เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
เป็นครูยุคใหม่อย่าเป็นไม้บรรทัด
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: เป็นครูยุคใหม่อย่าเป็นไม้บรรทัด (อ่าน 2636 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
เป็นครูยุคใหม่อย่าเป็นไม้บรรทัด
เมื่อ:
มกราคม 20, 2022, 12:26:05 AM
เป็นธรรมดาที่เรามักจะเปรียบเทียบการทำงานหรืออาชีพต่าง ๆ กับ สิ่งของรอบ ๆ ตัว ซึ่งช่วยทำให้เราเห็นภาพของอาชีพนั้น ๆ หรืออย่างน้อยก็เป็นความพยายามที่จะทำให้เรารู้สึกว่าอาชีพนั้น ๆ เป็นอย่างไรในมุมมองของผู้นำเสนอ ซึ่งอาชีพครูนี้ก็เช่นกัน มีการเปรียบเปรยครูไว้เป็นสิ่งของต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น แม่พิมพ์บ้าง เรือจ้างบ้าง หรือแม้แสงเทียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาชีพครูนั้น มีหน้าที่ปลูกฝังสั่งสอนนักเรียนให้เป็นคนเก่งคนดีตามแบบอย่างของสังคม(แม่พิมพ์) ออกจากความไม่รู้เพื่อทำให้เกิดความรู้แจ้ง(แสงเทียน) และผลักดันส่งเสริมให้นักเรียนไปสู่แนวทางที่เหมาะสมตามศักยภาพ(เรือจ้าง)
ตลอดหลายปีที่ผ่านมามุมมองเกี่ยวกับครูผู้สอนในสายตาของบุคคลอื่นนั้น แทบจะไม่แตกต่างกันเลย เพราะไม่ว่าจะยุคสมัยใด ครูผู้สอนยังคงมีความสำคัญต่อระบบการศึกษา และเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันบทบาทของครูผู้สอนจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่เคยเป็นลักษณะของผู้ควบคุมเบ็ดเสร็จ ก็กลายมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกและส่งเสริมแทน ซึ่งเป็นบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอันเกิดจากกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ที่ทุกประเทศต้องการทรัพยากรมนุษย์ ที่มีความคิดและองค์ความรู้ของตัวเอง สามารถอยู่ร่วมและทำงานร่วมกันได้บนความหลากหลาย รวมถึงสามารถใช้เทคโลยีได้อย่างสร้างสรรค์ มากกว่าคนที่เหมือน ๆ กันในสังคม มันจึงเป็นเรื่องที่ครูผู้สอนต้องปรับตัวในการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องนี้มากขึ้น
ในหลาย ๆ สิ่งที่ถูกนำมาเปรียบเปรยกับครูผู้สอน ไม้บรรทัด คือสิ่งหนึ่งที่ถ้าพูดถึงโดยเกี่ยวเนื่องกับครูผู้สอนแล้ว หลายๆคนอาจมองเห็นภาพของการเชื่อมโยงได้ไม่ยากนัก เพราะในการทำงานของครูผู้สอนในสถานศึกษาส่วนใหญ่นั้นมีความเป็นไม้บรรทัดอยู่มาก
เราใช้ไม้บรรทัดในหลาย ๆ ลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัดสิ่งต่าง ๆ ใช้ชี้บอกตำแหน่ง ใช้ตีกรอบและขีดเส้น หรือแม้แต่ในโรงเรียนไม้บรรทัดก็อาจเป็นเครื่องมือในการทำลงโทษนักเรียนที่ทำผิดอีกด้วย ซึ่งถ้ามองไม้บรรทัดในมิติของการใช้ต่าง ๆ แล้ว ต่อไปนี้คือเหตุผลที่ผู้เขียนมองว่า ทำไมครูผู้สอนจึงไม่ควรที่จะเป็นไม้บรรทัดอีกต่อไป
อย่าเป็นไม้บรรทัดที่คอยแต่ละวัด
เราใช้ไม้บรรทัดในการวัดความยาวของสิ่งต่าง ๆ ว่า สิ่งเหล่านั้นมีความยาวเท่าไหร่ และเปรียบเทียบว่าสิ่งไหนสั้นหรือยาวกว่ากัน ซึ่งมันช่วยทำให้เรารู้ความยาวที่แน่นอนของสิ่งของชิ้นนั้น ๆ แต่เมื่อเราหมายถึงการทำงานของครูผู้สอน การเป็นไม้บรรทัดที่เอาแต่วัดนักเรียนนั้นไม่ใช่แนวทางที่ควรจะเป็นสำหรับยุคสมัยนี้
