ผู้เขียน หัวข้อ: 7 สิ่งที่มักเข้าใจผิด เกี่ยวกับ Active Learning  (อ่าน 2302 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
ช่วงเวลานี้ ใคร ๆ ก็พูดถึง    Active Learning
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ เวลานี้ในแวดวงการศึกษาต่างให้ความสนใจกับกระบวนการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนให้เลือกนำไปปรับใช้ได้หลากหลาย ทั้งพัฒนาตัวผู้สอนให้ได้ใช้เทคนิคการสอนใหม่ ๆ ทั้งกระตุ้นผู้เรียนเพื่อสร้างบรรยากาศในห้องเรียนแบบไม่น่าเบื่อ และยังพัฒนาผู้เรียนให้เกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองให้เกิดความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดความรู้ได้นำไปสู่สมรรถนะที่ผู้เรียนควรจะเป็น

มีหลายคนที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ    Active Learning

1. Active Learning เป็นกิจกรรมที่เน้นลงมือปฏิบัติ และหากเป็นกลุ่ม ก็จะถือเป็น Active Learning โดยอัตโนมัติ

จริง ๆ แล้วกิจกรรมที่เป็นงานกลุ่มไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวที่เกิดการเรียนรู้เชิงรุกเท่านั้น แต่กิจกรรมทั้งหมดที่ผู้เรียนได้ใช้ความคิด ลงมือปฏิบัติเอง หรือมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นงานเดี่ยว งานกลุ่มเล็ก หรืองานกลุ่มใหญ่ ก็สามารถเป็นการเรียนรู้เชิงรุกได้หมด ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการวางแผนการสอนของครู ที่จะต้องออกแบบกิจกรรมเพื่อดึงศักยภาพของผู้เรียนให้เกิดทักษะ จากการสืบค้นข้อมูล และทำความเข้าใจ จนเกิดเป็นความรู้ของตนเอง

2. การสอนแบบ Active Learning เป็นแบบเดียวกับการเรียนรู้แบบสืบเสาะ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Active Learning เท่านั้น 

การเรียนรู้แบบสืบเสาะ จัดอยู่ในรูปแบบการสอน 5Es โดยฝึกให้ผู้เรียนรู้จักค้นคว้าหาความรู้โดยใช้กระบวนการทางความคิดหาเหตุผล เพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องด้วยตนเอง

▪ Engage กระตุ้นความสนใจของผู้เรียน สอดคล้องกับความสัมพันธ์กับบทเรียน และครูสามารถประเมินความรู้ก่อนเรียนในขั้นตอนนี้ได้ด้วย
▪ Explore เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สร้างความรู้ความเข้าใจในตนเอง
▪ Explain ให้ผู้เรียนมีโอกาสสื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และสิ่งที่ได้ค้นพบ
▪ Extend ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง
▪ Evaluate ครู และผู้เรียนประเมินความเข้าใจสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป
 
3. Active Learning   เป็นการเรียนรู้ที่ลดบทบาทของครูลง แต่แท้จริงแล้วครูยังต้องวางแผน และเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ไม่ได้เป็นการลดบทบาทแต่อย่างใด ครูยังคงเป็นผู้ให้ความรู้กับผู้เรียน โดยสวมบทบาทเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ คอยให้คำแนะนำ และช่วยเหลือ ให้ผู้เรียนสามารถสืบเสาะ และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

4. Active Learning คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอน และ บรรยากาศห้องเรียนแบบพลิกฝ่ามือ 

กระบวนการเรียนรู้นี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง หรือเปลี่ยนไปแบบพลิกฝ่ามือ แต่เป็นการเรียนรู้ที่มีรูปแบบให้เลือกใช้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ที่ครูผู้สอนสามารถวางแผนได้ว่าจะเลือกการเรียนรู้รูปแบบไหน ไปใช้เพื่อจุดประสงค์ใดที่ตอบโจทย์เป้าหมายการเรียนรู้แต่ละตัวชี้วัด และให้ผู้เรียนได้ความรู้ ทักษะด้านใดจากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนั้น ๆ รูปแบบการสอนในห้องเรียนของครูเองในบางครั้ง ก็อาจเป็นการนำการเรียนรู้เชิงรุกมาปรับใช้อยู่แล้วด้วยซ้ำไป

