เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
ความรู้เกี่ยวกับการศึกษา
หลักการจัดการศึกษาของชุมชน
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: หลักการจัดการศึกษาของชุมชน (อ่าน 4296 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3910
หลักการจัดการศึกษาของชุมชน
เมื่อ:
ตุลาคม 15, 2015, 01:06:49 AM
ความหมายของการจัดการศึกษาของชุมชน
ชุมชนเป็นสถานที่รวมของกลุ่มประชาชนที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มีการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถกล่อมเกลาให้คนในชุมชนมีความเชื่อ อุดมการณ์และยึดถือในจริยธรรมอย่างเดียวกัน คนในชุมชนจึงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน และมีเอกลักษณ์ของตนเอง ลักษณะและเอกลักษณ์เหล่านี้แสดงออกให้เห็นได้จากความเชื่อ ทัศนะและการประพฤติปฏิบัติของคนในชุมชนนั้น
ชุมชนจะสื่อสารถ่ายทอดความเป็นเอกลักษณ์และลักษณะต่าง ๆ ผ่านคตินิยม นิทาน จารีตและขนบธรรมเนียมประเพณี โดยถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง คนหนึ่งไปยังกลุ่มคน หรือจากกลุ่มคนหนึ่งไปยังอีกกลุ่มคนหนึ่ง รวมทั้งจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง การถ่ายทอดลักษณะ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิธีการปฏิบัติเช่นนี้เป็นการให้การศึกษาของชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาชุมชนให้ดำรงอยู่สืบไปอย่างมั่นคงและเข้มแข็ง
ดังนั้น การจัดการศึกษาของชุมชนจึงหมายถึง การสื่อสารถ่ายทอดความรู้ ความเชื่อ ค่านิยม นวัตกรรม วิธีการแก้ไขปัญหา และการประพฤติปฏิบัติระหว่างบุคคลในชุมชนซึ่งทำให้คนในชุมชนมีลักษณะคล้ายคลึงกันและมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง
เป้าหมายของการจัดการศึกษาของชุมชน
การจัดการศึกษาของชุมชนมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งประกอบด้วย ความสามารถในการพึ่งพิงตนเองได้ทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแก้ไขปัญหาของตนเอง และการมีเอกลักษณ์และความยั่งยืนของชุมชน ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า เป้าหมายของการจัดการศึกษาของชุมชน คือ
1.ถ่ายทอดความรู้ ทักษะ ภูมิปัญญา ในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตบนพื้นฐานของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนนั้น
2.ถ่ายทอดความเชื่อและค่านิยมของชุมชน และทำให้สมาชิกมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จนเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนนั้น ๆ และทำให้คุณลักษณะเอกลักษณ์ของชุมชนได้สืบสานต่อเนื่องยั่งยืน
3.เป็นการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของสมาชิกในชุมชนในการแก้ไขปัญหาของตนเองและชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาของตนเองได้
เนื้อหาสาระในการศึกษาชุมชนเพื่อจัดการศึกษาของชุมชน
ในการจัดการศึกษาของชุมชนจำเป็นต้องศึกษาเนื้อหาสาระของชุมชน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในบริบทของชุมชนนั้นๆ จนเกิดเป็นความรักความหวงแหนในท้องถิ่นชุมชนของตนเนื้อหาสาระดังกล่าวประกอบด้วย ภูมิหลังและประวัติของชุมชน สภาพทางกายภาพของชุมชน โครงสร้างของสังคม ประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนวัตกรรมและการแก้ไขปัญหาของชุมชน
1.ภูมิหลังและประวัติของชุมชน
เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมาชาติพันธุ์ของชุมชน เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและความหวงแหนในมรดกของชุมชน โดยการศึกษาประวัติการก่อตั้งชุมชน จากคำบอกเล่า ตำนาน นิทานที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาของท้องถิ่น บันทึกหลักฐานทางโบราณคดี เช่น จดหมายเหตุ พงศาวดาร โบราณสถาน โบราณวัตถุในชุมชน เป็นต้น
2.สภาพทางกายภาพของชุมชน
เป็นความรู้เกี่ยวกับสภาพทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรของชุมชน ทำให้มีความรู้ความเข้าใจทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน เช่น พื้นที่ของชุมชน อาณาเขต ลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ แหล่งน้ำในชุมชน ทั้งแหล่งน้ำตามธรรมชาติและแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น การคมนาคม สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พืชพรรณไม้ สัตว์ป่า เป็นต้น
