ผู้เขียน หัวข้อ: ทักษะการเป็นนักแก้ปัญหา (Problem-Solver Skills)  (อ่าน 9808 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 01:04:09 AM
 
ตลอดช่วงชีวิตไม่ว่าจะยาวหรือสั้นของคนเรา สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตามหลักความเป็นจริงของชีวิต ไม่ใช่ความไม่แน่นอนเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาเป็นเรื่องหนึ่งที่ถึงเราไม่อยากพบเจอต้องหลบไม่พ้นที่มันจะสิ่งมาหา ไม่ทางตรงก็โดยทางอ้อม ไม่ว่ามากก็น้อย ช้าหรือเร็ว เพื่อรับมือกับปัญหา มนุษย์เราจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะของการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีลักษณะเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ขึ้น การแก้ปัญหาเป็นเรื่องของทางเลือก แนวทางปฏิบัติและยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ปัญหาคืออะไร....

ปัญหา โดยทั่วไปก็คือ ข้อสงสัย คำถามเกี่ยวกับเรื่องราว สถานการณ์ หรือบุคคลที่ทำให้เกิดความสับสน ยุ่งยาก ข้อที่ต้องพิจารณาเพื่อแก้ไข หรือเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหา เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ซึ่งขัดขวางมิให้งานบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้

แล้วทักษะในการแก้ไขปัญหาคืออะไรล่ะ....

ทักษะในการแก้ปัญหา ในมุมมองของนักทฤษฎีสรุปได้ว่าเป็นกระบวนการทางสมองที่ซับซ้อน โดยเกี่ยวข้องกับการจินตนาการ การจัดกระบวนการคิดเพื่อการกระทำ รวมไปถึงการรวบรวมความคิด และกระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ซึ่งในส่วนของกระบวนการแก้ไขปัญหานั้น ผู้รู้หลายท่านเห็นพ้องกันว่าประกอบด้วย 7 ขั้นตอนสำคัญดังต่อไปนี้

ขั้นแรก ทำความเข้าใจสถานการณ์ โดยอาศัยข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการรวบรวม จัดระเบียบ หาความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินงานแก้ปัญหาขั้นตอนต่อไป

ขั้นที่สอง กำหนดปัญหาให้ถูกต้องและชัดเจน โดยอาจจะใช้วิธีการเล่าเรื่อง หรือการเขียนบรรยายสภาพปัญหาด้วยถ้อยคำสั้น ๆ ที่สื่อสารอย่างตรงประเด็น ได้ใจความ จากนั้นจึงระบุเป้าหมายของสภาพการณ์ที่เราอยากให้เกิดขึ้น ภายหลังจากที่ได้แก้ไขปัญหานั้นไปแล้ว

ขั้นที่สาม วิเคราะห์สาเหตุที่สำคัญ โดยอาจจะใช้วิธีการต่าง ๆ ประกอบไปด้วย การตรวจหาสาเหตุ การเลือกสาเหตุที่สำคัญที่นำมาสู่ปัญหานั้น และการระบุสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา

ขั้นที่สี่ หาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้ ในขั้นตอนนี้ นักแก้ปัญหาจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุด จากนั้น จึงวิเคราะห์ความเป็นไปได้และลดจำนวนวิธีการแก้ไขปัญหาจนคาดว่าจะเหลือวิธีที่เกิดประสิทธิผลมากที่สุด เทคนิควิธีที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลดีนั้นมีหลายวิธี ได้แก่ การทำแผนภูมิความคิดหรือ Mind Mapping การระดมสมอง (Brain Storming) หรือการใช้เทคนิคเดลฟายแบบปรับปรุง (Modified Delphi Technique)

ขั้นที่ห้า เลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด จากบรรดาทางเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่มี โดยทำการเปรียบเทียบทางเลือกของการแก้ไขปัญหาทั้งหมดตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ ประเมินและเลือกทางเลือกที่เรียกว่า Optimal ที่สุด

ขั้นที่หก วางแผนการปฏิบัติ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดๆไว้ก่อนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ใครจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบงานใด หรือกระบวนการทำงานใด แต่ละขั้นตอนมีกระบวนการในการทำงาน รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง และเป็นจำนวนเท่าใด

