เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
"นาทีสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช"ความชาญฉลาดครั้งสุดท้ายของพระองค์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: "นาทีสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช"ความชาญฉลาดครั้งสุดท้ายของพระองค์ (อ่าน 4671 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
"นาทีสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช"ความชาญฉลาดครั้งสุดท้ายของพระองค์
เมื่อ:
กุมภาพันธ์ 11, 2016, 06:17:58 AM
"ด้วยความเคารพต่อดวงพระวิญญาณบรรพระมหากษัตริย์และราชวงค์ทุกพระองค์ บทความนี้เป็นบทความที่มีการบันทึกไว้เชิงวิเคราะห์และเรียนรู้ประวัติศาสตร์เท่านั้น หาได้มีเจตนาจะลบหลู่ดูหมิ่นพระเกียรติของบรรพกษัตริย์พระองค์ใดก้อหาไม่"
สมเด็จพระนารายณ์ เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ และนำชาติรอดพ้นจากการถูกล่าเป็นอาณานิคม ในสมัยที่พระองค์ครองราชย์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑ เป็นยุคที่มหาอำนาจตะวันตกแผ่อิทธิพลเข้ามา โดยเฉพาะฮอลันดา ซึ่งหลังจากยึดชวาหรืออินโดนีเซียได้แล้ว ก็คุกคามสยามและมีท่าทีที่ไม่น่าไว้วางใจ สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงย้ายที่ประทับไปอยู่เมืองละโว้หรือลพบุรี ให้ห่างทะเลออกไปอีกเพื่อความปลอดภัย แล้วส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งทรงพระบรมเดชานุภาพในยุโรป และกำลังขัดแย้งกับฮอลันดา เพื่อเป็นการคานอำนาจ
ราชทูต ?โกษาปาน? ที่ทรงส่งไปนั้น เป็นผู้มีความสามารถอย่างสูง สร้างผลงานจนกระเดื่องเลืองลือไปทั่วยุโรป และทำให้พระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศสกับพระมหากษัตริย์ของสยาม ซึ่งอยู่คนละซีกโลก ไม่เคยเห็นพระพักตร์กันเลย มีความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกันได้ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ รับสั่งถึงสมเด็จพระนารายณ์ว่า
?พระเจ้ากรุงสยาม น้องของข้า? ส่วนสมเด็จพระนารายณ์ก็รับสั่งถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ว่า ?พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส สหายของข้า?
แต่สัมพันธไมตรีนี้ก็มีสิ่งลับลวงพราง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งทหารฝรั่งเศส ๖๓๖ คน ในบังคับบัญชาของนายพลเดฟาซ มาช่วยคุ้มกันกรุงสยามตามคำขอของสมเด็จพระนารายณ์ แต่ก็มีคำสั่งลับให้พยายามยึดเมืองธนบุรีอันเป็นเมืองหน้าด่าน กับเมืองมะริดทางภาคใต้ใช้เป็นสถานีการค้าของฝรั่งเศสในตะวันออกไกล พร้อมกับส่งทั้งราชทูตและบาทหลวงมาเกลี้ยกล่อมให้พระเจ้ากรุงสยามเปลี่ยนศาสนาเข้ารีตเป็นคริสต์ให้ได้ เพื่อกระเดื่องพระเกียรติของพระองค์ กับให้สินบนมหาศาล ทั้งหุ้นในบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส และตำแหน่งเคานต์พร้อมที่ดินในกรุงปารีส แก่เจ้าพระยาวิชเยนทร์ หรือคอนสแตนติล ฟอลคอน อัครมหาเสนาบดีสยามเชื้อชาติกรีก เพื่อช่วยหนุนนโยบายทั้งสองนี้ให้ประสบความสำเร็จ
แต่จะด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดินสยามหรืออย่างใดก็ไม่ปรากฏชัด นอกจากนายพลเดฟาซและเจ้าพระยาวิชเยนทร์จะทำงานนี้ไม่สำเร็จแล้ว แม้แต่ชีวิตตัวเองก็ยังรักษากันไว้ไม่ได้ทั้งสองคน อีกทั้งบรรดาราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาทั้งสองคณะ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะเปลี่ยนศาสนาพระเจ้ากรุงสยาม แม้จะคาดคั้นอย่างไม่เกรงพระบรมเดชานุภาพ ต่างก็หงายหลังกลับไปเมื่อได้รับคำตอบที่ไม่อาจโต้แย้งได้
