ผู้เขียน หัวข้อ: ทฤษฎีการบริหารงานวิชาการ  (อ่าน 14105 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 12:43:40 AM

ทฤษฎีการบริหารงานวิชาการ

               ชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์ (2547:25)  กล่าวว่า การบริหารงานวิชาการ จำเป็นต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์มาประยุกต์ใช้   ให้เหมาะสมกับธรรมชาติขององค์การ ผู้บริหารต้องสร้างทักษะในการบริหาร เพื่อพัฒนาองค์การให้มีประสิทธิภาพสูงสุด   

               ในการบริหารงานวิชาการ ทฤษฎีการบริหารของ  Henri Fayol สามารถนำมาใช้ในการบริหารงานวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ Henri  Fayol  เป็นชาวฝรั่งเศสและเป็นผู้นำคนหนึ่งในการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหาร ฟาโยล ทำงานอยู่ในโรงงานแร่และโลหะ  เขาได้รับความสำเร็จอย่างงดงามในการบริหารงาน ฟาโยล ได้ช่วยกอบกู้สถานการณ์อันสิ้นหวังของบริษัท  จนทำให้มีผลกำไรงดงาม  แนวคิดของ ฟาโยล อยู่ที่การแสวงหากฎเกณฑ์ในการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นสากล  ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักบริหารที่ต้องมีภาระหน้าที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อองค์การ  ฟาโยล ได้เสนอองค์ประกอบขั้นมูลฐานของการบริหารไว้ ดังนี้

1.การวางแผน  (To  plan)
2.การจัดองค์การ  (To  organize)
3.การบังคับบัญชา  (To  command)
4.การประสานงาน  (To  coordinate)
5.การควบคุม  (To  control)


นอกจากนี้  ฟาโยล ยังได้เสนอหลักการสำหรับผู้บริหารที่ควรนำไปใช้  ในการบริหารงานอีก 4 ประการ ดังนี้

1.ผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบต่อผลงานที่อยู่ในขอบข่ายความรับผิดชอบของตน  แม้ว่าภาระหน้าที่นั้นจะได้มอบหมายให้แก่ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติจัดทำก็ตาม  ข้อพึงระลึกในการมอบหมายงาน คือ  อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบจะต้องได้สัดส่วนกัน

2.เอกภาพในการบริหารงานเป็นสิ่งจำเป็นที่นักบริหารจะต้องสนใจ  และจัดให้มีขึ้นในหน่วยงานของตน  หน่วยงานใดที่ขาดเอกภาพในการบังคับบัญชาจะเกิด ความยุ่งยากสับสนในการปฏิบัติงาน

3.การบริหารงานขององค์การจะต้องจัดให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน  เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักขององค์การ  แม้ว่าองค์การนั้นจะมีหลายหน่วยงานก็ตาม  แต่วัตถุประสงค์หลักขั้นพื้นฐานขององค์การย่อมตรงกัน  และนักบริหารต้องจัดให้ หน่วยงานทุกหน่วยที่อยู่ในความรับผิดชอบปฏิบัติสนองวัตถุประสงค์หลักขององค์การเสมอ             

4.นักบริหารจะต้องเสาะแสวงหา วิธีการที่จะอำนวยประโยชน์และประหยัดต่อการบริหาร


            ฟาโยล ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Gangplanks อันเป็นแนวบริหารที่จะช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้สั้นเข้า การติดต่อรายงานให้การดำเนินงานไปตามสายการบังคับบัญชา บางกรณีเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์  สิ้นเปลืองและก่อให้เกิดความชักช้าในการปฏิบัติงาน 

           อย่างไรก็ดี ข้อเสนอที่น่าสนใจอันเกิดจากแนวคิดของ ฟาโยล  คือ หลักการเกี่ยวกับการบริหาร 14 ประการ ที่ผู้บริหารควรเอาใจใส่ ได้แก่

