ผู้เขียน หัวข้อ: ญวน ? สยาม กับสงครามแห่งเบื้องบูรพา  (อ่าน 4570 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
ในประวัติศาสตร์ไทย คู่แข่งที่รุกรบขับเคี่ยวกับราชอาณาจักรสยามคือราชอาณาจักรพม่าแห่งฟากตะวันตก ทว่าทางฟากตะวันออกของสยาม ก็ใช่ว่าจะไร้คู่แข่ง ด้วยว่ายังมีอีกราชอาณาจักรหนึ่งที่เข้มแข็งและน่าเกรงขามไม่น้อย นั่นคือ ราชอาณาจักรไดเวียด ของชาวเวียดนาม หรือ ญวน

ประวัติศาสตร์เวียดนามเริ่มขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อน โดยปรากฏการตั้งถิ่นฐานในแถบดินแดนเวียดนามตั้งแต่ยุคหินใหม่ จนมาถึงเมื่อราว 1000 ปีก่อน ค.ศ.ในยุคสำริด ได้ปรากฏการตั้งชุมชนในพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำแดงของเวียดนามในลักษณะของสังคมชนเผ่า ในช่วงปลายยุคสำริด ราวปีที่ 400 ? 500 ก่อน ค.ศ.  ชุมชนเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นอาณาจักร  มีกษัตริย์ปกครอง โดยนักประวัติศาสตร์เรียกดินแดนนี้ว่าอาณาจักรวันลาง

ต่อในยุคราชวงศ์ฉิน ราว ปีที่ 200 ก่อน ค.ศ. จักรพรรดิฉินซื่อหวงตี้ หรือฉินซีฮ่องเต้ทรงให้ยกทัพใหญ่มาปราบภาคใต้และผนวกดินแดนเวียดนามเข้าในอาณาจักรฉิน หลังราชวงศ์ฉินล่มสลาย ขุนศึกนาม จ้าวถ้อ ได้ประกาศแยกดินแดนตั้งเป็นแคว้นหนานเย่ ก่อนจะถูกผนวกเข้ากับราชวงศ์ฮั่นใน ปี ค.ศ. 42 แต่เวียดนามก็คอยหาโอกาสแยกตัวเป็นอิสระโดยตลอด จนเมื่อจีนเข้าสู่กลียุคตั้งแต่ปลายราชวงศ์ฮั่น เวียดนามจึงได้โอกาสแยกดินแดนตั้งเป็นอาณาจักรของตน โดยมีราชวงศ์ปกครองสืบเนื่องกันมา ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่เวียดนามได้พยายามขยายอิทธิพลเข้าสู่ดินแดนใกล้เคียงอย่าง เขมร จามปา ลาวและล้านนา

ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา มีบันทึกในจดหมายเหตุราชวงศ์หมิงเล่าถึงเหตุการณ์ที่กองทัพเวียดนามของกษัตริย์ราชวงศ์เล เข้าโจมตีอาณาจักรล้านช้างและสังหารพระเจ้าล้านช้างพร้อมพระโอรสสองพระองค์ ขณะที่พญาซายขาว โอรสองค์สุดท้องหนีมาขอพึ่งพระเจ้าติโลกราช กองทัพเวียดนามจึงถือเป็นเหตุยกเข้ารุกรานล้านนา โดยบุกมาถึงเมืองน่าน ทว่าถูกกองทัพล้านนาทำลายจนย่อยยับ

สำหรับความขัดแย้งกับสยามในสมัยอยุธยานั้น ในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม เวลานั้น พระเจ้ากรุงกัมพูชาได้พระธิดากษัตริย์เวียดนามเป็นพระมเหสีรอง จึงคิดเอาใจออกห่างอยุธยา พระเจ้าทรงธรรมจึงทรงให้กองทัพยกไปกำราบทว่าทัพสยามเสียทีกองทัพผสมเขมรและญวนที่เขาจังกาง เสียไพร่พลร่วมห้าพัน จากนั้นในปีต่อมา อยุธยาได้ส่งทัพเรือไปอีกครั้งแต่ก็ไม่อาจเอาชัยกลับมาได้

