฐ หน่วยงานกลางไปสู่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา มาถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ก่อนจะถึงตัวเด็กซึ่งเป็นเรื่องที่ห่างไกลกันมาก โดยต้องทำให้สั้นลงให้ความรับผิดชอบที่ไปถึงตัวนักเรียนโดยตรง?วรากรณ์ ระบุ

วรากรณ์ ขยายความว่า ที่ผ่านมานโยบายการศึกษาไทยผิดพลาดในเรื่องนี้ เพราะตัดเรื่องผู้บริหารโรงเรียนต้องรับผิดชอบต่อเด็กออก รวมถึงตั้งสมมติฐานว่าผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกคนเป็นคนดี แต่กลายเป็นว่าเขตพื้นที่การศึกษากลายเป็นจุดให้คุณให้โทษกับการย้ายครูหรือกระทั่งผู้อำนวยการเข้าออกพื้นที่ได้ เขตไหนผู้อำนวยการเขตฯ ดีก็พัฒนาเร็วมาก และถ้าหากเป็นไปในทางตรงกันข้ามก็จะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย ดังนั้น การจัดการศึกษาไม่สามารถแก้เพียงจุดใดจุดเดียวได้ ต้องแก้สิ่งที่ผูกโยงเป็นวงจรการศึกษาทั้งระบบ

?เราครูมีทั้งหมด 4.5 แสนคน แต่กระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนใหญ่ในเมือง แต่โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศที่มีนักเรียนไม่ถึง 200 คน ตามมาตรฐานต้องมีครูอย่างน้อย 7 คน แต่ก็ไม่สามารถหาครูให้เพียงพอตามเกณฑ์ได้ เพราะไม่สามารถบังคับครูให้ย้ายโรงเรียนได้ ต้นสังกัดอาจจะย้ายข้าราชการตำรวจ หมอ หรืออื่นๆ ได้ตามหน้าที่ แต่ครูนั้นมีวัฒนธรรมเฉพาะ ย้ายจากโรงเรียนหนึ่งไปอีกโรงเรียน ซึ่งห่างไปเพียง 3 กิโลเมตรก็ไม่ยอม? วรากรณ์ กล่าว

วรากรณ์ ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนการศึกษาภาคบังคับจาก 6 ปี เป็น 9 ปี เมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อนมีการสอบบรรจุครูปีละกว่า 1 แสนคน จนไม่มีระบบคัดกรองที่ดีพอ และเมื่อมีครูจำนวนมากก็มีปัญหาอื่นที่เชื่อมโยงกับเรื่องสวัสดิการที่กลายเป็นปัญหาหนี้ครู บางกองทุนเปิดโอกาสให้ครูสามารถกู้ยืมได้ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้ามาแก้ปัญหานี้ ดังนั้น จึงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากจะแก้ไขได้ หากไม่เริ่มวางรากฐานการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

?เป็นเรื่องน่าแปลกที่หน่วยงานดูแลสวัสดิการไม่เคยสนใจว่าครูแต่ละคนมีหนี้สินเท่าไร เพราะไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน ไม่เคยมีใครสั่งให้ดำเนินการเรื่องนี้ได้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ไม่สนใจเรื่องนี้ เพราะคิดว่าตัวเองมีหน้าที่ให้กู้อย่างเดียว คำถามง่ายๆ คือทำไมข้าราชการกระทรวงอื่นไม่เคยมีปัญหานี้ ถึงเวลาที่จะต้องยกเครื่องเรื่องครูใหม่ให้มีความรับผิดรับชอบอย่างเป็นระบบมากขึ้น? ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจกล่าว

 

ที่มา โพสต์ทูเดย์ 13 ก.ค.2558