ผู้เขียน หัวข้อ: วัดเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพุทธศาสนา  (อ่าน 4223 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923


วัดเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพุทธศาสนา จุดกำเนิด"มาฆบูชา"

กรุงราชคฤห์ อินเดีย-เมืองโบราณครั้งพุทธกาล ในพระราชอุทยานสวนป่าไผ่ร่มรื่น วันนี้ต้นไผ่หลายกอถูกตัดออกไปบ้างแล้ว เพื่อมิให้เป็นที่อยู่ของ รังผึ้ง ที่ออกจากรังเป็นอันตรายต่อผู้เข้าไปกราบไหว้สักการะ ด้วยกลิ่นควันธูป ผ่านประตูวัดเข้าไปในด้านซ้ายมือ ที่เคยเป็น "พระมูลคันธกุฎี" ของพระพุทธเจ้านั้น ปัจจุบันเป็นเนินดิน แต่ยังไม่ได้ทำการขุดค้น เนื่องจากมีกุโบร์ของชาวมุสลิมสร้างทับไว้ข้างบนเนินดิน จึงยังดูรกร้างอยู่ในป่าไผ่

ผู้แสวงบุญนิยมไปยัง "ลานจาตุรงคสันนิบาต" อันเป็นลานเล็กๆ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่กลางซุ้ม ลานนี้สันนิษฐานว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในวันมาฆบูชา พระสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป หลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน

ปัจจุบันลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป เป็นลานกว้างลานเดียวในบริเวณวัดที่ไม่มีโบราณสถานอื่นตั้งอยู่ โดยนำพระพุทธรูปยืนปางประทานพรไปประดิษฐานไว้บริเวณซุ้มเล็กๆ กลางลาน ที่ลานนี้ พระมหาน้อย (ดร.พระมหาปรีชา กตปุญโญ) พระธรรมทูตอาสาแห่งวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย และเป็นพระธรรมวิทยากรนำบรรยายเกี่ยวกับพุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล นำคณะจาริกบุญไทยเข้าสวดมนต์ภาวนาที่วัดเวฬุวันมหาวิหารนี้

ในสมัยพุทธกาล สวนป่าไผ่สถานที่อยู่ของกระรอก กระแต นั้น พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แคว้นมคธ ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ถวายพระราชอุทยานให้เป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ไว้จากทางการอินเดีย อยู่ที่กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย เมืองบาป เมืองที่ถูกทิ้งร้างไป ด้วยเหตุแห่งปิตุฆาต หลายชั่วอายุคน

พระถังซำจั๋ง หรือหลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) บันทึกไว้ว่า "เมืองราชคฤห์อยู่ในสภาพปรักหักพัง แต่ยังทันได้เห็นมูลคันธกุฎีวัดเวฬุวันปรากฏอยู่ และยังคงมีพระภิกษุหลายรูปช่วยกันดูแลรักษาปัดกวาดอยู่เป็นประจำ?

"ลานจาตุรงคสันนิบาต" ซุ้มพระพุทธรูปกลางลานนี้ เป็นจุด ๑ ใน ๒ แห่งของกรุงราชคฤห์ ที่ผู้แสวงบุญนิยมไปสักการะ 1 ใน 2 แห่งของกรุงราชคฤห์ อีกจุดหนึ่งคือ พระมูลคันธกุฎี บนยอดเขาคิชฌกูฏ

เขตเมืองโบราณของกรุงราชคฤห์ ยังคึกคักไปด้วยผู้คนชาวอินเดียที่ยังยากจน ก่อนเข้าเมือง ดงตาล ที่พักก่อนเข้าเมืองของพระพุทธเจ้า ยังคงมีให้เห็น แม้จะผ่านไปแล้วนับพันปี ร่องรอยของการเผยแผ่พุทธศานายังคงปรากฏให้เห็น รำลึกถึงได้ ท่ามกลางชาวฮินดูและมุสลิม ที่มีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกัน

?รถม้ากรุงราชคฤห์? ดูจะเป็นจุดเด่นสุดของเมืองนี้ ม้าที่ถูกปิดหูปิดตา ถูกถุงกระสอบ ?สวมครอบปาก? ให้กินโดยไม่รู้ว่า อาหารที่กินนั้นคืออะไร เพราะไม่เคยเห็น ถุงนี้จะห้อยแขวนอยู่ด้านหลังของรถม้า รถม้าที่บรรทุกได้ไม่จำกัดจำนวนให้ ?ม้าอินเดีย? ลากไปอย่างเต็มกำลัง จนทำให้ผู้พบเห็นต้องภาวนาว่า ?อย่าให้เกิดเป็นม้ากรุงราชคฤห์? นี้เลย ผู้พบเห็นเกิดสังเวช ก็จะเรียกว่า ?ม้าขมขื่น? บรรทุกกันอย่างเต็มที่จนล้นตัวรถม้า

ทั่วทั้งเมืองเดินทางกันด้วย ?รถม้าขมขื่น? นี้ ที่ตกแต่งกันสวยงาม และสังเกตดูเริ่มมีรถเครื่องที่แน่นขนัด มาทดแทนรถม้า ให้เห็นบ้างตามเส้นทางบางโอกาส

เช่นเดียวกัน ที่หน้าวัด เต็มไปด้วยขอทาน ตัวเล็กๆ ที่อุ้มน้องมาด้วยอีกคน

ท่ามกลางสภาพเช่นนี้ วัดเวฬุวัน ยังคงเงียบสงัด สงบ และสว่างในจิตใจของชาวพุทธ ที่เดินทางมาเยือนจากทั่วโลก ทั้งพระชาวจีน พระชาวเกาหลี พระจากทิเบต และชาวอินเดียที่นับถือพุทธ รวมถึงอุบาสก-อุบาสิกาไทย ที่เดินทางกันมาที่วัดแรกของพระพุทธศาสนานี้กันอย่างไม่ขาดสาย ศรัทธายังแน่นแฟ้นมากว่า ๒,๐๐๐ ปี

ที่มา  :  komchadluek.net