ผู้เขียน หัวข้อ: สยามกับสงครามโหดในประวัติศาสตร์  (อ่าน 3533 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: กรกฎาคม 29, 2015, 11:55:24 PM


ขึ้นชื่อว่า สงคราม คงหนีพ้นเรื่องราวของการรบราฆ่าฟันและความทารุณโหดร้ายที่คู่ศึกทั้งสองฝ่ายกระทำต่อกัน อาจกล่าวได้ว่า ในสงครามสมัยโบราณนั้นไม่มีชนชาติใดที่มิได้กระทำทารุณโหดร้ายต่อฝ่ายตรงข้าม ไม่เว้นแม้แต่ในประวัติศาสตร์ของชนชาติสยามหรือไทยของเรา

เรื่องแรกที่จะกล่าวถึง นำมาจากบันทึกของพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา โดยได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อปี พ.ศ.2142 โดยก่อนหน้านั้น หัวเมืองมอญทางใต้ของหงสาวดีได้เข้ามาสวามิภักดิ์ต่ออโยธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะที่จะยกทัพไปตีกรุงหงสาวดีเป็นครั้งที่สอง

หลังจากที่ไม่ประสบวามสำเร็จในครั้งแรก พระองค์ได้ทรงโปรดให้เจ้าพระยาจักรีคุมทัพหน้ายกมาตั้งมั่นใกล้เมืองเมาะลำเลิงและให้ไพร่พลชาวสยามร่วมกับไพร่พลชาวมอญทำนาเพื่อเกี่ยวข้าวไว้เป็นเสบียงสำหรับกองทัพใหญ่ที่จะยกตามมา ทว่าในเวลานั้น พระเจ้าตองอูที่แต่เดิมทำทีมาขอสวามิภักดิ์กับไทยได้คิดการทุรยศหวังจะเป็นใหญ่ในหงสาวดี จึงวางแผนถ่วงเวลาให้ทัพอโยธยายกมาล่าช้า โดยส่งคนไปปลุกระดมชาวมอญทางฝ่ายใต้ให้เกิดระส่ำระสายจนกระด้างกระเดื่องต่อฝ่ายอโยธยา จนที่สุดลุกลามเป็นกบฏขึ้นที่เมืองเมาะตะมะ

พระนเรศวรทรงกริ้วที่เจ้าพระยาจักรีดูแลชาวมอญให้อยู่ในความสงบไม่ได้ จึงทรงมีพระบัญชาให้เจ้าพระยาจักรีคุมพลสองหมื่นไปปราบกบฏที่เมาะตะมะให้จงได้ เจ้าพระจักรีรู้ดีว่า หากทำการครั้งนี้ไม่สำเร็จอาจต้องทัณฑ์ถึงฟันคอริบเรือน จึงระดมไพร่พลเข้าปล้นเมืองเมาะตะมะอย่างหนัก ทว่าพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตะมะต่อสู้ป้องกันเข้มแข็งทำให้ฝ่ายอโยธยาต้องสูญเสียไพร่พลเป็นจำนวนมาก กว่าจะตีเมืองได้สำเร็จ

ครั้นเมื่อทัพสยามเข้าเมืองเมาะตะมะได้ ด้วยความโกรธแค้นที่ฝ่ายตนต้องสูญเสียกำลังไปมากกว่าจะตีเมืองได้ ทหารอโยธยาจึงไล่ฆ่าฟันชาวเมาะตะมะจนล้มตายหมดสิ้นทั้งเมืองไม่เว้นแม้เด็ก ผู้หญิงและคนชรา ทั้งยังไล่ฆ่าฟันชาวมอญที่อยู่รอบตัวเมืองล้มตายอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนพระยาลาวนั้นถูกจับตัวมาลงทัณฑ์ทรมานก่อนจะส่งไปจองจำที่กรุงศรีอโยธยา

ทว่าหลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบเรื่องที่เกิดขึ้นที่เมืองเมาะตะมะ พระองค์ก็ทรงพิโรธเจ้าพระยาจักรียิ่งนักและทรงมีรับสั่งให้นำตัวไปจองจำไว้ในคุก ซึ่งในตอนนี้ พระราชพงศาวดารมิได้อธบายเหตุผลว่าเพราะอะไร แต่อาจเป็นได้ว่า พระนเรศวรทรงพิโรธเจ้าพระยาจักรีที่ปล่อยให้ทหารฆ่าล้างเมืองเมาะตะมะ ซึ่งยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมอญทางใต้กับอโยธยาเกิดความร้าวฉานยิ่งขึ้นก็เป็นได้

เหตุการณ์ที่สอง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองตะนาวศรี ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในครั้งนั้น นายแซมมวล ไวท์ เจ้าท่าของเมืองมะริดซึ่งเป็นชาวอังกฤษได้สมกับนายริชาร์ด เบอร์นาบี เจ้าเมืองมะริดซึ่งเป็นชาวอังกฤษเช่นกัน วางแผนนำเมืองมะริดไปขึ้นกับฝ่ายอังกฤษเพื่อหวังผลประโยชน์จากฝ่ายอังกฤษ ทางอังกฤษได้ส่งเรือรบและกองทหารจำนวนหนึ่งมาขึ้นบกที่เมืองมะริดและยึดเมืองเอาไว้ได้โดยง่าย