ตลอดมาครูผู้สอนนั้นมักจะทำหน้าที่คอยแต่ละวัดคุณค่านักเรียนแต่ละคนเสมอ เช่น เรียนเก่งหรือเรียนไม่เก่ง นิสัยดีหรือนิสัยไม่ดี ขยันหรือขี้เกียจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ครูผู้สอนมองนักเรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน และอาจเกิดอคติกับนักเรียนบางคนได้ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งอคติเหล่านี้ส่งผลให้ครูผู้สอนไม่เต็มที่กับการส่งเสริมนักเรียนคนนั้น ๆ และอาจทำให้พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังหรือล้มเหลวด้านการเรียนได้ ดังนั้นการวัดคุณค่านักเรียนจึงควรจะเป็นไปเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการที่จะส่งเสริมพัฒนานักเรียนแต่ละคนอย่างเหมาะสม ไม่ใช่เป็นการตีตราว่าพวกเขาเป็นอย่างไร ถ้านักเรียนคนใดมีปัญหาการเรียน ครูผู้สอนก็ต้องช่วยเสริม นักเรียนคนใดมีปัญหาพฤติกรรม ครูผู้สอนก็ต้องพูดคุยและปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม จึงจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
อย่าเป็นไม้บรรทัดที่เอาไว้ชี้ให้ทำตาม
บทบาทของไม้บรรทัดอีกอย่างหนึ่ง คือการนำมาใช้เป็นไม้ชี้ให้นักเรียนดูสิ่งต่าง ๆ บนกระดานและทำตาม เป็นเสมือนไม้กายสิทธิ์ที่ดึงให้นักเรียนสนใจแต่สิ่งที่ครูผู้สอนต้องการจะให้สนใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการศึกษาแบบเดิมที่เคยเป็นมา แต่เมื่อเรากล่าวถึงการศึกษายุคใหม่ ครูผู้สอนไม่ควรที่จะมุ่งให้เด็กสนใจแต่สิ่งที่ครูผู้สอนต้องการหรือคอยจำแต่สิ่งที่ครูผู้สอนต้องการจะให้จำหรือให้เรียนรู้ แต่ต้องให้เขาเห็นภาพรวมของเนื้อหาและสามารถสร้างองค์ความรู้ของเขาได้เอง โดยครูผู้สอนมีหน้าที่คอยชี้แนะและแนะนำให้องค์ความรู้ที่นักเรียนได้นั้นเหมาะสมและถูกต้องมากขึ้นมากกว่า
อย่าเป็นไม้บรรทัดที่เอาไว้ตีหรือทำโทษ
หลายคนอาจเคยเอาไม้บรรทัดมาใช้แทนไม้เรียวในการทำโทษนักเรียนกันมาบ้าง หรือไม่ก็ให้นักเรียนคาบและไปยืนขาเดียวอยู่หน้าห้องเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือบทบาทของไม้บรรทัดที่เป็นเครื่องมือในการทำลงโทษที่รุนแรง สร้างให้เกิดความอับอายและความไม่พึงพอใจ ซึ่งไม่ใช้แนวทางที่เหมาะสมเลยสำหรับยุคปัจจุบัน
การปรับพฤติกรรมนักเรียนนั้นไม่ควรใช้การลงโทษ โดยเฉพาะกับการลงโทษด้วยความรุนแรงและละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์ เพราะแม้จะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนได้ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดผลในระยะยาว และอาจส่งผลเสียต่อสภาพร่างกายและจิตใจของนักเรียนมากกว่าที่คิดอีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้เหมาะสมกับการศึกษาสมัยใหม่ ครูผู้สอนควรลองเปลี่ยนจากการลงโทษที่เลวร้ายต่าง ๆ เป็นการเสริมแรงและให้กำลังใจกับพฤติกรรมที่ดีและใช้กระบวนการสร้างวินัยเชิงบวกมาช่วยในการปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียน ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า