ความขัดแย้งระหว่างญวนและสยาม เริ่มอีกครั้งในสมัยกรุงธนบุรี โดยในเวลานั้น เวียดนามแบ่งเป็นสองอาณาจักรคือเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ซึ่งต่อมาได้เกิดการกบฏของพวกไตเซิน ทำให้เวียดนามอ่อนแอลง เป็นโอกาสให้สยามสามารถเข้าไปยึดครองลาวและเขมรเอาไว้ได้

พวกไตเซินมีกำลังเข้มแข็งจนสามารถยึดดินแดนเวียดนามได้เกือบทั้งหมด จนสุดท้ายผู้ปกครองเวียดนามใต้ต้องเข้ามาพึ่งสยามและขอกำลังไปช่วยปราบกบฏ ซึ่งสยามก็รับปกป้องคุ้มครอง แต่ไม่สามารถแบ่งกำลังไปช่วยได้เนื่องจากยังมีศึกติดพันกับพม่า ญวนจึงต้องพยายามขยายอิทธิพลเข้าไปในเขมรเพื่อแสวงยุทธปัจจัย ทั้ง เสบียง อาวุธ ตลอดจนไพร่พล จนสร้างความตึงเครียดระหว่างสยามกับเวียดนามสมัยปลายกรุงธนบุรี

เมื่อขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ สยามไม่ต้องการทำสงครามกับพม่าและญวนในเวลาเดียวกัน จึงเลือกสนับสนุนองเชียงสือ ผู้นำตระกูลสำคัญของเวียดนามใต้ โดยในปีที่สองของรัชกาลพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ได้ส่งกองทัพไปช่วยองเชียงสือทำสงครามกับพวกไตเซินเพื่อยึดเมืองไซ่ง่อน โดยในสงครามครั้งแรก ออกญานครสวรรค์เป็นแม่ทัพใหญ่ยกทัพไปรบกับพวกไตเซินและได้ชัยชนะหลายครั้ง ทว่ากลับส่งเชลยและอาวุธคืนให้กับฝ่ายญวน จนถูกประหารชีวิตข้อหาฝักใฝ่ศัตรู

จากนั้นในปีต่อมา พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ส่งพระเจ้าหลานเธอกรมหลวงเทพหริรักษ์นำไพร่พลสยามหนึ่งหมื่นรวมกับทัพเขมรอีกหนึ่งหมื่นพร้อมด้วยกำลังสมทบขององเชียงสือห้าพัน ซึ่งเป็นทัพใหญ่กว่าครั้งก่อน ยกไปทำสงครามกับพวกไตเซิน ทว่ากองทัพสยามพ่ายศึกญวนที่เกาะแตงหรือเจียนซ่ายในคลองวามนาว (วามนาวเป็นคลองใหญ่มีความกว้างเท่ากับลำน้ำเจ้าพระยา) ทัพสยามเสียหายยับเยินเหลือไพร่พลกลับมาไม่ถึงสองพัน กรมหลวงเทพหริรักษ์ถูกลงอาญาคุมขัง ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในปีต่อมา เพื่อช่วยทำศึกกับพม่าในสงครามเก้าทัพเป็นการไถ่โทษ

เมื่อเห็นว่าสยามติดพันการสงครามกับพม่าจนไม่อาจส่งทัพไปช่วยทำศึกกับพวกไตเซินได้ องเชียงสือจึงหนีออกจากสยามและกลับไปรวบรวมไพร่พลเพื่อทำสงครามชิงแผ่นดินกับพวกไตเซิน ขณะเดียวกัน ทางสยามยังคงให้ความช่วยเหลือในเรื่องเสบียงอาหารและอาวุธแก่องเชียงสือ อีกทั้งองเชียงสือยังได้ความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสจนในที่สุดก็สามารถปราบพวกไตเซินและรวมชาติญวนได้สำเร็จ จากนั้นองเชียงสือจึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ญวนเรียกว่า จักรพรรดิยาลอง       