ในเวลานั้นมะริดเป็นเมืองท่าของเมืองตะนาวศรี พระยาตะนาวศรีเห็นฝ่ายอังกฤษส่งทหารมายึดมะริดเอาไว้ จึงมีใบบอกแจ้งไปทางกรุงศรีอยุธยา จากนั้นก็นำกำลังทหารเข้าโจมตีเมืองมะริดเพื่อชิงเมืองคืน หลังจากรบกันได้วันเดียว ฝ่ายสยามก็ยึดเมืองได้ ทหารตะนาวศรีได้สังหารนายเบอร์นาบี เจ้าเมืองมะริดตายและได้สังหารชาวอังกฤษทั้งหมดในเมืองไม่ว่าทหาร พลเรือน รวมถึงลูกเล็กเด็กแดงจนล้มตายไปหลายร้อยคน ส่วนพวกที่รอดชีวิตก็ถูกจับมาเป็นเชลย ส่วนนายไวท์นั้นสามารถหนีลงเรือรอดชีวิตไปได้

ในบันทึกของ บาทหลวงเดอเบซ ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยาเวลานั้น ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า ในบรรดาเชลยที่จับมาได้นั้น มีคนหนึ่งเป็นหญิงสาวชาวอังกฤษรูปร่างหน้าตาสวยงามต้องใจพระยาตะนาวศรียิ่งนัก พระยาตะนาวศรีอยากได้หญิงผู้นี้เป็นนางบำเรอทั้งๆที่นางมีสามีและลูกแล้ว โดยเพื่อบังคับให้นางยอมเป็นของเขา ทว่านางไม่ยินยอม ทำให้พระยาตะนาวศรีโกรธยิ่งนักจึงสั่งให้ทหารเฉือนจมูก ใบหูและริมฝีปากของสามีของนาง พร้อมกับนำตัวลูกชายของหญิงผู้นั้นมาทรมานด้วยการให้หอกแทงตามตัว แต่ไม่ให้ตายในทันที ทว่าปล่อยให้ผู้เป็นแม่มองดูลูกของนางถูกทรมานหลายชั่วโมงจนเด็กน้อยผู้นั้นถึงแก่ความตาย จากนั้นจึงให้ประหารสตรีผู้นั้นกับสามีของนางเสีย

ตามบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศส ยังเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อเรื่องนี้รู้ถึงเจ้าพระยาวิชยาเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีชาวกรีกแล้ว เจ้าพระยาวิชยาเยนทร์ก็โกรธมาก เนื่องจากตนเองมีความสนิทสนมกับนายไวท์และนายเบอร์นาบีรวมทั้งบรรดาชาวอังกฤษเป็นอย่างดี จึงส่งกำลังทหารไปยังเมืองตะนาวศรีและจับกุมพระยาตะนาวศรีกับพรรคพวกที่ร่วมก่อการทั้งหมดมายังกรุงศรีอยุธยาและกราบทูลให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงประหารพระยาตะนาวศรีกับพรรคพวกทั้งหมด ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงมีพระบัญชาตามคำกราบทูลของอัครเสนาบดีคนโปรด ยังผลให้พระยาตะนาวศรีและพรรคพวกถูกประหารสิ้น

เรื่องต่อมาอยู่ใน พระราชพงศงศาวดารกรุงธนบุรีที่เรียบเรียงโดย หมอบรัดเล ซึ่งได้เล่าถึงเหตุการณ์เมือครั้งที่ทัพสยามไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ว่าในครั้งนั้น ทัพสยามได้เข้าตีเมืองพะโค เมืองหน้าด่านสำคัญของล้านช้าง ทว่าชาวเมืองต่อต้านเข้มแข็งยิ่งนัก ทำให้ทัพสยามต้องสูญเสียไพร่พลเป็นจำนวนมาก

เจ้าพระยาสุรสีห์ แม่ทัพสยามจึงคิดกลศึกหมายจะบั่นทอนกำลังใจชาวเมืองพะโค โดยให้ตัดศรีษะทหารเชลยเป็นจำนวนมาก ใส่ลงเรือแล้วให้หญิงชาวบ้านพายเรือข้ามฟากไปร้องขายศีรษะคนที่หน้าเมือง ทำให้ชาวเมืองพะโคเกิดความหวาดเกรงจนหมดกำลังใจต่อสู้ ทัพสยามจึงตีเมืองได้ในที่สุด

เรื่องสุดท้ายที่นำมากล่าว อยู่ในพงศาวดารฉบับเดียวกัน โดยเมื่อครั้งสงครามเก้าทัพ กองทัพอังวะที่ตั้งค่ายอยู่ปากพิง เมืองพิษณุโลกถูกทัพสยามตีแตก สูญเสียไพร่พลเป็นจำนวนมาก ฝ่ายสยามได้นำเชลยอังวะที่จับได้มาตัดหัวเสียบประจานบนหาดทรายทุกคุ้งน้ำจากเมืองพิษณุโลกเรื่อยมาจนถึงนครสวรรค์ ส่วนพวกเชลยที่เหลือนั้นได้ถูกคุมตัวลงมาเป็นทาสที่กรุงเทพ

สำหรับเรื่องราวที่ได้เล่าไปนี้ มิได้มีจุดประสงค์อันใดนอกเสียจากการแสดงให้เห็นถึงอีกด้านหนึ่งของสงครามในยุคโบราณ ที่ความโหดร้ายนั้นถือเป็นเรื่องปกติของคู่ศึกไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดหรือชนชาติใด ทว่าสิ่งที่สำคัญคือ คนในรุ่นหลังไม่ควรจดจำความโหดร้ายในอดีตมาเป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังต่อกัน แต่สิ่งที่ควรทำคือ จดจำความขัดแย้งเหล่านั้นในฐานะบทเรียนสอนใจและหันมาสร้างความร่วมมือและมิตรภาพที่ดีระหว่างกันเพื่อการก้าวไปสู่อนาคตที่สดใสร่วมกัน



ที่มา  :  http://www.komkid.com