ขั้นที่เจ็ด ติดตามประเมินผล หมั่นคอยตรวจสอบความคืบหน้าของการทำงานที่ได้วางแผนและปฏิบัติงานไปตามนั้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ทราบว่ามีปัญหาและอุปสรรคใดที่เกิดขึ้นจากการทำงานหรือไม่ งานสำรเจลงได้ตามเป้าหมายที่ Plan ไว้หรือเปล่า รวมทั้งการทบทวนว่าปัญหานั้นแก้ไขไปได้โดยสิ้นเชิงแล้วหรือยังอาจจะย้อนกลับมาอีกหรือไม่

Edward De Bono ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา ได้เสนอแนวคิดไว้ที่เรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์กระบวนการแก้ไขปัญหาสรุปได้ 5 ขั้นตอน สรุปได้คือ

ขั้นแรก การยอมรับ ? นักแก้ปัญหาต้องยอมรับในสถานการณ์ แล้วจึงกำหนดขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาขึ้น

ขั้นที่สอง การวิเคราะห์ ? ว่าไปแล้ว ก็คือ การแยกแยะสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นส่วน ๆ โดยแบ่งแยกออกเป็นปัญหาเดิม และปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น โดยการมองให้ลึกในสถานการณ์นั้น

ขั้นที่สาม การเปรียบเทียบ ? เป็นการเปรียบเทียบสถานการณ์ใหม่กับสถานการณ์เก่าที่มีความคุ้นเคย เพื่อค้นหาว่าความรู้ในเรื่องหนึ่ง ๆ สามารถถ่ายทอดไปสู่อีกเรื่องหนึ่งได้ โดยมีลักษณะเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความพยายามและการฝึกฝนเป็นอย่างดี เพื่อดึงเอาความเหมือนกัน ความแตกต่างกันของสถานการณ์ที่กำหนด และสถานการณ์ที่มีอยู่

ขั้นที่สี่ การคัดเลือกและการตัดสินใจ - เป็นการคัดเลือกและตัดสินใจว่าลักษณะของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไรจึงจะเหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เราจะผสมผสานเอาทักษะและวิธีการในการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายเข้าไปเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง และจะยิ่งต้องอาศัยทักษะที่ซับซ้อนจากกลุ่มเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่มีความยุ่งเหยิง หรือมีความเกี่ยวพันกับหน้าที่งานมากมาย นักแก้ปัญหาจึงจะต้องพิจารณาว่า ทักษะในการแก้ไขปัญหาที่แยกย่อยออกตามแต่ละเรื่องหรือสาเหตุของปัญหานั้นเป็นอย่างไร รวมทั้งจะสามารถบูรณาการปัญหาเพื่อแก้ไขแบบ comprehensive ได้อย่างไร

ขั้นที่ห้า การสร้างทางเลือกที่ชัดเจน - เป็นกระบวนการของการสร้างแนวคิดใหม่ เพื่อที่จะหารูปแบบในการแก้ไขปัญหาหรือมองทิศทางของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น แม้จะมีการแก้ไขปัญหาและได้ผลในระดับหนึ่งหรือทั้งหมดแล้วก็ตาม ข้อสำคัญประการหนึ่งที่

เดอ โบโน เตือนสตินักแก้ปัญหาไว้คือ การแก้ไขปัญหาที่ดีนั้น ต้องหลีกเลี่ยงการยึดติดกับวิธีการตายตัวที่เชื่อว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหานั้น หากแต่ควรจะต้องคิดว่า การแก้ปัญหาหนึ่งมักมีทางเลือกที่สามารถใช้ได้มากกว่าหนึ่งทาง และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองว่า ทางเลือกใดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทั้งในแง่ขอความคุ้มค่าต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และคุณค่าต่อองค์การ แต่กระนั้น การที่จะให้ผู้แก้ปัญหา คิดหาทางเลือกที่หลากหลายและนำมาใช้นั้น ว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ จำเป็นที่จะต้องอาศัยการฝึกอบรมและการเรียนรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กันไป

ที่มา : www.tpa.or.th