ต่อมาเมื่อพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่สองของสยาม ฝ่ายเวียดนามเริ่มขยายอิทธิพลเข้าไปในเขมรเพื่อหาทรัพยากรมาสร้างความเข้มแข็ง ขณะที่สยามเองถึงแม้จะไม่พอใจ แต่ด้วยยังมีสงครามกับพม่า จึงไม่ต้องการทำศึกสองด้าน จึงทำเป็นไม่รับรู้ จนทำให้ญวนขยายอิทธิพลเข้าไปในเขมรได้อย่างเปิดเผยและเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าไปในลาวอย่างช้า ๆ

เมื่อสิ้นรัชกาลที่สอง พระเจ้าอนุวงศ์กษัตริย์ลาวผู้ปกครองอาณาเขตเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ก่อกบฏต่อสยาม สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สามจึงทรงโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพและเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์ สิงหเสนี) นำทัพไปปราบ ในระหว่างสงครามกับลาว ฝ่ายญวนได้เข้ามาสนับสนุนฝ่ายลาว โดยให้ที่ลี้ภัยแก่เจ้าอนุวงศ์หลังพ่ายศึกกับสยาม ที่เวียงจันทน์ จากนั้นญวนจึงส่งทูตมาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างสยามกับลาว

ทัพสยามยอมตกลงเจรจากับเจ้าอนุวงศ์ตามที่ทูตเวียดนามเสนอ ทว่ากลับถูกเจ้าอนุวงศ์ซ้อนกลสังหารไพร่พลและแม่ทัพนายกองสยามที่รักษาเวียงจันทน์ล้มตายเป็นจำนวนมาก ฝ่ายสยามจึงให้จับทูตญวนประหารเสีย เพราะมองว่าเป็นเหตุให้สยามหลงกลลาวและเมื่อสยามปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ลงได้สำเร็จ ความสัมพันธ์กับญวนก็เริ่มตึงเครียด จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุนักพระองค์จันทร์ กษัตริย์เขมรแข็งข้อต่อสยาม หลังได้รับการสนับสนุนจากญวน จึงทำให้สยามตัดสินใจที่จะทำสงครามเต็มรูปแบบกับญวนvietnam2

ค.ศ. 1833 (พ.ศ.2376) ในรัชกาลของพระเจ้าเวียดนามมินมาง ได้เกิดกบฎที่เมืองไซ่ง่อน สมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะที่จะกำราบญวน ประกอบกับเวลานั้นพม่าพ่ายแพ้อังกฤษเสียดินแดนไปเกือบครึ่งทำให้ไม่อาจเป็นภัยต่อสยามได้อีก พระองค์จึงทรงโปรดฯให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีซึ่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ว่าที่สมุหนายกเป็นแม่ทัพใหญ่ โดยมีเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค)เป็นแม่ทัพเรือ และพระมหามนตรีเป็นทัพหนุนรวมไพร่พลหนึ่งแสนสี่พันนายยกไปตีเมืองไซ่ง่อน

กองทัพสยามรุกเข้าตีเขมรก่อนเป็นอันดับแรก นักพระองค์จันทร์กษัตริย์เขมรทรงรับศึกไม่ไหว จึงเสด็จหนีไปเวียดนามและสิ้นพระชนม์จากนั้นไม่นานนัก ขณะที่ฝ่ายสยามหลังตีเขมรได้ ก็ได้แต่งตั้งนักพระองค์ด้วง ขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรและเกณฑ์พลเขมรเข้าสมทบอีกสองหมื่นก่อนยกมุ่งไปเวียดนาม

ขณะเมื่อทัพสยามเข้าไปทำสงครามในเวียดนามนั้น ทางฝ่ายเวียดนามก็ได้ยกเอาพระธิดาของนักพระองค์จันทร์ ชื่อ นักองค์แป้น ขึ้นเป็นกษัตรี ทำให้เขมรแบ่งเป็นสองฝ่าย