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงบ่ายเบี่ยง จนราชทูตลาลูแบร์เห็นว่า ไม่สามารถต้อนพระเจ้ากรุงสยามเข้ามุมได้แล้ว จึงใช้วิธียื่นบันทึกความทรงจำ ขอให้ทรงตอบเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มีรับสั่งกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ที่มาหว่านล้อมอีกคนว่า พระองค์มีความลำบากพระทัยต่อข้อเสนอของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ที่จะให้พระองค์ละจากศาสนาดั้งเดิมที่ทั่วราชอาณาจักรของพระองค์ได้นับถือติดต่อกันมาถึงสองพันสองร้อยยี่สิบเก้าปี แล้วหันไปรับสิ่งที่พระองค์ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลย และว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นภาระของพระผู้เป็นเจ้า ผู้สร้างสวรรค์และพิภพกับมนุษย์ทั้งหลาย หากเป็นพระประสงค์ของพระองค์ ก็อาจประทานร่างกายและจิตวิญาณให้แก่มวลมนุษย์เสมอเหมือนกันไป ต้องนับถือศาสนาเดียวกันทุกคนตามที่พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นเลิศที่สุด แต่ที่ลัทธินิกายหลากหลายยังคงธำรงอยู่ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เชื่อได้ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงพอพระทัยที่จะได้รับการเคารพบูชาโดยนัยแห่งลัทธิศาสนาและศาสนพิธีที่แตกต่างกันไป
บาทหลวงตาชารด์ได้บันทึกความเห็นต่อรับสั่งนี้ไว้ว่า
?...จากการให้เหตุผลที่ว่านี้ ชี้ให้เราตระหนักในพระปรีชาญาณของพระมหากษัตริย์องค์นี้ได้เป็นอย่างดีว่า ทั้ง ๆ ที่มิได้ทรงรอบรู้วิทยาการทางภาคพื้นยุโรป ก็ทรงสามารถแสดงออกซึ่งเหตุผลอันเต็มไปด้วยพลังและความแจ่มแจ้ง เป็นที่รับฟังได้ตามนัยแห่งปรัชญาของผู้นอกศาสนาคริสตัง... มิสงสัยเลยว่า พระองค์ได้ตรัสออกมาดังที่พระองค์ทรงคิดอยู่ด้วยความจริงพระทัย และในการที่พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นสัจธรรมอีกด้วย...?
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แผ่นดินสยามเปรียบดัง ?แผ่นดินอินเตอร์? มีคนหลายชาติหลายภาษา ทั้งยุโรปและเอเซียเข้ามาเดินกันขวักไขว่ การค้าขายและวิทยาการต่าง ๆ เจริญรุ่งเรือง พระราชพงศาวดารกรุงสยามบันทึกไว้ว่า
?...เมืองลพบุรีและพระนครศรีอยุธยาเป็นมหาบรมสุข สนุกมั่งคั่ง พรั่งพร้อมด้วยพลช้างพลม้า พลานิกรทวยหาญล้วนแกล้วกล้าสามารถ ปราศจากอริราชไพรีมิได้มาย่ำยีบีฑา ระอาพระเดชานุภาพกฤษฎาธิการ และโดยยุติธรรมโบราณราชบรมกษัตริย์สืบมา ฟ้าฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ธัญญาหารก็บริบูรณทั่วนิคมชนบท...?
นาทีสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ทรงนำประเทศฝ่าคลื่นลมไปสู่ความมั่นคงผาสุกด้วยพระปรีชา จนคนรุ่นหลังได้สดุดีพระเกียรติเป็นมหาราชพระองค์หนึ่งของชาติไทย แต่ทว่าในวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพนั้น มหาราชพระองค์นี้กลับต้องเผชิญกับความคับแค้นขมขื่น แม้แต่ข้าราชบริพารที่รับใช้อยู่รอบพระองค์ ก็จะต้องถูกเข่นฆ่ากันทั้งหมด ภาระสุดท้ายของพระองค์ จึงต้องทรงหาทางช่วยพวกเขาให้รอดชีวิต เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ชีพแล้ว
ขณะสมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนักอยู่ที่พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์นั้น เจ้าพระยาวิชเยนทร์คิดจะใช้ทหารฝรั่งเศสเข้ายึดอำนาจเมื่อพระองค์สวรรคต แล้วยกพระปีย์ ลูกข้าราชการชั้นผู้น้อยคนหนึ่งที่ทรงเลี้ยงดูเสมือนเป็นราชโอรส แต่ยอมเข้ารีตไปแล้ว ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สยามพระองค์แรกที่เป็นคริสเตียน จึงเรียกทหารฝรั่งเศสของนายพลเดฟาชที่ประจำอยู่ป้อมบางกอกให้ขึ้นมาลพบุรี แต่ฝ่ายพระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวตะวันตก รู้การเคลื่อนไหวของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ จึงชิงส่งทหารเข้าล้อมวังอย่างเงียบ ๆ และปลอมหมายรับสั่งเรียกเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไปเข้าเฝ้า เจ้าพระยาเชื้อชาติกรีกก็เข้าวังไปอย่างมั่นใจ โดยมีทั้งทหารฝรั่งเศสและอังกฤษเป็นองครักษ์ แต่เสียท่าตอนจะเข้าวังต้องปลดอาวุธตามทำเนียม ฉะนั้นพอเจ้าพระยาวิชเยนทร์ผ่านประตูเข้าไปก็ถูกทหารไทยล้อมจับ ทหารอังกฤษและฝรั่งเศสต่างหนีเอาตัวรอด เจ้าพระยาวิชเยนทร์เลยถูกนำตัวไปหลักประหาร
สมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบที่พระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์สองพ่อลูกคิดกบฏ แต่อาการประชวรของพระองค์ก็คงจะมีพระชนม์ชีพได้ไม่เกิน ๓ วัน สิ่งที่พระองค์ทรงเป็นห่วงอย่างยิ่งในขณะนั้นก็คือ ชีวิตของบรรดาข้าราชบริพารที่เฝ้ารับใช้พระองค์อยู่ จะไม่มีใครได้รอดชีวิต เพราะความโหดอำมหิตของสองพ่อลูก จึงมีรับสั่งให้อาราธนาพระราชาคณะเข้ามาประมาณ ๒๐ รูป แล้วดำรัสให้นำข้าราชบริพารทั้ง ๑๕ คนออกไปอุปสมบท หวังจะให้เอาผ้าเหลืองคุ้มชีวิต
แต่พระราชาคณะทั้งหลายถวายพระพรว่า การจะนำคนเหล่านี้ออกไปจากวังนั้น ทหารที่เฝ้าอย่างแน่นหนาคงไม่ให้ออกไปแน่ ที่เข้ามาได้นี้ก็เพราะเป็นพระสงฆ์ ทรงสลดพระทัยที่ต้องตกอยู่ในความควบคุมของสองพ่อลูกกบฏ จึงมีพระราชดำรัสให้ทำพิธีอุปสมบทคนเหล่านี้ในพระมหาปราสาทเสียเลย แล้วห่มผ้าเหลืองออกไป พระราชาคณะก็ถวายพระพรว่า พิธีอุปสมบทจะทำได้ก็แต่ในเขตวิสุงคามเสมาเท่านั้น ทั้งยังถวายคำแนะนำว่า ถ้าพระองค์จะมีพระราชอุทิศพระมหาปราสาทถวายเป็นวิสุงคามสีมาแล้ว ก็จะทำพิธีอุปสมบท ณ ที่นี้ได้ สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงทำตามที่พระราชาคณะทูล อุทิศถวายพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นวิสุงคามสีมา พระราชาคณะจึงทำพิธีอุปสมบทข้าราชบริพารทั้งหลายเป็นพระภิกษุสงฆ์ แล้วนำออกจากวังเป็นขบวนไปวัด รอดชีวิตกันได้ทุกคน
เหลือแต่พระปีย์ที่จะขออยู่รับใช้เบื้องยุคลบาทตลอดไป แม้สมเด็จพระนารายณ์จะรับสั่งให้หนี พระปีย์ก็ไม่ยอมไป ทรงคาดการณ์ได้ดีจึงรับสั่งว่า "งั้นมึงก็ตายพร้อมกูแหละอ้ายเตี้ย"
และแล้วก็เป็นไปตามที่ทรงคาด เช้าต่อมาพระปีย์ออกไปล้างหน้าบ้วนปากที่ระเบียง คนของขุนหลวงสรศักดิ์แอบซุ่มอยู่จึงผลักตกจากระเบียง พระปีย์ร้องขึ้นว่า "ทูลกระหม่อมช่วยลูกด้วย" สมเด็จพระนารายณ์ได้ยินก็ทรงคว้าพระแสงปืน ชันพระกายจะลุกขึ้นยิงคนที่ทำร้ายพระปีย์ แต่ไม่มีพระกำลัง ทรงทรุดลงสิ้นพระชนม์อย่างโดดเดี่ยวเพียงพระองค์เดียว
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคตใน พ.ศ. ๒๒๓๑ เป็นเวลาถึง ๓๒๖ ปีมาแล้ว แต่คนไทยเรามีความกตัญญูรู้คุณอยู่ในสายเลือด สำนึกในคุณงามความดีของคนที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในสถานะใดของสังคม ถ้าผู้มีบทบาทในบ้านเมืองทุกวันนี้ จะคำนึงถึงบันทึกของประวัติศาสตร์ไว้บ้าง ก็จะทำให้คนรุ่นหลังสรรเสริญกราบไหว้ แทนการสาปแช่ง.......
ข้อมูล : เรื่องเก่าเล่าสนุก / all-magazine.com
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
"นาทีสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช"ความชาญฉลาดครั้งสุดท้ายของพระองค์
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?