เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
"ครู" คือ "ปูชนียบุคคล" หรือ "ผู้แจวเรือจ้าง"
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: "ครู" คือ "ปูชนียบุคคล" หรือ "ผู้แจวเรือจ้าง" (อ่าน 2994 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
"ครู" คือ "ปูชนียบุคคล" หรือ "ผู้แจวเรือจ้าง"
เมื่อ:
มกราคม 06, 2016, 09:09:10 AM
โดย ฟาฏินา วงศ์เลขา
"...อาชีพครูถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง เพราะครูมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญมั่นคง และก่อนที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญได้นั้น จะต้องพัฒนาคน ซึ่งก็ได้แก่เยาวชนของชาติเสียก่อน เพื่อให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าสมบูรณ์ทุกด้าน จึงจะสามารถช่วยกันสร้างความเจริญให้แก่ชาติต่อไปได้ ..." ความตอนหนึ่งของพระราโชวาทของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครู ณ อาคารใหม่สวนอัมพร เมื่อวันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
"ครู" คือผู้ที่ทำหน้าที่สอนให้ศิษย์เกิดความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม นำประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติในอนาคต จะเห็นได้ว่าอาชีพครูนั้นเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ และได้รับการยกย่องว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติมาตั้งแต่ในอดีต ผู้ที่เป็นครูจะต้องรับภาระหน้าที่ต่อสังคมและชาติบ้านเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าหากครูปฏิบัติหน้าที่บกพร่องก็อาจจะส่งผลกระทบไปถึงความเสื่อมของชุมชน สังคม และประเทศชาติได้ ดังนั้น ความสำคัญของครูซึ่งเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติบ้านเมือง สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็ก เยาวชน และผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก
เรามักจะได้ยินคำพูดเชิงเปรียบเทียบหรือเปรียบเปรยมากมายที่มักได้ยินบ่อยครั้ง เช่น "ครู คือปูชนียบุคคล" เนื่องจากครูเป็นผู้ที่ต้องเสียสละ เอาใจใส่เพื่อความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ควรได้รับความเคารพเทิดทูนของศิษย์และบุคคลทั่วไป ดังนั้นภารกิจจำเป็นที่ครูต้องปฏิบัติในฐานะปูชนียบุคคล เช่น ลด ละ เลิกพฤติกรรมไม่ดีทั้งปวง ฝึกฝนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องทั้งกายและใจให้เป็นผู้ที่มีความสุจริต และมีความขยันหมั่นเพียรใฝ่เรียนรู้สั่งสมวิชาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างสม่ำเสมอ ในอดีตครูนั้นมักได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่รอบรู้ รู้จริง รู้แจ้ง ถือได้ว่าเป็นปราชญ์และผู้รู้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นคนดี คนเก่งในวิชาความรู้แขนงต่าง ๆ
การเป็นแบบอย่างที่ดีของครูเพื่อให้ศิษย์ได้ประพฤติปฏิบัติตนตามแบบอย่าง จึงได้ชื่อว่า "ครูคือแม่พิมพ์ของชาติ" อาชีพครูเป็นอาชีพที่ไม่ก่อให้เกิดความร่ำรวย ครูต้องมีความพึงพอใจในความเป็นอยู่อย่างสันโดษ ไม่หวั่นไหวต่อลาภ ยศ สรรเสริญ และความสะดวกสบายต่าง ๆ จึงมีการเปรียบเปรยว่า "ครูคือผู้แจวเรือจ้าง" อีกทั้งอาชีพครูยังเป็นผู้ชี้นำแสงสว่างแห่งปัญญาให้แก่ศิษย์ จึงมีการเปรียบเทียบว่า "ครูคือแสงเทียน"
จากสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏในปัจจุบัน วิชาชีพครูกำลังด้อยลงไปในแง่ของความรู้สึก เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่คนมักจะมองว่าเป็นวิชาชีพที่มีรายได้ต่ำ เป็นครูแล้วจะมีฐานะยากจน มีหนี้สินมากจนล้นพ้นตัว ดังนั้นผู้ปกครองที่มีการศึกษาสูงและมีฐานะทางเศรษฐกิจดี จึงมักจะไม่ส่งเสริมให้บุตรหลานเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสาขา ที่จบออกไปเพื่อประกอบวิชาชีพครู และตัวเด็กเองหรือคนเก่ง ๆ ก็ไม่อยากเข้าศึกษาในสาขาวิชาชีพครู จึงไปศึกษาต่อในสายวิชาชีพ อื่น ๆ เมื่อจบออกมาก็สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้ในอัตราที่สูงกว่าเช่นกัน ดังนั้นภาพที่เรามักเห็นคือผู้ที่สมัครเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพครูมักจะเป็นผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนค่อนข้างต่ำ ซึ่งไม่สามารถไปสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพอื่นได้ จึงจำเป็นต้องเบนเข็มมาศึกษาในสาขาวิชาชีพครู สรุปง่าย ๆ ก็คือ คนเก่งไม่เรียนครู และสาขาครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์เป็นอันดับสุดท้ายที่เด็กจะเลือกเรียน นี่เป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่น้อย ซึ่งผู้มีอำนาจในการบริหารจะต้องหาแนวทางแก้ไขก่อนที่จะสายเกินแก้
อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวไกลทางเทคโนโลยีทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมามากมายอย่างรวดเร็ว สังคมการศึกษาก็ต้องพัฒนาก้าวตามให้ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ครูผู้สอนจะยังคงสอนในรูปแบบเดิม ๆ ก็คงไม่ได้อีกต่อไป จะต้องปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนจากเดิมที่ครูเป็นศูนย์กลางในการสอน มาเป็นเด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ โดยครูต้องทำหน้าที่ในการชี้แนะ ให้คำปรึกษา ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้เรียน ครูต้องแสวงหาสื่อและวิธีการสอนที่แตกต่างหลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย อย่างเช่นปัจจุบันต้องเน้นเรื่องของการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" เป็นต้น
ครูในยุคปัจจุบันจะต้องนำเทคโนโลยีและระบบเครือข่ายมาใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้ในโลกกว้างที่หลากหลายมากขึ้น สำหรับคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับครูที่มีผู้รวบรวมไว้มีหลายประการ ซึ่งสิ่งที่จำเป็นที่สุดและขาดไม่ได้สำหรับครูนั่นคือเป็นผู้เชี่ยวชาญเนื้อหาที่สอน ครูต้องมีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์เพราะถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และครูต้องติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้เรียนที่จะนำไปใช้ในการเรียนรู้ในโลกกว้างได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ครูต้องเข้าใจแนวคิดที่ว่าผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยการได้ลงมือทำกิจกรรมใด ๆ ให้เกิดการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์หรือความรู้เดิม ครูต้องมีทักษะในการจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงระหว่างผู้เรียนด้วยกัน เพื่อนครูทั้งในโรงเรียนเดียวกันและต่างโรงเรียน หรือเชื่อมโยงโรงเรียน บ้าน และชุมชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของผู้เรียน ครูต้องมีทักษะในการสื่อสารกับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูต้องเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ ครูต้องเป็นผู้มีมุทิตาจิต มีความรัก ความห่วงใยผู้เรียน
ไม่ว่าจะเปรียบเทียบว่า "ครู" คือ "ปูชนียบุคคล" "แม่พิมพ์ของชาติ" "ผู้แจวเรือจ้าง" "แสงเทียน" หรือจะเปรียบเปรยเป็นอย่างอื่นก็ตามที ขอโปรดจงรู้ไว้ว่าครูเป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่งในการปลูกฝังความรู้ ความคิด และจิตใจให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้ได้เติบโตขึ้นไปเป็นพลเมืองที่ดี จึงถือว่าครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์ประเทศชาติ เพราะเด็กในวันนี้คืออนาคตของชาติในวันหน้า.
ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ม.ค. 2559 (กรอบบ่าย)
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
"ครู" คือ "ปูชนียบุคคล" หรือ "ผู้แจวเรือจ้าง"
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?