5. Active Learning ทำให้เด็กก้าวร้าว มีพฤติกรรมไม่ดี

แต่เป้าหมายของการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning คือการพัฒนาทักษะให้ผู้เรียนกล้าแสดงออก กล้าออกความเห็น อภิปราย สื่อสารเพื่ออธิบายความเข้าใจในสิ่งที่ตนรู้ เพื่อให้บรรยากาศในห้องเรียนเกิดเสียงดังกว่าที่เคยเป็น แต่อย่างไรก็ตามในแต่ละกิจกรรม ครูยังคงเป็นผู้ควบคุมชั้นเรียนเช่นเดิม ดังนั้นการเรียนรู้ที่แอ็กทิฟจึงไม่ใช่การแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อครู แต่เป็นเพียงพฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงออกเท่านั้น

6. Active Learning  คือ การขยับเคลื่อนไหวของร่างกายตลอดเวลา

เนื่องจากการเรียนรู้ Active learning เน้นฝึกฝนให้สมองทำงานเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่า ผู้เรียนจะต้องเคลื่อนที่ในห้องเรียนตลอดเวลา ซึ่งในความเป็นจริงผู้เรียนสามารถนั่งอยู่ที่โต๊ะเรียนของตนเองได้ หรือเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ ห้องได้ตามความเหมาะสม แต่จะต้องเรียนรู้จนเกิดกระบวนการคิดต่างหาก จึงจะถือเป็น Active learning

7. Active Learning  ทำให้เด็กไม่เคารพครู อาจารย์อีกต่อไป

จริง ๆ แล้วในเวลาที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม หรือมีความเห็นไม่ตรงกับผู้สอน อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า ทำไมถึงไม่เคารพครู อาจารย์เลย แต่ในความเป็นจริง คุณครูควรสร้างการเรียนรู้ที่สามารถแสดงความเห็น โต้แย้ง แนวทางการแก้ไขปัญหา ข้อมูลจากการค้นคว้าด้วยตนเอง ในประเด็นเดียวกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เคารพความเห็นต่างของกันและกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้เรียนจะไม่เคารพครูผู้สอน หากมองในข้อดี ผู้เรียนกำลังมีส่วนร่วมกับผู้สอนในฐานะเพื่อนร่วมงานของการเรียนรู้นั้น ๆ นั่นเอง

Active Learning  เน้นที่ กระบวนการเรียนรู้ มากกว่า เนื้อหาวิชา
 
สิ่งสำคัญของ Active Learning คือ การเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ผู้เรียนจะเกิดทักษะมากมายในด้านการคิด วิเคราะห์ การเชื่อมโยง การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับครู และเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งผู้สอนต้องออกแบบกิจกรรม ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การสอนผ่านการใช้เทคนิคในรูปแบบต่าง ๆ จัดสรรให้เหมาะกับวิชา เพื่อดึงศักยภาพผู้เรียนให้เป็นผู้คิด ผู้ลงมือทำ ค้นหา และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

กระบวนการเรียนรู้ Active Learning แม้จะเกิดขึ้นมาแล้วร้อยกว่าปี แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะนำมาปรับใช้กันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามความคิดของแต่ละคนย่อมมีการตีความที่แตกต่างกันไป และอาจเกิดความเข้าใจผิดต่อกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก ว่าเป็นพฤติกรรมที่จะต้องสร้างความกระตือรือร้นอยู่เสมอนั่นเอง
 

แหล่งอ้างอิง

 https://www.cambridge-community.org.uk/professional-development/gswal/index.html
https://www.bu.edu/ctl/guides/active-learning/
http://edsactivelearning.blogspot.com/p/7-active-learning.html
 

ที่มา https://www.aksorn.com/ac1-activelearning-seven-misconceptions