3.โครงสร้างของสังคม
เป็นการศึกษาเพื่อให้ทราบวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน เช่น ระบบเครือญาติ ระบบเศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา การเมืองการปกครอง ระบบความเชื่อ ผู้นำในชุมชน จำนวนประชากร โครงสร้างของประชากร อาชีพ เป็นต้น
4.ประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน
เป็นการศึกษาความเชื่อ ค่านิยม และวิถีปฏิบัติที่มีคุณค่าที่ได้ถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และประพฤติปฏิบัติอันเป็นการบำรุงรักษาสมาชิกในชุมชนให้ดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี ทำให้ชุมชนมีเอกลักษณ์และดำรงอยู่ได้ เช่น การแห่นางแมวเพื่อขอฝนของชุมชนในภาคกลางและภาคอีสาน การทำบุญเดือนสามไหว้พระพุทธชินราชของชาวภาคเหนือตอนล่าง ประเพณีงานบุญยี่เป็งของชาวภาคเหนือ เป็นต้น
5.ภูมิปัญญาท้องถิ่น
เป็นนวัตกรรมและวิธีการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลที่ชุมชนใช้ในการดำรงชีวิต นับตั้งแต่การประกอบอาชีพ การติดต่อสัมพันธ์กัน ได้แก่ วิธีการต่างๆที่บุคคลในท้องถิ่นนำมาใช้ในการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตประจำวันจนประสบผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับ เช่น การทำนาน้ำตม การทำนาหว่าน การปลูกพืชไร่นาสวนผสม การใช้พืชสมุนไพรเป็นยารักษาโรค หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นคำอบรมสั่งสอน เช่น ?เรือนสามน้ำสี่? ที่ใช้อบรมกุลสตรีไทยมาแต่โบราณ ?ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า? ที่ใช้อบรมสั่งสอนวิธีการครองชีวิตคู่ เป็นต้น รวมทั้งภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาในลักษณะของวัตถุ สิ่งก่อสร้าง ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา เตาเผาถ้วยชามสังคโลก รูปปั้นฤาษีดัดตนวัดโพธิ์ และภาพเขียนฝาผนังในโบสถ์ วิหารตามวัดต่าง ๆ
6.นวัตกรรมและการแก้ไขปัญหาของชุมชน
เป็นประสบการณ์ของบุคคลที่ใช้แก้ปัญหาโดยใช้นวัตกรรมและวิธีการทั้งใหม่และเก่าจนสามารถแก้ไขปัญหาได้ เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งเก่าและใหม่เข้าด้วยกันในการแก้ไขปัญหา เช่น การทำนาด้วยวิธีเกษตรกรรมธรรมชาติของพ่อคำเดื่อง ภาษี จังหวัดบุรีรัมย์ การทำเกษตรธรรมชาติแบบผสมผสานครบวงจรของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม จังหวัดฉะเชิงเทรา ครูชุบ ยอดแก้ว จังหวัดสงขลาที่ริเริ่มจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของคนในชุมชน เป็นต้น
การศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ได้ข้อมูลเนื้อหาสาระที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษาของชุมชนนั้น ทำได้โดยการสัมภาษณ์ผู้รู้ ผู้นำในชุมชน ติดต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมเอกสารข้อมูลที่ต้องการ การสำรวจสภาพพื้นที่ และการสังเกต เป็นต้น
วิธีการจัดการศึกษาของชุมชน
การจัดการศึกษาของชุมชนสามารถทำได้ต่อไปนี้
1.การใช้บทบาทของสถาบันทางสังคม
เป็นการถ่ายทอดการเรียนรู้ตามบทบาทหน้าที่ของสถาบันทางสังคมในชุมชน ประกอบด้วย วัด องค์กรชุมชน ครอบครัว และโรงเรียน โดยวัดจะถ่ายทอดคุณธรรมจริยธรรมให้แก่บุคคลในชุมชน และเป็นแหล่งรวมในการทำกิจกรรมและพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งการเรียนรู้ของชุมชน องค์กรชุมชนจะดูแลเรื่องประเพณีและวัฒนธรรม พร้อมทั้งเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ เช่น ข่าวสารทางราชการ สาธารณสุข ข่าวการเกษตร ข่าวการเมืองการปกครอง เป็นต้น ส่วนครอบครัวจะรับผิดชอบการ อบรมสั่งสอนในเบื้องต้น การถ่ายทอดด้านการประกอบอาชีพ ฝึกทักษะด้านอาชีพและค่านิยม สำหรับโรงเรียนจะเป็นแหล่งเตรียมตัวสมาชิกใหม่ของสังคม มีบทบาทที่สำคัญในการปลูกฝังความรู้ ทักษะ และเจตคติในด้านต่าง ๆ
2.การใช้นิทานและคติความเชื่อ
เป็นการถ่ายทอดคติความเชื่อและปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมด้านต่าง ๆ เช่น ความซื่อสัตย์ ความขยัน ความอดทน ความกตัญญู ให้แก่คนในสังคมโดยผ่านนิทาน คติความเชื่อที่สะท้อนการเป็นเอกลักษณ์ของสังคม ซึ่งรวบรวมได้จากคำบอกเล่าของบุคคลในชุมชน เช่น นิทานเรื่องกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เรื่องพญากงพญาพาน เป็นนิทานสอนเรื่องความกตัญญู เป็นต้น