1. การแบ่งแยกการทำงาน  (Divison  of  work)
2. อำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงาน  (Authority)
3. วินัยจรรยา  (Discipline)
4. เอกภาพในการควบคุม  (Unity  of  command)
5. เอกภาพในการอำนวยการ  (Unity  of  direction)
6. ประโยชน์ส่วนตนต้องรองจากประโยชน์ขององค์การ (Sumordina  of  indivdual  to  general  interest)
7. ผลประโยชน์ตอบแทน  (Remuneration)
8. การรวมอำนาจมาไว้ในส่วนกลาง  (Centraliztion)
9. สายการบังคับบัญชา  (Chain  of  command)
10.คำสั่งและระเบียบข้อบังคับ  (Order  anregulation)
11.ความเสมอภาค  (Equity)
12.ความมั่นคงในการทำงาน  (Stability  of  personel)
13.ความดำริริเริ่มในการงาน  (Initiative)
14.ความยึดมั่นและร่วมแรงร่วมใจ  (Esprit  de  corps
)

            ข้อที่น่าสังเกต  จากทฤษฎีและหลักเกณฑ์การจัดการของ   ฟาโยล จะมุ่งแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดในการบริหารที่จะมีลักษณะเป็นสากล  สามารถนำไปใช้ได้ทุกองค์การ ฟาโยล  มุ่งเน้นผู้ปฏิบัติงานในระดับผู้บังคับบัญชาเป็นส่วนใหญ่

ทฤษฎีการบริหารของ ฟาโยล มีความเหมาะสมกับการบริหารงานวิชาการ ดังนี้

             ในการบริหารงานวิชาการ มีขั้นตอนหรือกระบวนการในการบริหารงานที่มุ่ง ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้  ฟาโยลได้กำหนดขั้นตอนในการบริหารงานที่เหมาะสมกับการบริหารงานวิชาการไว้  5  ขั้นตอน ได้แก่ การวางแผน การจัดองค์การ การบังคับบัญชา การประสานงาน และการควบคุม  ดังนี้

1. การวางแผน
  เป็นกระบวนการที่สำคัญในการบริหาร  เป็นภาระหน้าที่และเป็นการใช้ศิลปะของภาวะผู้นำที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง     ดังนั้นในการบริหารงานวิชาการจึงจำเป็นต้องทราบถึงหลักสำคัญในการวางแผน   เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานให้ได้ผลยิ่งขึ้น

2. การจัดองค์การ  เป็นกระบวนการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ    ที่จะสามารถทำให้องค์ประกอบของการบริหารงานวิชาการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งประกอบด้วย คน (people)  หน้าที่การงาน (Function) และปัจจัยทางกายภาพต่างๆ (PhysicalFactors) ขององค์การ หรือการบริหารงานวิชาการ

3. การบังคับบัญชา  เป็นการบริหารงานวิชาการตามอำนาจหน้าที่  ตามระเบียบแบบแผน  วิธีการและมาตรฐานการปฏิบัติงานที่กำหนดขึ้น โดยอาศัยศิลปะการเป็นผู้นำ หลักมนุษยสัมพันธ์ของผู้บังคับบัญชาต่อผู้ร่วมงานหรืผู้ใต้บังคับบัญชา

4. การประสานงาน เป็นเรื่องของการร่วมมือในการบริหารงานวิชาการ เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาระทางใจที่สำคัญ  ดังนั้น การประสานงานจึงเป็นการประสานใจที่มีส่วนสำคัญ  ในการส่งผลให้การบริหารงานวิชาการบรรลุตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนดไว้                 

5. การควบคุม เป็นการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงาน และความก้าวหน้าในการบริหารงานวิชาการเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง การพัฒนางาน และผลสำเร็จในการปฏิบัติงาน เพื่อแก้ไข  ปรับปรุง   และเป็นข้อมูลในการพัฒนางานต่อไป

             จากที่กล่าวมา พอสรุปได้ว่า ทฤษฎีการบริหารของ ฟาโยล ซึ่งเป็นกระบวนการในการวางแผนการจัดองค์การ การบังคับบัญชา การประสานงาน และการควบคุม  มีความเหมาะสมในการบริหารงานวิชาการอย่างยิ่ง  เป็นวิธีการบริหารงานวิชาการที่เป็นสากล มีขั้นตอนหรือกระบวนการบริหารงานที่ต่อเนื่อง  สามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล นำไปสู่การพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการขององค์การในที่สุด

ที่มา  :  oknation.net