ผู้เขียน หัวข้อ: พัฒนาสมองห้าด้าน (ครูเพื่อศิษย์)  (อ่าน 4812 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 12:33:00 AM
          การพัฒนาสมองที่สำคัญ มาจากหนังสือ 21st Century Skills : Rethinking How Students Learn  บทที่ 1 Five Minds for the Future  เขียนโดยศาสตราจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) คือ Howard Gardner

         นี่คือพลังสมอง หรือจริต ๕ แบบ  ที่คนในอนาคตจะต้องมี และครูเพื่อศิษย์จะต้องหาทางออกแบบการเรียนรู้ให้ศิษย์ได้พัฒนาการสมองใน ๕ ด้านนี้ พลังสมอง ๓ ใน ๕ ด้านนี้ เป็นพลังเชิงทฤษฎี หรือที่เรียก cognitive mind ได้แก่ สมองด้านวิชาและวินัย (disciplined mind)  สมองด้านสังเคราะห์ (synthesizing mind)  และสมองด้านสร้างสรรค์ (creating mind)   อีก ๒ ด้านเป็นพลังด้านมนุษย์สัมผัสมนุษย์ ได้แก่ สมองด้านเคารพให้เกียรติ (respectful mind)  และด้านจริยธรรม (ethical mind)   

         การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมอง ๕ ด้าน ไม่ดำเนินการแบบแยกส่วน แต่เรียนรู้ทุกด้านไปพร้อมๆ กัน หรือที่เรียกว่าเรียนรู้แบบบูรณาการ   และไม่ใช่เรียนจากการสอน แต่เป็นการเรียนจากการปฏิบัติโดยตัวนักเรียนเอง ครูต้องทำหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ และช่วย facilitate หรือเป็นโค้ช   ครูที่เก่งและเอาใจใส่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ลึกและเชื่อมโยง  นี่คือมิติทางปัญญา

สมองด้านวิชาและวินัย

          คำว่า disciplined มีได้ ๒ ความหมาย  หมายถึงมีความรู้และทักษะในวิชาในระดับที่เรียกว่าเชี่ยวชาญ (master)   และสามารถพัฒนาตนเองในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา 

          หลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ คำว่า ?เชี่ยวชาญ? ในโรงเรียน หรือในการเรียนรู้ของเด็ก ต้องคำนึงถึงบริบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริบทของการเจริญเติบโตทางสมองของเด็ก

          คำว่า ?เชี่ยวชาญ? หมายความว่า ไม่เพียงรู้สาระของวิชานั้น   แต่ยังคิดแบบผู้ที่เข้าถึงจิตวิญญาณของวิชานั้น   คนที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ไม่เพียงรู้เรื่องราวทางประวิติศาสตร์ แต่ยังคิดแบบนักประวัติศาสตร์ด้วย

          เป้าหมายคือการเรียนรู้แก่นวิชา ไม่ใช่จดจำสาระแบบผิวเผิน   รู้แก่นวิชาจนสามารถเอาไปเชื่อมโยงกับวิชาอื่นได้ 

สมองด้านสังเคราะห์

          นี่คือความสามารถในการรวบรวมสารสนเทศและความรู้ต่างๆ มากลั่นกรองเฉพาะส่วนที่สำคัญ  และจัดระบบนำเสนอใหม่อย่างมีความหมาย   คนที่มีความสามารถสังเคราะห์ได้ดีเหมาะที่จะเป็นครู นักสื่อสาร และผู้นำ

          ครูต้องจัดให้ศิษย์ได้เรียนเพื่อพัฒนาสมองด้านสังเคราะห์ ซึ่งต้องเรียนโดยการฝึกเป็นสำคัญ   โดยครูต้องเสาะหาทฤษฎีเกี่ยวกับการสังเคราะห์มาใช้ในขั้นตอนของการเรียนรู้จากการทำ reflection หรือ AAR หลังการทำกิจกรรมเพื่อฝึกหัด  การฝึกสมองด้านสังเคราะห์ต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ ?ปฏิบัตินำ ทฤษฎีตาม?

          และการสังเคราะห์ กับการนำเสนอเป็นคู่แฝดกันเป็น multimedia presentation   เป็นภาพยนตร์สั้น  เป็นละคร

สมองด้านสร้างสรรค์

          นี่คือทักษะที่คนไทยขาดที่สุด   โดยที่คุณสมบัติสำคัญที่สุดของสมองสร้างสรรค์คือ ?คิดนอกกกรอบ? 