3.การใช้ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
เป็นการศึกษาและฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีในท้องถิ่น ความเข้าใจ แปลความหมายในบริบทของสังคมใหม่ แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น ประเพณีการทำขวัญข้าว ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติของชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ต่อมาได้สูญหายไปในบางแห่ง ควรจะศึกษาวิธีการปฏิบัติ ความสำคัญ ความหมายของพิธีกรรมเพื่อเรียนรู้ ถ้ายังเป็นประเพณีที่มีความหมายก็อาจฟื้นฟูใหม่ได้ จะเห็นได้ว่าในชุมชนท้องถิ่นต่างก็มีวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าและมีความหมายต่อการดำรงอยู่ของชุมชนในอดีต บางอย่างยังคงความหมายสืบต่อถึงปัจจุบัน ถ้ามีการศึกษาและทำความเข้าใจ อาจทำให้ชุมชนสามารถอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าไว้ได้
4.การใช้วัฒนธรรมการประพฤติปฏิบัติ
เป็นการใช้จารีตประเพณีที่คนในชุมชนยึดถือ มาทำความเข้าใจ แปลความหมายใหม่ แล้วนำมาเผยแพร่ปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น การนับถือผี การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ การไว้ผมจุกของเด็กไทย การแต่งชุดไทย เป็นต้น
เป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษาของชุมชน ก็คือความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งความเข้มแข็งของชุมชนจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อชุมชนนั้นสามารถพึ่งตนเองได้ สามารถจัดการกับปัญหาของตนเองได้ ชุมชนจะทำได้นั้นชุมชนต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ ประกอบด้วย อุดมการณ์ความเชื่อ ความสามารถในการประกอบอาชีพ ความรู้และภูมิปัญญาในการดำรงชีวิต ทรัพยากรที่ใช้ในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต และมีโครงสร้างในการบริหารจัดการ เรื่องต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ กรอบความคิดนี้นำมาใช้กำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาชุมชนได้เป็นอย่างดี
การจัดการศึกษาของชุมชนตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้เสนอแนวทางในการจัดการศึกษาของชุมชนไว้ดังนี้
1.ถ่ายทอดจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา ไว้ในมาตรา 7
ว่า จะต้องมุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นและของไทยควบคู่ไปกับความรู้สากล มีความสามารถในการประกอบอาชีพ พึ่งตนเองได้ แสดงว่าการศึกษาที่จัดขึ้นจะต้องอยู่บนองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน บนพื้นฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชน จนชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
2.ยึดถือหลักการจัดการศึกษาตลอดชีวิต
กล่าวคือ การเรียนรู้ของบุคคลจะเกิดขึ้นตลอดเวลานับตั้งแต่เกิดจนตาย เนื้อหาสาระที่เรียนรู้จะเกิดขึ้นเสมอและต่อเนื่อง ดังนั้น ชุมชนจะต้องมีส่วนเข้าไปมีบทบาทการจัดการเรียนรู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชุมชนจึงมีบทบาทในการจัดการศึกษาของคนในชุมชนตลอดเวลา
3.จัดการศึกษาโดยยึดถือหลักการที่จะระดมทรัพยากรทุกอย่าง
โดยการมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน และองค์การต่าง ๆ จึงจะเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการจัดการศึกษาของชุมชนได้
4.จัดการศึกษาโดยกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาให้กับชุมชนท้องถิ่น
ดังนั้น ชุมชนท้องถิ่นจึงมีภาระที่จะต้องจัดการศึกษาให้กับสมาชิกในชุมชนของตนเองอย่างต่อเนื่อง
สรุปได้ว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่เน้นการจัดการศึกษาของชุมชน ชุมชนจะต้องรับผิดชอบจัดการศึกษา รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและระดมทรัพยากรต่างๆ มาช่วยการจัดการศึกษา การจัดการศึกษาจะต้องจัดสาระการเรียนรู้ที่จะสร้างให้คนในชุมชนพึ่งตนเองได้ และสามารถอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาของท้องถิ่น
ที่มา : คัดลอกจากชุดฝึกอบรมครู ในหัวข้อหลักการจัดการศึกษาในชุมชน
ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรรค์ วรอินทร์
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
ความรู้เกี่ยวกับการศึกษา
หลักการจัดการศึกษาของชุมชน
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?