เรามักจะได้ยินผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยออกมาแสดงความคิดเห็น เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และวัยรุ่นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการคลั่งไคล้เทคโนโลยีใหม่ๆ การเปลี่ยนมือถือบ่อยๆ การแต่งกายตามแฟชั่น รวมไปถึงการแต่งกายที่แปลกประหลาดที่เกิดจากการลอกเลียนแบบ จนกระทั่งมีเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจ เมื่อเด็กนักเรียนอายุ 12 ปี เลียนแบบเรื่องราวในเว็บไซต์ ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตล่อลวงเด็กหญิงวัยเดียวกันไปข่มขืน เหตุการณ์นี้เป็นการตอกย้ำให้ผู้ใหญ่ในสังคมได้ตระหนัก และหาเหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดเรื่องเช่นนี้ในสังคมไทย เป็นเพราะเด็กกลุ่มนี้ขาดกระบวนการ ?คิด? ?ไม่ได้ยั้งคิด? ?ไม่ได้ไตร่ตรอง? หรือเปล่า
การปลูกฝังให้เด็กคิดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก นอกจากจะทำให้เด็กตระหนักและไตร่ตรองก่อนลงมือกระทำเรื่องใดๆ แล้ว กระบวนการคิดที่ดียังส่งเสริมให้เด็กคิดต่อยอดและคิดแตกฉาน เพื่อเสริมสร้างการกระทำที่สร้างสรรค์ สร้างความมั่นใจให้กับตนเอง ตลอดจนยังสามารถพัฒนาทักษะการปรับตัว เมื่อเด็กต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การคิดจึงมีประโยชน์มาก คือเป็นทั้งภูมิคุ้มกันที่ปกป้องตนเองจากความเสียหายต่างๆ และยังทำให้เด็กรู้จักเลือกสรรสิ่งที่เหมาะสมกับตนเองได้ดีขึ้นอีกด้วย
การคิดเป็นพื้นฐานของสติปัญญาและความเข้าใจ ทำให้เราสามารถตัดสินใจอะไรๆ ได้ดีขึ้นนะคะ แล้วถ้าเราจะฝึกให้เด็กคิด เราจะทำยังไง ทักษะการคิด (Thinking Skill) ต้องประกอบไปด้วยความสามรถด้านใดบ้าง ไปดูกัน
1. สามารถเชื่อมโยงข้อมูลใหม่เข้ากับข้อมูลเก่า และนำมาเล่าเรื่องได้ วิธีนี้จะทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาค่ะ
2. บอกความต้องการในสิ่งที่อยากรู้ได้ คือสามารถบอกได้ว่าตนเองรู้อะไรอยู่แล้ว หรือต้องการรู้อะไรเพิ่มอีก
3. นำข้อมูลไปใช้ และสามารถอธิบายในสิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่ได้
4. สามารถบอกถึงความไม่สำคัญของปัญหา ซึ่งตนเองไม่จำเป็นต้องสนใจได้
5. สรุปข้อมูลความรู้ที่ค้นพบใหม่ เพื่อเชื่อมโยงกับความรู้เก่าอย่างเป็นระบบได้
6. นำความคิดที่ได้มาดัดแปลงเป็นสิ่งใหม่ หรือนำความรู้มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
การที่สมองจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นจะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง การจำเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ แต่การคิดจะทำให้สมองทำงาน ทำให้เข้าใจเนื้อหาและมีความรู้อย่างแท้จริง การคิดเป็นการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพียงแค่พัฒนาและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนจัดสิ่งเร้าให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น และเต็มไปด้วยสิ่งแปลกใหม่ เพียงเท่านี้เด็กๆ ก็จะอยากคิด อยากเรียนรู้ และไม่เบื่อ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.healthtoday.net/