          แต่คนเราจะคิดนอกกรอบเก่งต้องเก่งความรู้ในกรอบเสียก่อน   แล้วจึงคิดนอกกรอบ   คนที่มีความรู้และทักษะอย่างดีเรียกว่าผู้เชี่ยวชาญ   ต่างจากผู้สร้างสรรค์ตรงที่ผู้สร้างสรรค์ทำสิ่งใหม่ๆ ออกไปนอกขอบเขตหรือวิธีการเดิมๆ     และการสร้างสรรค์ต้องใช้สมองหรือทักษะอื่นๆ ทุกด้านมาประกอบกัน 

          การสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่มักเป็นผลงานของคนอายุน้อย   เพราะคนอายุน้อยมีธรรมชาติติดกรอบน้อยกว่าคนอายุมาก  เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการมีความรู้เชิงวิชาและวินัย ความสร้างสรรค์นั้นเรียนรู้หรือฝึกได้   ครูเพื่อศิษย์จึงต้องหาวิธีฝึกฝนความสร้างสรรค์ให้แก่ศิษย์

          สมองที่สร้างสรรค์ คือสมองที่ไม่เชื่อว่าวิธีการหรือสภาพที่ถือว่าดีที่สุดที่มีอยู่นั้น ถือเป็นที่สุดแล้ว   เป็นสมองที่เชื่อว่ายังมีวิธีการหรือสภาพที่ดีกว่าอย่างมากมายซ่อนอยู่หรือรอปรากฏตัวอยู่   แต่สภาพหรือวิธีการเช่นนั้นจะเกิดได้ต้องละจากกรอบวิธีคิดหรือวิธีดำเนินการแบบเดิมๆ   ศัตรูสำคัญที่สุดของความคิดสร้างสรรค์คือการเรียนแบบท่องจำ

          เปรียบเทียบสมอง ๓ แบบข้างต้นได้ว่า สมองด้านวิชาและวินัยเน้นความลึก (depth)  สมองด้านการสังเคราะห์เน้นความกว้าง (breadth)  และสมองด้านสร้างสรรค์เน้นการขยายหรือฝืน (stretch)

สมองด้านเคารพให้เกียรติ

          คุณสมบัติด้านเคารพให้เกียรติผู้อื่นมีความจำเป็นในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งด้านกายภาพและด้านนิสัยใจคอ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ความเชื่อ ศาสนา    มนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ จึงต้องเป็นคนที่คุ้นเคยและให้เกียรติคนที่มีความแตกต่างจากที่ตนคุ้นเคยได้  ครูเพื่อศิษย์จะฝึกฝนสมองด้านนี้ของศิษย์

สมองด้านจริยธรรม

          นี่คือทักษะเชิงนามธรรม   และเรียนรู้ซึมซับได้โดยการชวนกันสมมติและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน ว่าตัวเองเป็นอย่างไรในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง   และหากคนทั้งโลกเป็นอย่างนี้หมด โลกจะเป็นอย่างไร   รวมทั้งอาจเอาข่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาคุยกัน และผลัดกันออกความเห็นว่าพฤติกรรมในข่าวก่อผลดีหรือผลเสียต่อการอยู่รวมกันเป็นสังคมที่มีสันติสุขอย่างไร สมองด้านจริยธรรมปลูกฝังกล่อมเกลามาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เรียนรู้พัฒนาได้จนสูงวัยและตลอดอายุขัย

         แนวความคิดเรื่องห้าฉลาดนี้ ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการพัฒนาทฤษฎี   ครูเพื่อศิษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพัฒนาทฤษฎีขึ้นใช้เอง   ทฤษฎีไม่ใช่สิ่งตายตัว มีสิทธิ์สร้างเฉพาะนักวิชาการยิ่งใหญ่เท่านั้น   คนที่มุ่งมั่นทำงานด้านใดด้านหนึ่งมีสิทธิ์พัฒนาทฤษฎีขึ้นใช้เป็นแนวทางในการทำงานสร้างสรรค์ของตน 

          ดังนั้น ครูเพื่อศิษย์ทุกคนควรสร้างทฤษฎีในการทำงานของตน   แล้วลงมือปฏิบัติและหาทางเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อพิสูจน์ว่าทฤษฎีของตนถูกต้องหรือมีข้อบกพร่องที่จะต้องปรับปรุงอย่างไร   การทำงานแบบนี้ คือการทำงานบนฐานการวิจัยนั่นเอง   


ที่มา  : http://krutoom.wordpress.com/