สงครามใหญ่ระหว่าง ญวนและสยามครั้งนี้ เรียกว่า อานามสยามยุทธ โดยในระยะแรกกองทัพสยามได้รุกเข้าไปจนถึงเมืองโจดกของญวน ทว่าหลังจากนั้น นักองค์อิ่ม อนุชานักองค์ด้วงได้แปรพักตร์ไปเข้ากับญวน ทำให้เขมรเกิดจลาจลขึ้น จนทัพสยามต้องถอยกลับมาปราบเหตุวุ่นวายในเขมร

องเตียนกุน แม่ทัพใหญ่ของญวนได้ยกทัพเข้ามาทำสงครามกับสยามในแดนเขมร ทำให้เขมรกลายเป็นสมรภูมิ กองทัพสองฝ่ายรบกันหลายสิบครั้งผลัดแพ้ผลัดชนะตลอดเวลาหลายปี เสียรี้พลและอาวุธเป็นอันมาก ขณะเดียวกันญวนได้วางแผนกลืนเขมรด้วยการส่งกองทหารเข้าประจำเมืองเขมรต่างๆที่อยู่ในอิทธิพลของตน พร้อมบังคับให้ขุนนางเขมรทำตามธรรมเนียมญวนและที่ร้ายแรงที่สุดคือพยายามให้นักองค์แป้นอภิเษกกับพระโอรสของพระเจ้ามินมาง จนทำให้ฝ่ายเขมรไม่พอใจเป็นอันมาก นักองแป้นกับนักองค์อิ่มจึงคิดแปรพักตร์มาหาสยาม

ซึ่งเมื่อองเตียนกุนทราบเรื่องจึงให้คุมตัวนักองค์อิ่ม กับนักองแป้นและพระขนิษฐาทั้งสาม คือ นักองมี นักองเภา นักองสงวนไว้ ทว่านักองแป้นนั้นประชวรและสิ้นพระชนม์ลงระหว่างถูกคุมตัวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างญวนกับเขมรเลวร้ายลง จนนำไปสู่การจลาจลต่อต้านกองทัพญวน

ระหว่างนั้น พระเจ้ามินมางสวรรคต พระโอรสคือพระเจ้าเทียวตรีขึ้นครองราชย์ต่อ ขณะเดียวกัน ทางด้านเขมรเมื่อเห็นว่าชาวเขมรลุกฮือขึ้นเข่นฆ่าทหารญวนจนเป็นจลาจลไปทั่วแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็นำทัพเข้าโจมตีกองทัพญวนขององเตียนกุนจนทำให้ฝ่ายญวนต้องล่าถอยออกจากอาณาเขตเขมรไปตั้งมั่นยังเมืองโจดก

องเตียนกุนเสียใจที่พ่ายแพ้สยามจึงกินยาพิษฆ่าตัวตายที่เมืองโจดก จากนั้นพระเจ้าเทียวตรีได้ส่งองต๋าเตียนกุนมาเป็นแม่ทัพใหญ่คนใหม่และเสริมไพร่พลอีกหลายหมื่นนาย ทว่าความพยายามที่จะกลับเข้ามายึดเขมรจากสยามอีกครั้งก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

สยามและเวียดนามยังทำสงครามต่อเนื่องกันมาจนถึงปี ค.ศ.1847 (พ.ศ.2390) รวมเป็นเวลายาวนานถึง 14 ปี ทั้งสองฝ่ายต่างก็เสียรี้พลและทรัพยากรต่างๆเป็นอันมาก โดยไม่มีฝ่ายใดสามารถรบชนะอีกฝ่ายได้อย่างเด็ดขาด จนท้ายที่สุด สยามและเวียดนามจึงตัดสินใจเจรจาสงบศึก จากนั้นสองฝ่ายได้ทำสนธิสัญญาร่วมกัน โดยสยามยังคงไว้ซึ่งสิทธิในการสถาปนากษัตริย์เขมร แต่เขมรก็ยังต้องส่งเครื่องบรรณาการแก่ญวนทุก ๆ 3 ปี ถือเป็นข้อตกลงที่น่าพอใจทั้ง 2 ฝ่าย สงครามจึงยุติลง


ที่มา : http://www.komkid.com/