อย่าเป็นไม้บรรทัดที่เอาไว้ตีกรอบ
เรามักคุ้นเคยกับการใช้ไม้บรรทัดในการตีกรอบหรือตีเส้น ซึ่งเป็นการใช้สอยแรก ๆ ที่เราเลือกจะหยิบเอาไม้บรรทัดมาใช้ทำงานนี้ ซึ่งช่วยให้เราตีกรอบหรือตีเส้นได้เที่ยงตรงและรวดเร็วกว่าการลากด้วยลายมือเพียงอย่างเดียว
สำหรับมุมมองเรื่องนี้ ถ้ามองครูผู้สอนในมุมมองของไม้บรรทัดที่ใช้ในการตีกรอบหรือตีเส้น ต้องบอกว่าครูผู้สอนท่านใดที่ยังมีความคิดเช่นนี้ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องปรับความคิดเสียใหม่ เพราะการศึกษาในยุคสมัยนี้จะต้องไม่ตีกรอบนักเรียน หรือบังคับให้นักเรียนอยู่ในกรอบ เพราะส่งเสริมให้นักเรียนใช้ความคิดหรือสร้างองค์ความรู้ของตัวเอง มีแต่จะคอยตามครูผู้สอน ซึ่งนอกจากจะไม่สอดคล้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้แล้ว ยังทำให้นักเรียนไม่สามารถเติบโตและแข่งขันในระดับสากลได้อีกด้วย
อย่าเป็นไม้บรรทัดที่เอาขีดเส้นใต้
มีเพลงดังในอดีตเพลงหนึ่งที่กล่าวถึงการขีดเส้นใต้ ซึ่งบอกถึงการเน้นย้ำหรือให้ความสำคัญในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งเราจะใช้การขีดเส้นใต้เพื่อให้เราจดจำคำๆนั้นหรือใจความนั้น ๆ ได้คล้าย ๆ กับการที่ขีดคลุมข้อความด้วยปากกาเน้นข้อความ
การที่ครูผู้สอนตีตรานักเรียนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เสมือนเป็นการขีดเส้นใต้บนตัวของนักเรียน ซึ่งนอกจากจะทำให้ครูผู้สอนมองนักเรียนเพียงด้านเดียวแล้ว ยังส่งผลให้นักเรียนรู้สึกว่าตัวเองมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้น และไม่รู้สึกว่าตัวเองสามารถเติบโตและพัฒนาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยกับนักเรียนในการศึกษายุคใกม่ ดังนั้น ครูผู้สอนจึงควรเลิกขีดเส้นบนตัวของนักเรียน และพึงระลึกไว้เสมอว่านักเรียนทุกคนมีดีในแบบของตัวเองและทุกคนสามารถที่จะพัฒนาได้เสมอ
ไม้บรรทัดเป็นนวัตกรรมทางเรขาคณิตที่มีประโยชน์มายาวนาน แต่เมื่อนำมาเปรียบเปรยกับครูผู้สอนย่อมเป็นสิ่งที่ควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพราะถ้ามัวแต่เป็นครูผู้สอนที่เหมือนไม้บรรทัดอยู่ ถึงจะมีการวัดที่เที่ยงตรง แต่ถ้าการวัดนั้นไม่นำไปสู่ประโยชน์ รวมถึงการใช้สอยอื่น ๆ ที่ไม่สร้างให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้อย่างเหมาะสมตามยุคสมัย มันก็ถึงเวลาที่ควรจะเลิกและเปลี่ยนไปเป็นสิ่งอื่นที่เหมาะสมมากกว่า ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นสำคัญ
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร
ที่มา :
https://www.trueplookpanya.com/education/content/90639/-teaartedu-teaart-
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
เป็นครูยุคใหม่อย่าเป็นไม้บรรทัด
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?